๒๐ กันยายน ๒๕๖๗

โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่า บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ตำบลหาดขาม อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์


ที่มาของการต่อยอดโครงการ : สืบเนื่องมาจากปัญหาวิกฤตการณ์ด้าน ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่า ประสบปัญหา ความเสื่อมโทรมสาเหตุจากความต้องการที่ทำกิน และความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของราษฎรที่ได้บุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ในเขตของป่าสงวนแห่งชาติ ป่ากุยบุรี ในเขตพื้นที่ อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ ๕๙๖,๗๘๕ ไร่ เพื่อทำการเกษตรตลอดจนการล่าสัตว์ป่าเพื่อเป็นอาหาร รวมทั้งการบุกรุกพื้นที่เพื่อปลูกสับปะรดในพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของสัตว์ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะช้างป่า ซึ่งมีประชากรจำนวนในขณะนั้น ๑๑๕ ตัว (จำนวน ๒ โขลง)

เมื่อแหล่งอาหารในฤดูแล้งลดลง โขลงช้างป่าดังกล่าวได้ลงมาบุกรุกพื้นที่ทำกิน และกินพืชไร่สับปะรด จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตเกือบทุกปี และก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างคนกับช้างขึ้นปัญหาได้ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ นับตั้งแต่ช่วงต้นปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา ช้างป่าได้ถูกราษฎรทำร้ายจนถึงขั้นบาดเจ็บและเสียชีวิตแล้วหลายตัว

จากเหตุการณ์ดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้พระราชทานพระราชดำริ เพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ ให้กับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นลำดับ โดยมีประเด็นสำคัญคือ

- ให้ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าโดยใช้รูปแบบเดียวกับโครงการศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

- ช้างป่าควรอยู่ในป่า แต่จะต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารเพียงพอ โดยปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารช้างหลายๆ แห่งในป่าลึก ด้วยวิธีให้ทหารนำติดตัวไปในขณะลาดตระเวนหรือโปรยหว่านทางอากาศ

 - กรณีช้างป่าออกมาที่ชายป่า จะต้องให้ความปลอดภัยกับช้างป่า

 - จัดทำ CHECK DAM ในพื้นที่ซึ่งเหมาะสมเพื่อสนองแนวพระราชดำริ ภาครัฐ, ภาคเอกชน,องค์กรและราษฎร จึงได้ร่วมกันดำเนินงานให้บรรลุตามแนวพระราชดำริ “โครงการอนุรักษ์ และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่ากุยบุรีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” จึงถือกำเนิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นต้นมา

วัตถุประสงค์โครงการ

- ประสานการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้การดำเนินการ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

- ประสานแก้ไขปัญหาและป้องกันการบุกรุกที่ดินทำกิน รวมทั้งแก้ไขปัญหาเรื่องการเช่าที่ดินของราษฎรในพื้นที่โครงการ

- ประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในพื้นที่โครงการและบุคคลทั่วไป ได้รับทราบวัตถุประสงค์ และประโยชน์ของโครงการ

- ปฏิบัติงานอื่นๆ ตามที่ประธานคณะอนุกรรมการดำเนินงาน มอบหมาย

- อาณาเขตพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ หมู่ ๗ บ้านรวมไทย, บ้านหมู่ ๘ บ้านพุบอน และหมู่ ๙ บ้านย่านซื่อ มีพื้นที่รับผิดชอบโครงการอนุรักษ์รวมทั้งสิ้น ๑๒๗,๔๘๗ ไร่

ผลการดำเนินการ

ด้านการอำนวยการและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดิน

- ขอใช้พื้นที่จากองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเช่ามาจากกรมป่าไม้จำนวน ๓,๕๐๐ ไร่ และพื้นที่ป่า สงวนกุยบุรีจำนวน ๑๕,๑๗๕ ไร่ รวม ๑๘,๖๗๕ ไร่ ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่ได้ให้ความร่วมมือในการอพยพออกจากพื้นที่เป็นอย่างดีในปัจจุบันไม่มีปัญหาการบุกรุกขอราษฎรในพื้นที่โครงการ รวมทั้งได้มีการจัดตั้งชุดเจ้าหน้าที่ป้องกันการบุกรุกพื้นที่โครงการ โดยจัดตั้งจุดตรวจร่วมกับทหารและเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี

- การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้แก่ราษฎรในพื้นที่โครงการ และบุคคลทั่วไป ตลอดจนสื่อมวลชนเพื่อให้มีความเข้าใจ และให้ความร่วมมือในการสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการเป็นอย่างดี รวมทั้งปลูกจิตสำนึกให้มีความหวงแหนในทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า โดยการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ในด้านต่างๆ ได้แก่ สื่อวิทยุกระจายเสียง การเผยแพร่สารคดีทาง โทรทัศน์ การใช้สื่อสิ่งพิมพ์ เอกสารและข้อมูลข่าวสาร ให้แก่หนังสือพิมพ์ รวมทั้งการจัดทำ Website เผยแพร่งานโครงการทาง Internet

ด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำตามแนวพระราชดำริ

- จัดทำแผนที่ทางกายภาพ ระวาง ๑:๔๐๐๐ เพื่อกำหนดขอบเขตของโครงการให้ชัดเจน รวมทั้งการจัดทำฝายเก็บกักน้ำขนาดเล็กและดำเนินการขยายพันธุ์หญ้าแฝกและปลูกหญ้าแฝกจำนวน ๑๐,๐๐๐ ต้น

- ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เพื่อใช้ประโยชน์ในการฟื้นฟูรักษาป่า และ เป็นแหล่งน้ำให้สัตว์ป่า

ด้านการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์

- ปลูกป่าในพื้นที่เร่งด่วน จำนวน ๑๗๕ ไร่ โดยใช้พันธุ์ไม้ขนาด ๑ เมตร จำนวน ๓๐ ชนิด และปลูกป่าในพื้นที่ ๑,๕๐๐ ไร่ โดยใช้พันธุ์ไม้ขนาด ๕๐ เซนติเมตร จำนวน ๒๐ ชนิด รวมทั้ง การป้องกันและ

ควบคุมไฟป่า

 - ดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนในหมู่บ้านพุบอน ย่านซื่อ และบ้านรวมไทย โดยการส่งเสริมการฝึกอบรมให้แก่ราษฎรในพื้นที่โครงการ ให้สามารถมีอาชีพและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ด้านการอนุรักษ์และป้องกันสัตว์ป่า สำรวจข้อมูลในด้านต่างๆ เกี่ยวกับพฤติกรรมของช้าง

- เชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์เพื่อขอข้อมูลจากชาวบ้าน

- เชิงปริมาณ โดยการเก็บสถิติการออกมาหากินของช้างนอกพื้นที่ป่า

การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ

- ฝึกอบรมให้ความรู้ระบบนิเวศน์ (เกษตรยั่งยืน) ด้านการอนุรักษ์ดินและน้ำ ทรัพยากรป่าไม้

- ส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก สาธิตและให้ความรู้ในการทำปุ๋ยหมักแก่เกษตรกร

- ส่งเสริมและเพิ่มผลผลิตปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยพันธุ์ปลา

- ส่งเสริมการปลูกหญ้าแฝก โดยให้ความรู้แก่เกษตรกร และเพาะพันธุ์หญ้าแฝกลงถุงนำไปปลูกในพื้นที่ที่มีปัญหาการชะล้างพังทลายของดินการดำเนินงานอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรีตามแนวพระราชดำริเป็นการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าให้สมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้สัตว์ป่ามีแหล่งน้ำและอาหารเพียงพอสำหรับการดำเนินชีวิต นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาทัศนคติและปลูกฝังให้ราษฎรมีจิตสำนึกในการร่วมอนุรักษ์ป่าไม้และสัตว์ป่า ตลอดจนการส่งเสริมพัฒนาอาชีพ เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่รอบโครงการมีฐานะความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นซึ่งแสดงให้เห็นว่า น้ำพระทัยอันประเสริฐของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้มีเพียงแต่ช่วยปัดเป่าความทุกข์ยากของพสกนิกรของพระองค์เท่านั้น หากยังได้เผื่อแผ่ต่อสัตว์ป่า ต่างๆ เพื่อให้พ้นจากการถูกทำร้าย และสามารถอยู่อย่างปกติสุขได้ตลอดไป



ติดต่อสถานี
-

สำนักงานสถานีเกษตร
โทร : -

สำหรับจองที่พัก
โทร : -

ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว
โทร : -