๒๐ กันยายน ๒๕๖๗

โครงการหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๑๐

หมู่ ๑๐ ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

จากการที่พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ได้ยุติ การต่อสู้ด้วยอาวุธและสลายกองทัพออกมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ตามข้อตกลงในการลงนามสัญญาสันติภาพ ๓ ฝ่าย เมื่อ ๒ ธันวาคม ๒๕๓๒ กองทัพภาคที่ ๔ โดย กองพลทหารราบที่ ๕ ได้จัดทำโครงการ รับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เพื่อรองรับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย โดยมีระยะเวลาของโครงการ ๖ ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๓๓ – ปีงบประมาณ ๒๕๓๘ โดยจัดตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้น ๔ หมู่บ้าน เรียกว่า หมู่บ้านรัตนกิตติ ๑,๒,๓, และ ๔ ตามลำดับ

ต่อมาศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ทรงมีพระประสงค์จะทำการพัฒนาโครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม และชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี และ นราธิวาส เพื่อให้เกิดความมั่นคงในพื้นที่ตามแนวชายแดน จึงทรงโปรดรับหมู่บ้านรัตนกิตติ ๒ ปัจจุบันตั้งอยู่หมู่ที่ ๑๐ ตำบลอัยเยอร์เวง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เข้าร่วมโครงการของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์และทรงพระราชทานชื่อหมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๑๐ เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๓๖

วัตถุประสงค์โครงการ :

  • เพื่อให้ราษฎรได้รับการส่งเสริม และพัฒนาอาชีพให้มีรายได้ที่มั่นคงและใช้วิชาเกษตรในการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 
  • เพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดในโครงการ
  • เพื่อปลูกฝังให้ราษฎรในโครงการรักที่อยู่ อาศัยและไม่บุกรุกทำลายป่า 
  • จัดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยวางแผน รวมจุดขายของแหล่งท่องเที่ยว 
  • เพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาพืชสมุนไพร และพืชหายากเพื่อสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ 
  • เตรียมการจัดตั้งเป็นหมู่บ้านต่อสู้ เบ็ดเสร็จ

อาณาเขตพื้นที่ : มีพื้นที่ ๑๑,๒๕๐ ไร่ ลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาและป่าทึบ อากาศชื้นมีฝนตกเกือบตลอดปี กลางคืน อากาศเย็น ระยะทางจากหมู่บ้าน ถึง อำเภอเบตง ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร แยกเป็นหมู่บ้านตามประกาศ จังหวัดยะลา เมื่อ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๘ มีอาณาเขต ดังนี้ 

ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่บ้านอัยเยอร์ควีน

ทิศใต้ ติดต่อกับ ควนกะปะ

ทิศตะวันออก ติดต่อกับ สวนป่า พระนามาภิไธยภาคใต้ 

ทิศตะวันตก ติดต่อกับ คลองบูบอ

ผลการดำเนินการ :

  • ปัจจุบันมีราษฎร ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ โครงการ จำนวน ๘๗ ครัวเรือน มีประชากร เป็นชายจำนวน ๙๘ คน และหญิง จำนวน ๙๗ คน รวม ๑๙๕ คน 
  • มีการประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยมีรายได้สูงสุด/ครอบครัว/ปี ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ – ๑๕๐,๐๐๐ บาท และรายได้ต่ำสุด/ ครอบครัว/ปีประมาณ ๙๐,๐๐๐-๑๐๐,๐๐๐ บาท

   


ติดต่อสถานี
-

สำนักงานสถานีเกษตร
โทร : -

สำหรับจองที่พัก
โทร : -

ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว
โทร : -