๒๐ กันยายน ๒๕๖๗

ศูนย์ศิลปาชีพบ้านห้วยเดื่อ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในพระบรมราชินูปถัมภ์

เลขที่ ๑๒๘/๒ ถนนขุนลุม ประพาส ตำบลจองคำ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

เมื่อวันที่๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ได้เสด็จฯทรงเยี่ยมราษฎรจังหวัดแม่ฮ่องสอน ณ ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปาย ในครั้งนั้นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทอดพระเนตรความเป็นอยู่ของราษฎรบ้านห้วยเดื่อ หมู่ ๓ ตำบลผาบ่อง ซึ่งมีฐานะยากจน มีพระราชประสงค์ให้ราษฎรมีงานศิลปาชีพเป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการส่งเสริมศิลปาชีพ แผน หม่อนไหม และทรงรับบุตรหลานของราษฎรที่มีความยากจนที่สุด เข้าไปฝึกอบรมงานศิลปาชีพแผนกทอผ้าไหม ณ กองศิลปาชีพ ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน กรุงเทพมหานครงานศิลปาชีพในจังหวัดแม่ฮ่องสอนได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้ขยายตัวและเจริญก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ จนถึงปัจจุบันการดำเนินงานศิลปาชีพของจังหวัด ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การสนับสนุนส่งเสริมงานศิลปาชีพของจังหวัด โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมีพัฒนาการจังหวัดเป็นเลขานุการคณะทำงานฯ และได้มีการจัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพ จังหวัดแม่ฮ่องสอนฯ สาขาอำเภอต่างๆ ขึ้น เพื่อประสานงานระหว่างราษฎรในพื้นที่กับศูนย์ศิลปาชีพ จังหวัดแม่ฮ่องสอนฯ โดยศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน จะมีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบภายในศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน จาก กรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์

วัตถุประสงค์โครงการ :

  • เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงานระหว่างกองศิลปาชีพ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง กับสมาชิกศิลปาชีพของศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน และศูนย์ศิลปาชีพสาขาอำเภอต่างๆ
  • เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรที่ยากจนมีอาชีพเสริมและมีรายได้เพิ่มขึ้น
  • เพื่อเป็นการอนุรักษ์งานด้านศิลปกรรมงานหัตถกรรมตลอดจนการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณี ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
  • เพื่อเป็นสถานที่สำหรับฝึกอบรมให้แก่สมาชิกกลุ่มศิลปาชีพในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  • เพื่อเป็นการส่งเสริมด้านการตลาดให้แก่สมาชิกกลุ่มศิลปาชีพ

ผลการดำเนินการ :

ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขึ้นโดยเฉพาะเพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมรับผิดชอบการส่งเสริมงานศิลปาชีพโดยตรงในรูปของคณะทำงาน โดยมีรองผู้ว่าราชการ จังหวัด ที่ได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าคณะทำงานและมีพัฒนาการจังหวัดเป็นเลขานุการ 

จัดตั้งศูนย์ศิลปาชีพสาขาประจำอำเภอ ๗ อำเภอ โดยมีกลุ่มศิลปาชีพปัจจุบัน จำนวน ๑๑๐ กลุ่ม สมาชิกจำนวน ๒,๔๒๓ คน เพื่อเป็นศูนย์แสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของกลุ่มศิลปาชีพ หรือเป็นสถานที่จัดประชุมกลุ่ม, ฝึกอาชีพ และเปิดรับสมาชิกที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการศิลปาชีพ เป็นประจำทุกปี

สนับสนุนเงินทุนพระราชทานของจังหวัด ให้แก่สมาชิกกลุ่มศิลปาชีพ นำไปเป็นทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ

สนับสนุน ส่งเสริม ให้มีการฝึกอบรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มาตรฐานและรูปแบบที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น

จัดหาตลาดรองรับ ให้แก่สมาชิกกลุ่มศิลปาชีพ ทั้งภายในและภายนอกจังหวัด เช่น จำหน่ายที่ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัด, ร้านศิลปาชีพสนามบิน และส่วนหนึ่งส่งไปจำหน่ายที่กองศิลปาชีพสวนจิตรลดา หรือนำไปจำหน่ายตามงานมหกรรมต่างๆ ที่หน่วยงานจัดขึ้น

จัดประกวดและแสดงผลงานศิลปาชีพและนำสมาชิกกลุ่มศิลปาชีพเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายในแต่ละปี เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๕ เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอนได้ให้การสนับสนุนงบประมาณจำนวน ๒๐,๘๐๕,๐๐๐ บาท เพื่อก่อสร้างอาคารใหม่เป็นอาคาร ๓ ชั้น ซึ่งภายในอาคารประกอบด้วย 

- ชั้นล่าง จัดเป็นลานจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซึ่งผลิตจากศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน และกลุ่มศิลปาชีพกลุ่มต่างๆ

- ชั้น ๒ ห้องทรงงาน และใช้เป็นสถานที่จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ์และคณะทำงานโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน

 - ชั้น ๓ พิพิธภัณฑ์ชนเผ่าต่างๆ ซึ่งนำเอาศิลปวัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

   


ติดต่อสถานี
-

สำนักงานสถานีเกษตร
โทร : -

สำหรับจองที่พัก
โทร : -

ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว
โทร : -