๒๐ กันยายน ๒๕๖๗

ศูนย์การพัฒนาโนนดินแดง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

บ้านโนนดินแดง ตำบลโนนดินแดง อำเภอละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

ภายหลังจากที่ประเทศกัมพูชา ได้มีการ เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นลัทธิคอมมิวนิสต์ เมื่อปลายปี ๒๕๑๗ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จึงได้อาศัยประเทศกัมพูชาเป็นหลักอิง ทำให้การต่อสู้ด้วยอาวุธ ของ พคท. ในพื้นที่อีสานตอนล่างได้ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ อ.ละหานทราย จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดและขยายตัวของ พคท. พื้นที่แรกในพื้นที่อีสานตอนล่าง กองทัพภาคที่ ๒ จึงได้จัดตั้งกองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ๒๐๒๑ ขึ้น เพื่อระงับยับยั้งสถานการณ์ดังกล่าวซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหา ขณะนั้นใช้กำลังปราบปรามเป็น หลัก โดยเฉพาะในห้วงการก่อสร้างเส้นทาง สายละหานทราย - ตาพระยา เมื่อปี ๒๕๒๑ ซึ่งเป็นเส้นทางสายยุทธศาสตร์ที่สร้างขึ้น เพื่อเป็นการแบ่งแยก เขตงานของ ผกค. เขตงาน ๒๐๓ ด้าน อำเภอละหานทราย และเขตงาน ๒๐๕ ด้าน อำเภอเสิงสาง, อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ทำให้ได้รับการต่อต้านอย่างหนัก จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เจ้าหน้าที่ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต้องอพยพหลบหนี ไร้ที่อยู่อาศัยที่ทำกิน เกิดความอดอยากทุกข์ยาก ยิ่งกว่าพื้นที่ใดๆ ในขณะนั้น จากปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร อำเภอละหานทรายและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าว ความทราบถึงฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยความห่วงใยพสกนิกรที่ ทุกข์ยากเหล่านั้น พระองค์ทรงมีพระกระแสรับสั่งท่านผู้หญิง หม่อมราชวงศ์ สุประภาดาเกษมสันต์ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้เดินทางไปเยี่ยมราษฎรเพื่อหาทางช่วยเหลือพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงติดตามสถานการณ์ความเดือดร้อนของราษฎรในเวลาต่อมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๒๑ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระกระแสรับสั่ง ให้อธิบดีกรมชลประทาน และผู้บัญชาการทหารบก ในขณะนั้น (นายมนัส ปิติวงค์ และ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์) เข้าเฝ้าฯ เป็นการส่วนพระองค์ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานประสานงานกับกองทัพบกอย่างใกล้ชิดให้เร่งรัดทำการสำรวจออกแบบทำการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะนาว ที่หมู่บ้านโนนดินแดงให้แล้วเสร็จในปีเดียวกัน พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์จะช่วยเหลือแก้ไขปัญหาขั้นต้นให้ราษฎรได้ใช้ประโยชน์ของแหล่งน้ำ เพื่อประกอบอาชีพทำการเกษตรกรรมใกล้ๆหมู่บ้านเป็นการแก้ไขปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ไปก่อนเพราะการออกไปประกอบอาชีพไกลๆ นอกหมู่บ้านทำให้ราษฎรต้องบาดเจ็บล้มตายและได้รับภัยคุกคาม จากผู้รุกราน พระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะนาว นับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการแรกของภาคอีสานตอนล่าง

   

ภายหลังจากกรมชลประทาน และกองทัพบก ได้สนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรโดยออกแบบเสร็จและเริ่มทำการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองมะนาว ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๒๑ แล้วพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระกระแสรับสั่งกับแม่ทัพภาคที่ ๒ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ผู้บังคับหน่วยทหารในพื้นที่ ทรงแนะนำวิธีการพัฒนาแนวใหม่เป็นโครงการพัฒนาแบบเบ็ดเสร็จผสมผสานสมบูรณ์แบบ เพื่อเจ้าหน้าที่ทุกส่วนราชการระดมทรัพยากรเข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่เป้าหมายภายใต้แผนงานอันเดียวกัน กองทัพภาคที่ ๒ จึงสนองพระกระแสรับสั่งดังกล่าว การดำเนินการโดยได้จัดทำ เป็นโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงเฉพาะพื้นที่ อำเภอละหานทราย ขึ้น เป็นโครงการต่อเนื่อง ๔ ปี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๓ – ๒๕๒๖ เป็นการใช้การพัฒนาการทหาร ผลการดำเนินการสามารถระงับยับยั้งและยุติ การขยายตัวของ พคท. ในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งสามารถปิดเขตงานการเคลื่อนไหวบีบบังคับกองกำลังของ พคท. ละทิ้งพื้นที่ได้ทั้งหมด เมื่อสิ้นสุดระยะเวลา ตามโครงการจากนั้นได้ขยายผลไปพื้นที่ อเภอเสิงสาง, อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา จนสามารถปิดเขตงานของ พคท. ในพื้นที่ได้อย่างสิ้นเชิง และ จากแนวทางพระราชดำรินี้เองก็ได้เป็นต้นแบบของแผนยุทธศาสตร์พัฒนาที่ใช้ดำเนินการในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

แผนผังโครงการ :


ผลการดำเนินการ :

  • สมาชิกแปลงนาประณีต จำนวน ๑๔๒ ราย
  • สมาชิกแปลงผักนาใหม่ จำนวน ๙๑ ราย
  • สมาชิกปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จำนวน ๗๖ ราย รวมสมาชิก จำนวน ๓๐๙ ราย


ติดต่อสถานี
-

สำนักงานสถานีเกษตร
โทร : -

สำหรับจองที่พัก
โทร : -

ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว
โทร : -