๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านจาร

บ้านจาร หมู่ ๕ ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๖ คณะกรรรมการหมู่บ้าน ของบ้านจาร อ.บ้านม่วง ได้ประชุมหารือกันจะบริจาคที่ดินสาธารณะของหมู่บ้าน บริเวณหาดทรายงามประมาณ ๒๐๐ ไร่ ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๑.๕ กิโลเมตร จัดทำเป็นโครงการป่ารักน้ำถวายแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อเป็นการ แสดงออกถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๒๖ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรชาวบ้านจาร ทรงทราบถึงความสามัคคีพร้อมเพรียง และความเสียสละของราษฎรบ้านจารที่จะปลูกป่าถวาย จึงทรงรับราษฎรบ้านจาร เข้าเป็นสมาชิกโครงการส่งเสริมศิลปาชีพจำนวน ๒๐ คน ราษฎรบ้านจารมีความสำนึกในพระ มหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ จึงเกิดกำลังใจร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านและจัดตั้งกลุ่มอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้าไหม เพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน

   

เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๒๗ พันเอกเรวัต บุญทับ ได้รับพระราชเสาวนีย์ให้ไปติดตามให้ความ ช่วยเหลือราษฎร ที่เป็นสมาชิกโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านจาร ด้วยการจัดหาครูสอนทอผ้ามาสอนย้อมสีและสอนทอผ้ามัดหมี่ให้แก่สมาชิก พร้อมทั้งได้ไป ตรวจเยี่ยมโครงการป่ารักน้ำ ราษฎรบ้านจารได้ร้องขอความช่วยเหลือให้ ทางราชการจัดสร้างอ่าง เก็บนเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค บริโภคในหมู่บ้าน รวมทั้งขอให้ช่วยจัดหาแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตรให้พอเพียงด้วย พันเอกเรวัต บุญทับ

จึงได้ขอพระบรมราชานุญาตนำคณะกรรมการ หมู่บ้านจารเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ บริเวณเรือนคำหอม พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมชลประทานดำเนินการสร้างอ่างเก็บน้ำขึ้นที่ ห้วยวังแคน ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในขั้นต้น ในเวลาเดียวกัน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชเสาวนีย์ ให้ราษฎรบ้านจาร อีก ๔๐ ครอบครัว เข้าเฝ้าฯ และทรงรับไว้เป็นสมาชิก โครงการส่งเสริมศิลปาชีพ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๗ พันเอก เรวัต บุญทับ ได้ดำเนินการตาม พระราชเสาวนีย์ โดยจัดชุดครูเข้าไปอบรมการปลูก หม่อนเลี้ยงไหมให้แก่ราษฎรบ้านจารเป็นอันดับแรก ซึ่งราษฎรให้ความสนใจสมัครเป็นจำนวนมาก

เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๘ เวลา ๑๔๐๐ น. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรบ้านจารเป็น ครั้งที่ ๒ เสด็จทอดพระเนตรภายในหมู่บ้านจาร, สวนป่ารักน้ำ, อ่างเก็บน้ำห้วยวังแคน, สวนสมุนไพรและ แปลงปลูกพืชผักสวนครัวท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยวังแคนก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับทรงมีพระราชเสาวนีย์ให้ พันเอก เรวัต บุญทับ นำคณะกรรมการหมู่บ้านเข้าเฝ้าอีกวาระหนึ่ง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาหมู่บ้านจาร ทรงมีพระราชประสงค์อยากให้มีการฝึกอาชีพเพิ่มเติมให้แก่ราษฎรหลายอย่าง พร้อมทั้งได้ทรงมีพระเมตตาพระราชทานเงิน จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน) เพื่อใช้เป็นทุนเริ่มแรกสำหรับโครงการฝึกอาชีพให้กับราษฎร เพื่อให้ราษฎรบ้านจารไม่ต้องมีอาชีพต้มเกลือก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เมื่อเดือน เมษายน พ.ศ.๒๕๒๙ พันเอก เรวัต บุญทับได้จัดเจ้าหน้าที่จากกรมทหารราบที่ ๒๓ เข้ามาทำการสำรวจพื้นที่และประชุมราษฎรเพื่อขอทราบความเห็นว่า ราษฎรมีความถนัดที่จะฝึกอาชีพอะไร เพื่อจัดแบ่งกลุ่มอาชีพตามความต้องการของราษฎร และในขณะเดียวกันก็ได้ขอความร่วมมือกับราษฎรที่มีฝีมือในการช่างมาร่วมกับทหารทำการสร้างอาคารฝึกงานต่างๆ เช่น อาคารฝึกตัดเย็บเสื้อผ้า, ทอผ้าไหม, ทอผ้าด้วยกี่กระตุก, อาคารช่างปูน, ช่างไม้, ช่างตีเหล็ก และ อาคารแสดงผลิตภัณฑ์เป็นต้น ซึ่งราษฎรบ้านจารก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่งสามารถสร้างอาคารต่างๆ เสร็จภายในเวลา ๓ เดือน การดำเนินงานได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากชาวไทยในสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริจาคเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ(หนึ่งแสนดอลล่าร์) ผ่านมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยมีดร.ภรณี มหานนท์ เป็นผู้ติดต่อประสานงานและมีฝ่ายทหาร พันเอกเรวัต บุญทับ, พันโทชวรัตน์ รัตนประทีป,ร้อยเอกเถลิงศักดิ์ พูลสุวรรณ ได้จัดตั้งคณะทำงาน จัดสร้างโครงการส่งเสริมศิลปาชีพขึ้นที่บ้านจาร จัดหาครูฝึกอาชีพต่างๆ ให้แก่ราษฎรหลายอย่างอาทิ เช่น การสร้างห้องเลี้ยงไหม, ปลูกหม่อน, เลี้ยงไก่, เลี้ยงเป็ด, เลี้ยงสุกร, เลี้ยงปลา จัดตั้งธนาคารข้าว, ธนาคารกระบือ, ปลูกสมุนไพร, ปั้นโอ่ง, ตีเหล็ก, ทำเครื่องเรือน, ซ่อมจักรยานยนต์, เชื่อมโลหะ, ปลูกต้นไม้, ทำซีเมนต์บล็อก และสร้างบ้านให้แก่ราษฎรซึ่งเสียสละที่ดินสำหรับสร้างอ่างเก็บน้ำ ทางฝ่ายปกครองโดย นายพีระ บุญจริง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครในขณะนั้นได้ให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนดำเนินงานอย่างดียิ่ง โครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านจาร ตำบลม่วง อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร จึงเกิดขึ้นโดยพระราชดำริของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๙ เป็นต้นมา

อาณาเขตพื้นที่ : มีพื้นที่ จำนวน ๑๐๐ ไร่ ๒ งาน ๖๓ ตารางวาที่ดินได้มาโดยการทูลเกล้าถวาย จากราษฎรตามหลักฐานโฉนดที่ดิน โฉนดที่ดิน (น.ส.๔ จ.)

- เลขที่ ๑๓๒๓๘ เล่ม ๑๓๓ หน้า ๓๘ 

- เลขที่ ๑๓๒๓๙ เล่ม ๑๓๓ หน้า ๓๙ 

- เลขที่ ๑๓๒๔๐ เล่ม ๑๓๓ หน้า ๔๐ 

- เลขที่ ๑๓๒๔๑ เล่ม ๑๓๓ หน้า ๔๑ 

- เลขที่ ๑๓๒๔๒ เล่ม ๑๓๓ หน้า ๔๒

แผนผังโครงการ :

   

ผลการดำเนินการ :

ยุทธศาสตร์ของโครงการฯ บ้านจาร ๓ ยุทธศาสตร์ คือ 

- ยุทธศาสตร์ที่ ๑ การบริหารแบบมีส่วนร่วม ชุมชนเข้มแข็ง 

- ยุทธศาสตร์ที่ ๒ การพัฒนาฝีมือและผลิตภัณฑ์

- ยุทธศาสตร์ที่ ๓ ด้านการเกษตร

สมาชิกของโครงการฯ บ้านจาร และราษฎรในพื้นที่ อำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร

- สมาชิกทอผ้าไหม จำนวน ๒๘๔ คน

- สมาชิกเฟอร์นิเจอร์ จำนวน ๖ คน

- สมาชิกกลุ่มปักผ้า จำนวน ๗ คน

- สมาชิกกลุ่มตีเหล็ก จำนวน ๔ คน

- สมาชิกกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า จำนวน ๗ คน

- สมาชิกกลุ่มเลี้ยงโคพื้นเมือง จำนวน ๑๑ คน

- สมาชิกกลุ่มเลี้ยงกระบือ จำนวน ๖๒ คน


ติดต่อสถานี
-

สำนักงานสถานีเกษตร
โทร : -

สำหรับจองที่พัก
โทร : -

ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว
โทร : -