๒๐ กันยายน ๒๕๖๗

โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ตำบลแก่งกระจาน ตำบลสองพี่น้อง ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี และตำบลหนองพลับ อำ


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

เมื่อคราวที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเสด็จฯ ที่เขื่อนแก่งกระจาน ได้รับสั่งให้ นาย ถนอม เปรมรัศมี อธิบดีกรมป่าไม้ เข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๒ ได้มีกระแสพระราชดำรัสว่า “เรื่องป่าต้นน้ำ ลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี ขอให้เจ้าหน้าที่ดูแลรักษา อย่าให้มีการลักลอบตัดไม้ ถางป่า ทำไร่ ในป่าไม้ต้นน้ำของเพชรบุรี เพราะจะทำให้เกิดความแห้งแล้ง แม้จะได้มีการให้สัมปทานป่าแปลงนี้ไปบ้างแล้ว ก็ขอให้เจ้าหน้าที่ตรวจดูแลการทำไม้ อย่าให้เป็นการทำลายป่าเกิดขึ้น” จากพระราชดำรัสดังกล่าว ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๒๒ ที่ให้รักษาป่าไว้โดยการประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติ

กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ ๔๕๒/๒๕๒๓ ลงวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๒๓ ให้ นาย สามารถ ม่วงไหมทอง นักวิชาการป่าไม้ ไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูลเบื้องต้นบริเวณพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร แม่น้ำเพชรบุรี เหนือเขื่อนแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตามหนังสือรายงานการสำรวจ ด่วนที่สุดที่ กส ๐๗๐๘/จช. ๖๗ ลงวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๒๓ รายงานว่า บริเวณป่าดังกล่าว เป็นป่าต้นน้ำลำธารของแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำปราณบุรี เป็นภูเขาสลับซับซ้อน สภาพป่าสมบูรณ์ มีทิวทัศน์สวยงามประกอบด้วยน้ำตก ถ้ำ หน้าผา ทะเลสาบ พันธุ์ไม้มีค่านานาชนิด เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าต่างๆ เช่นเลียงผา วัวแดง กระทิง นก ปลาต่างๆ และช้างป่า ซึ่งเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นแหล่งพักผ่อน หย่อนใจ และศึกษาความรู้ด้านต่างๆ ทั้งเป็นการรักษาสภาพป่าให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติถาวรสืบไป ดังพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

กรมป่าไม้ จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งได้มีมติการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๒๓ เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๒๓ เห็นสมควรให้ออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดที่ดินบริเวณพื้นที่ป่ายางน้ำกลัดเหนือและป่ายางน้ำกลัดใต้ ท้องที่ตำบลน้ำกลัดเหนือ กิ่งอำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอเขาย้อย และตำบลสองพี่น้อง ตำบลแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ครอบคลุมเนื้อที่ ๑,๕๔๘,๗๕๐ ไร่ หรือ ๒,๔๗๘ ตารางกิโลเมตร ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๙๘ ตอนที่ ๙๒ ลงวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๒๔ นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ ๒๘ ของประเทศไทย

ต่อมาคณะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ของอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้มีหนังสือลง

วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๒๕ ถึงนาย ชวน หลีกภัยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้อนุรักษ์ป่า ห้วยแร่ ห้วยไคร้ ตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กรมป่าไม้ จึงให้นายสามารถ ม่วงไหมทอง ทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และนาย รุ่งโรจน์ อังกุรทิพากร เจ้าพนักงานป่าไม้ ๒ สำรวจหาข้อมูลเบื้องต้น ปรากฏว่า ในบริเวณดังกล่าวมีสภาพป่าสมบูรณ์ดี มีทิวทัศน์สวยงาม มีธรรมชาติที่สวยงาม มีธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตก ถ้ำ หน้าผา ลานหิน และมีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่ โดยมีอาณาเขตติดต่อกับเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ตามหนังสือรายงาน ผลการสำรวจ ที่ กส ๐๗๑๓ (กจ) /๗๘ ลงวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๒๖ เห็นควรให้ขยายเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานออกไปครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าว

