๒๐ กันยายน ๒๕๖๗

โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูงตามพระราชดำริ บ้านเสาแดง

บ้านเสาแดง หมู่ ๗ ตำบลแจ่มหลวง อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปยังบริเวณบ้านเสาแดง หมู่ ๗ ตำบลแจ่มหลวง อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่ ทรงเยี่ยมราษฎรพร้อมทั้งทอดพระเนตรสภาพพื้นที่และการใช้ประโยชน์ที่ดินสภาพโดยทั่วไปของพื้นที่ป่าแห่งนี้เป็นป่าดิบเขาที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้ต่างๆ อาทิ สนสามใบ กอทะโล้ ส่วนสัตว์ป่าที่พบได้แก่ ไก่ฟ้า เก้ง หมูป่า นอกจากนี้ยังเป็นป่าต้นน้าลำธารที่สำคัญของลุ่มน้ำแม่แจ่ม มีภูเขาสลับซับซ้อน ไหล่เขาสูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๒๓๐ เมตร โดยเป็นพื้นที่ทุรกันดารมากรวมทั้งมีสภาพอากาศที่หนาวเย็น ปัจจุบันมีราษฎรตั้งบ้านเรือนอยู่บนเชิงเขาลดหลั่นกันลงมา จำนวน ๒ หมู่บ้าน คือ บ้านเสาแดง มีประชากร ๔๔๓ คน ๖๘ ครัวเรือน เป็นชนเผ่าลีซอ และบ้านห้วยเขียดแห้ง มีประชากร ๕๐๐ คน ๖๖ หลังคาเรือน เป็นชนเผ่ากะเหรี่ยง มีพื้นที่ทำกินรวม ๖,๐๐๐ ไร่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ ปลูกพืชผักสวนครัวและเลี้ยงสัตว์ แต่ละครอบครัวมีฐานะยากจน โดยมีรายได้จากการจำหน่ายสัตว์เลี้ยงเฉลี่ยคนละ ๓,๐๐๐ บาท/ปี เนื่องจากพื้นที่บ้านเสาแดงแห่งนี้เคยมีการผลิตยาเสพติด จนทำให้เกิดปัญหาไม่ได้รับเข้าไปพัฒนาจาก หน่วยงานต่างๆ ทั้งในด้านปัจจัยพื้นฐาน อาทิ ด้านการศึกษา และสาธารณูปโภค ซึ่งขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และยังไม่มีระบบน้ำเพื่อการเกษตรกรรม อีกทั้งเส้นทางคมนาคม ไม่สะดวกโดยเฉพาะช่วงฤดูฝน แต่ปัจจุบันทางการเข้าปราบปราม ยาเสพติดจนได้รับธงเหลืองแสดงเป็นเขตปลอดยาเสพติดแล้ว นอกจากนี้ยังมีปัญหาการประกอบอาชีพทั้งในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตร ชาวบ้านในพื้นที่ขาดความรู้ในการทำเกษตรกรรมอย่างถูกวิธี เนื่องจากเดิมปลูกพืชเฉพาะพืชเสพติดและทำไร่หมุนเวียน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ลดลง ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรไม่เพียงพอต่อการยังชีพโดยเฉพาะข้าว ดังนั้นหลังจากฤดูการเก็บเกี่ยวแล้ว ราษฎรวัยหนุ่มสาวจึงละทิ้งที่อยู่ไปทำงานรับจ้างต่างถิ่น ทำให้หมู่บ้านเหลือแต่เด็กกับผู้สูงอายุเท่านั้น ในการนี้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ราษฎรทั้ง ๒ หมู่บ้านเข้าเฝ้าฯ เพื่อทรงซักถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ และการประกอบอาชีพของราษฎรจากปัญหาดังกล่าว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงได้มีพระราชเสาวนีย์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดตั้งสถานีพัฒนาการเกษตรบนพื้นที่สูง ณ บริเวณดอยขุนห้วยยา บ้านเสาแดง เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของราษฎรเหล่านี้ เพื่อให้ได้รับการพัฒนา คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในลักษณะการดำเนินงานเป็นแปลงสาธิตการทำเกษตรแบบครบวงจร เพื่อเป็นแหล่งให้ความรู้เกี่ยวกับวิธีการทำเกษตรที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้ราษฎรรู้จักใช้พื้นที่ที่อยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดและได้ผลผลิตพอเลี้ยงครอบครัว โดยมีพระราชเสาวนีย์ให้ราษฎรทั้ง ๒ หมู่บ้าน จัดตั้งธนาคารข้าว รวมทั้งส่งเสริมให้เลี้ยงปลาเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนตลอดจนจะมีการส่งเสริมอาชีพหัตถกรรมพื้นบ้าน เช่น ทอผ้า ทำเครื่องเงิน ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ราษฎรมีรายได้แน่นอนและต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อแต่ละครอบครัวมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ชุมชนจะมีความเข้มแข็ง และจะสามารถร่วมกันพัฒนาทรัพยากรป่าไม้บริเวณดอยขุนห้วยยา บ้านเสาแดง ให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น อีกทั้งจะได้ร่วมกันสกัดกั้นการแพร่ระบาดของยาเสพติดตามแนวชายแดนอีกด้วย เนื่องจากการดำเนินงานสนองพระราชดำริดังกล่าว ข้างต้น จะต้องมีการดำเนินงานด้านมวลชน ได้แก่ งานด้านการคุ้มครองป้องกันชุมชน และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติ งานในพื้นที่ ตลอดจนการปฏิบัติการจิตวิทยาสร้าง ความรู้ความเข้าใจ และการปลูกจิตสำนึกแก่ราษฎรในพื้นที่อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง กองทัพภาคที่ ๓ จึงได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานร่วมในโครงการรับผิดชอบแผนงานประสานการคุ้มครองและป้องกันชุมชน โดยจัดเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเข้าปฏิบัติภารกิจประจำพื้นที่โครงการฯ

