๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

โครงการหมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๙

หมู่ ๙ ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

จากการที่พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา ได้ยุติการ ต่อสู้ด้วยอาวุธและสลายกองทัพมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ตามข้อตกลงนามสัญญาสันติภาพ ๓ ฝ่าย (รัฐบาลไทย/รัฐบาลประเทศมาเลเซีย/พรรคคอมมิวนิสต์มาลายา) เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๓๒ ณ โรงแรมลีการ์เดนส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กองทัพภาคที่ ๔ โดยพลทหารราบที่ ๕ ได้จัดทำโครงการรับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยขึ้นเพื่อรองรับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย โดยมีระยะเวลาโครงการ ๖ ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๓๓ – ๒๕๓๘ โดยจัดตั้งเป็นหมู่บ้านขึ้นมา เรียกว่า “หมู่บ้านรัตนกิตติ ๑, ๒, ๓ และ ๔” ตามลำดับ

ต่อมาศาสตราจารย์ดอกเตอร์สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ทรงมี พระราชประสงค์จะทำการพัฒนา โครงการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส เพื่อให้เกิดความมั่นคงภายในพื้นที่แนวชายแดนจึงได้โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมทรงรับหมู่บ้าน“รัตนกิตติ ๑”เป็นหมู่บ้านจุฬาภรณ์ ๙ เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๓๕ พื้นที่ทั้งหมด ๒,๗๗๕ ไร่ จัดสรรที่ทำกินครอบครัวละ ๑๕ ไร่ มีจำนวน ๑๓๕ ราย

วัตถุประสงค์โครงการ :

  • ส่งเสริมอาชีพของราษฎรให้มีฐานะ ความเป็นอยู่ที่มั่นคง 
  • จัดระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการ พัฒนาในโอกาสต่อไป 
  • ส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ทรัพยากรและ สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ 
  • เพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาพืชสมุนไพร
  • เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใน อนาคต 
  • เตรียมจัดตั้งเป็นหมู่บ้านต่อสู้เบ็ดเสร็จ

อาณาเขตพื้นที่ : โครงการตั้งอยู่ระหว่างรอยต่อ ๒ อำเภอ คืออำเภอธารโต และ อำเภอบันนังสตา มีอาณาเขตดังนี้ ทิศเหนือ ติดต่อกับโครงการจุฬาภรณ์พัฒนา ๗ ทิศใต้ ติดต่อกับสวนป่าพระนามาภิไธยภาคใต้ ทิศตะวันออก ติดต่อกับ สวนป่า 

พระนามาภิไธยภาคใต้ ทิศตะวันตก ติดต่อกับ สวนป่า พระนามาภิไธยภาคใต้

ลักษณะพื้นที่เป็นภูเขาและป่าทึบ อากาศชื้นมีฝนตกเกือบตลอดปี กลางคืนอากาศเย็น ระยะทาง จากหมู่บ้าน ถึงหน้าเขื่อนบางลาง ๔๗ กิโลเมตร ถึงอำเภอธารโต ๗๑ กิโลเมตร ถึง จังหวัดยะลา ๙๔ กิโลเมตร ถนนลาดยางตลอด มีถนนภายในหมู่บ้านชำรุดระยะทาง ๗ กิโลเมตร หมู่บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา ๙ ได้แยกหมู่บ้านจากหมู่ ๖ เป็นหมู่ ๙ ตำบลแม่หวาด อำเภอธารโต จังหวัดยะลา เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖

ผลการดำเนินการ :

  • ปัจจุบันมีราษฎร ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ โครงการ ๒๘๗ คน (เป็นชายจำนวน ๑๕๕ คน และ หญิง จำนวน ๑๓๒ คน) 
  • มีการประกอบอาชีพทำสวนและรับจ้าง ทั่วไป โดยมีรายได้สูงสุด/ครอบครัว/ปี ประมาณ ๑๒๐,๐๐๐ – ๑๘๐,๐๐๐ บาท และรายได้ต่ำสุด/ครอบครัว/ปี ประมาณ ๖๐,๐๐๐ – ๑๐๒,๐๐๐ บาท 


ติดต่อสถานี
-

สำนักงานสถานีเกษตร
โทร : -

สำหรับจองที่พัก
โทร : -

ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว
โทร : -