๒๐ กันยายน ๒๕๖๗

โครงการพัฒนาตามพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

แม่ฮ่องสอนเป็นจังหวัดชายแดน ติดกับสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพเมียนม่าร์ มีสภาพพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน มีพื้นที่ราบน้อย การคมนาคมไม่สะดวก ราษฎรที่อาศัยส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ ได้แก่ ม้ง, เย้า, มูเซอ, ลีซอ, กระเหรี่ยง, ละว้า(ลั้วะ), ไทยใหญ่ และจีนฮ่อ(กองพลที่ ๙๓ ของพรรคก๊กมินตั๋ง) อาชีพหลักทั่วไปของชนกลุ่มน้อยดังกล่าว คือ การทำไร่เลื่อนลอย การเลี้ยงสัตว์ หาของป่า รับจ้างขนยาเสพติด หรือรับจ้างขนเสบียงอาหาร ยุทธปัจจัยและอาวุธให้แก่กลุ่มขบถกู้ชาติต่างๆ ในพม่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงมีความห่วงใยราษฎรในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และความมั่นคงปลอดภัยของประเทศเป็นอันอย่างมากจึงได้มีพระราชดำริให้มีการพัฒนาอาชีพราษฎรในพื้นที่ดังกล่าว ให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น โดยเน้นหนักด้านการเกษตรมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การป้องกันการบุกรุกทำลายป่า การอนุรักษ์ป่า การปรับปรุงบำรุงดินและน้ำตลอดจนการพัฒนาจิตใจของราษฎรให้เกิดความสามัคคี และหวงแหนผืนแผ่นดินที่ตนอาศัยอยู่

ในการนี้กองทัพภาคที่ ๓, กองทัพภาคที่ ๑ (กรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์) ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวง ทบวงกรมต่างๆ ได้ดำเนินการสนองพระราชดำริในการพัฒนาอาชีพ และความเป็นอยู่ของราษฎรในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยจัดให้มีโครงการพัฒนาตามพระราชดำริขึ้น เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ หม่อมเจ้าจักรพันธ์ เพ็ญศิริ จักรพันธ์เป็นผู้ประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ

วัตถุประสงค์โครงการ :

เพื่อดำเนินการส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษสาขาต่างๆ ให้แก่ราษฎรในเขตท้องถิ่นที่ตั้งศูนย์ โดยการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านการทอผ้า และการฝีมือต่างๆ ให้เป็นไปตามความเหมาะสมแต่ละพื้นที่

เพื่อให้ราษฎรได้รับเทคโนโลยีการผลิตพืชและสัตว์ที่เหมาะสม ตลอดถึงพันธุ์พืชและสัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ จากศูนย์กลางการผลิตพืชและสัตว์

เพื่อพัฒนาที่ดินทำกินของราษฎรชนกลุ่มน้อย ให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำ และสิ่งสาธารณูปโภคสาธารณูปการที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิตรวมถึงการจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยแก่ราษฎร

เพื่อให้ราษฎรชนกลุ่มน้อยบรรเทาการปลูกฝิ่นลง และหันมาเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชอื่นทดแทน

เพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายป่าจากการทำไร่เลื่อนลอย และเพื่อสงวนป่าไม้ไว้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร

เพื่อพัฒนาทางด้านจิตใจของราษฎรให้มีความรักสามัคคีต่อกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันตลอดถึงมีความรักและหวงแหนในผืนแผ่นดินของตน

เพื่อสนับสนุนให้ราษฎร ได้รวมตัวกันในรูปสถาบันเกษตรกร หรือหมู่บ้านสหกรณ์

เพื่อเพิ่มพูนรายได้ และผลผลิตทางการเกษตรของราษฎรให้สูงขึ้น

อาณาเขตพื้นที่ : ลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบเล็กๆ ระหว่างหุบเขาซึ่งอยู่ริมฝั่งลำน้ำต่างๆ ได้แก่แม่น้ำปาย น้ำแม่สะงา น้ำแม่สะงี น้ำแม่ฮ่องสอน เป็นต้น พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าแม่ปายฝั่งขวาตอนล่าง) ซึ่งเป็นป่าเบญจพรรณ พื้นที่เกษตรกรรมมีอยู่ตามที่ราบริมฝั่งของแม่น้ำปายและลำน้ำสาขาประชาชนชนส่วนใหญ่เป็นชาวไทยใหญ่และกะเหรี่ยงประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการรับจ้างทั่วไปเส้นทางการคมนาคมทางรถยนต์ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๒๕๐ ซึ่งแยกจากทางหลวง แผ่นดินหมายเลข ๑๐๘ ประมาณ ๓ กิโลเมตร มีพื้นที่ของศูนย์ฯ ประมาณ ๔,๕๐๗ ไร่ ๑ งาน ๑๑ ตารางวา โดยแบ่งพื้นที่ในการพัฒนา คือ 