วัตถุประสงค์โครงการ :

- เพื่อสนับสนุนโดยการประสานงานและการ คุ้มครองป้องกันชุมชน ให้หน่วยงานร่วมโครงการฯ ตลอดจนราษฎรในโครงการฯ ให้สามารถดำเนินกิจกรรมให้เป็นไปตามแนวทางพระราชดำริ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ ซึ่งได้แก่ 

  • จัดตั้งสถานีทดลองเกษตรในที่สูง เพื่อใช้ พื้นที่ที่ถูกแผ้วถางแล้วมาทำประโยชน์ให้เกิดผลผลิตสูงสุด เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรที่เข้าร่วมโครงการฯ 
  • ฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรม ให้กลับคืน สภาพเป็นป่าที่สมบูรณ์ดังเดิม 
  • อนุรักษ์สภาพป่าไม้ และพันธุ์สัตว์ป่าที่ยัง มีเหลืออยู่ในพื้นที่ป่าโดยให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในลักษณะของการฝึกราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า
  • ฝึกอบรมเกษตรแบบครบวงจร เพื่อให้ ราษฎรเรียนรู้การใช้ที่ดินที่มีจำกัดให้เกิดผลผลิตที่เพียงพอต่อการเลี้ยงตนเองได้ รวมทั้งให้เรียนรู้การบริหารจัดการในการทำโครงการเกษตรปลอดสารเคมีและ ยาฆ่าแมลง เรียนรู้ด้านการตลาดด้วยการรวมกลุ่มในรูปแบบของสหกรณ์ การแปรรูปผลผลิตการเกษตร ให้เป็นเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อให้ได้มูลค่าเพิ่มขึ้น 
  • ช่วยให้ราษฎรมีงานทำและมีรายได้เพื่อ สนับสนุนรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาการว่างงาน การกระจายรายได้ไปสู่ราษฎรในชนบทที่ยังอยู่ใต้เส้นระดับยากจน และนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

- เพื่อลดปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่ ด้วยการเคลื่อนไหวในพื้นที่ การปฏิบัติการิตวิทยาการประชาสัมพันธ์ และการปลูกจิตสำนึกการ มีส่วนร่วม และสร้างความเข้มแข็งให้เกิดแก่ชุมชนในพื้นที่รับผิดชอบโดยเฉพาะงานการป้องกันและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของยาเสพติดจากภายนอกประเทศ

แผนผังโครงการ :


ผลการดำเนินการ :

- สถานภาพชุมชนร่วมโครงการฯ มีจำนวน ๒ หมู่บ้าน ๑๓๓ ครัวเรือน ๑๔๙ ครอบครัว

  • บ้านเสาแดง มีจำนวน ๖๐ ครัวเรือน จำนวน ๘๓ ครอบครัว รวม ๒๘๒ คน ชาย ๑๔๐ คน หญิง ๑๔๒ คน 
  • บ้านห้วยเขียดแห้ง จำนวน ๘๙ ครัวเรือน จำนวน ๘๖ ครอบครัว รวม ๔๒๖ คน ชาย ๑๙๘ คน หญิง ๒๒๘ คน 

- สถานภาพราษฎร มีจำนวน ๗๐๘ คน มี ๒ ชนเผ่า คือ เผ่าลีซอ และเผ่ากะเหรี่ยงเป็นชาย ๒๙๗ คน หญิง ๓๕๑ คน


ติดต่อสถานี
-

สำนักงานสถานีเกษตร
โทร : -

สำหรับจองที่พัก
โทร : -

ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว
โทร : -