๑. พัฒนาและปรับปรุงระบบน้ำชลประทานให้ครบคลุมพื้นที่ ๑๖,๐๐๐ ไร่

๒. เพิ่มรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆ ที่นำมา

ใช้ในการเกษตร ให้ได้รับประโยชน์สูงสุด

๓. พัฒนาด้านการศึกษา การคมนาคม การสาธารณูปโภคต่างๆ

๔. การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เช่นป่าไม้แหล่งน้ำลำธาร สัตว์ป่า และความอุดมสมบูรณ์ของดิน

๕. พัฒนาระบบสหกรณ์ และจิตใจแก่ราษฎรให้มีความสามัคคี รู้จักป้องกันตนเองและหมู่คณะ

๖. พัฒนาและส่งเสริมศิลปาชีพสาขาต่างๆให้แก่ราษฎรเช่น หัตถกรรม ทอผ้าไหม แกะสลักเป็นต้นตามความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ เพื่อเป็นรายได้เสริมจากอาชีพการเกษตร

๗. ดำเนินการจัดสรรที่ดินให้แก่ราษฎรที่ยากจน

ผลการดำเนินการ :

- เพื่อดำเนินการสนองพระราชดำริในการพัฒนาอาชีพ และความเป็นอยู่ของราษฎรในจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยกองทัพภาคที่ ๑ รับผิดชอบในพื้นที่ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน บริเวณศูนย์ฯ ปางตอง, ศูนย์โป่งแดง, ศูนย์ฯ ห้วยมะเขือส้ม, ศูนย์ฯ ในสอยและศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน กองทัพภาคที่ ๓รับผิดชอบในเขตอำเภอปางมะผ้า และอำเภอขุนยวม

- ปัจจุบันแบ่งเป็นขั้นตอนในการดำเนินการดังนี้ (ปี ๒๕๒๖ – ๒๕๓๐) เป็นขั้นการจัดตั้งคณะทำงาน เพื่อเตรียมผลิตผลงานภายในศูนย์ออกไปสู่ราษฎร โดยหลังจากที่ฝ่ายทหารได้เข้าไปเตรียมพื้นที่และประสานให้หน่วยงานต่างๆ เข้าไปเลือกพื้นที่ของแต่ละหน่วยงานได้แล้วเพื่อให้การปฏิบัติงานในสาขาต่างๆ เป็นไปอย่างได้ผล จึงได้จัดตั้ง คณะทำงานชุดย่อยๆ ของศูนย์ฯ ต่างๆ ขึ้นเพื่อทำงานให้เป็นรูปธรรมและคล่องตัวยิ่งขึ้นโดยหน่วยงานต่างๆ จะใช้งบปกติ ทำการจัดตั้งสถานี หรือสำนักงานของตนเอง มีอาคารเรือนโรง,เจ้าหน้าที่คนงาน และกิจกรรมของหน่วยงาน เช่น หน่วยงานของกรมปศุสัตว์, กรมประมง, กรมพัฒนาที่ดิน, กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร และทรงมีพระราชดำริให้เปลี่ยนชื่อ เป็นศูนย์บริการและพัฒนา ซึ่งได้จัดตั้งคณะทำงานเป็นสามกลุ่ม คือ ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามพระราชดำริ และศูนย์บริการ และพัฒนาที่สูงปางตองตามพระราชดำริ และศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอนปี ๒๕๓๑ - ปัจจุบัน เป็นขั้นการขยายผลสู่ราษฎรโดยแต่ละหน่วยงานในแต่ละศูนย์จะผลิตผลงานด้านการปลูกพืช และการเลี้ยงสัตว์เพื่อส่งเสริมให้กับราษฎรในหมู่บ้านบริวารของศูนย์ต่างๆ เป็นอันดับแรก และขยายผลไปสู่อำเภอต่างๆ ตามความเร่งด่วนของทุกอำเภอ โดยในปัจจุบันมีศูนย์ฯปางตอง และศูนย์ฯ โป่งแดง เป็นฐานในการสนับสนุนที่สำคัญให้กับราษฎรในจังหวัดแม่ฮ่องสอน



ติดต่อสถานี
-

สำนักงานสถานีเกษตร
โทร : -

สำหรับจองที่พัก
โทร : -

ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว
โทร : -