กรมป่าไม้ จึงได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ต่อมาได้มีมติการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๒๗ เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๒๗ ให้ขยายเขตอุทยานแห่งชาติให้ครอบคลุมพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายเขตอุทยานแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ ในท้องที่ตำบลแก่งกระจาน ตำบลสงพี่น้อง ตำบลกลัดหลวง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี และตำบลหนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ครอบคลุมพื้นที่ ๒๗๓,๑๒๕ ไร่ หรือ ๔๓๗.๐๐ ตารางกิโลเมตร โดยประกาศไว้ใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๑ ตอนที่ ๑๙๔ ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๒๗ รวมเนื้อที่ ๑,๘๒๑,๘๗๕ ไร่ หรือ ๒,๙๑๕ ตารางกิโลเมตร

ต่อมา กองบัญชาการทหารสูงสุด และจังหวัดเพชรบุรี ได้ขอเพิกถอนพื้นที่เพื่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วย แม่เพรียง เนื้อที่ ๒๘ ไร่ ๒ งาน และอ่างเก็บน้ำห้วยป่าแดง เนื้อที่ ๑๕๘ ไร่ ๒ งาน ๖๔ ตารางวา ซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนอุทยานแห่งชาติป่ายางน้ำกลัดเหนือ และป่ายางน้ำกลัดใต้ บางส่วนในท้องที่ ตำบลห้วยแม่เพรียง และตำบลป่าเต็ง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เนื้อที่ ๑๘๗.๑๖ ไร่ หรือ ๐.๓๐ ตารางกิโลเมตร โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๑๕ ตอนที่ ๖๔ ก ลงวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๑ ทำให้ในปัจจุบันอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน คงเหลือเนื้อที่ ๑,๘๒๑,๖๘๗.๘๔ ไร่ หรือ ๒,๙๑๔.๗๐ ตารางกิโลเมตร

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่า ทำให้ในปัจจุบันประชากรช้างป่า ในพื้นที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นประกอบกับราษฎรในพื้นที่ขยายที่ทำกินไปยังบริเวณรอบชายป่าในการทำการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสำรวจพบว่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจังหวัดเพชรบุรี มีช้างป่าอยู่ จำนวน ๒๒๐ ตัว โดยแบ่งตามพื้นที่หากินออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ บริเวณป่าละอูและป่าเต็ง มีประมาณ ๑๒๐ ตัว และอีกกลุ่มหนึ่งจำนวน ๑๐๐ ตัว อยู่บริเวณบ้านกร่าง (บริเวณเขาพะเนินทุ่ง – ต้นน้ำเพชรบุรี)

จากประชากรช้างป่าที่มีเป็นจำนวนมากดังกล่าว ทำให้ประสบปัญหาการขาดแคลนอาหาร บางครั้งช้างป่าจะออกมาหากินแนวขอบชายป่า ก็จะกินพืชไร่และพืชผลทางการเกษตรของราษฎรที่ปลูกไว้ทำให้ราษฎรได้รับผลกระทบจากช้างป่าเหล่านี้อยู่ประจำ จนบางครั้งจะได้ข่าวว่าช้างป่าถูกทำร้ายอยู่บ่อยครั้ง บางครั้งถึงขั้นบาดเจ็บและเสียชีวิตไปหลายตัว อีกทั้งยังปรากฏข่าวสารว่ามีขบวนการลักลอบค้าช้างป่า ซึ่งมาจากนอกพื้นที่โดยมีนายทุนให้การสนับสนุนและสั่งซื้อลูกช้างป่าเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจ (ปางช้าง) ทำให้มีความต้องการช้างป่าเพื่อทดแทนข้างบ้านที่อายุมากอยู่เสมอ ทำให้ในห้วงเวลาที่ผ่านมามีการลักลอบล่าช้างเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจจนทำให้การเสียชีวิตของช้างป่าและการลักลอบนำช้างออกจากป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอย่างต่อเนื่อง

พระราชดำริ

ผลจากการที่ช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ถูกทำร้ายและถูกลักลอบค้าช้างดังกล่าวสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จึงมีพระราชดำริ ดังนี้

เมื่อ ๕ มกราคม ๒๕๕๕ ทรงมีพระราชดำรัสกับ พลเอก นภดล วรรธโนทัย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ความว่า “ช้างเป็นสัตว์ที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงรัก ทรงห่วงใย โดยเฉพาะช้างทางกุยบุรี และแก่งกระจาน ทรงห่วงใยมาตลอดทรงช่วยหาที่อยู่ที่กินให้ช้าง จะได้ไม่รบกวนคน คนกับช้าง จะได้มีปัญหากันน้อยที่สุด เช่น ที่กุยบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ช้างมีความสำคัญมาแต่ครั้งประวัติศาสตร์ เคยช่วยรักษาบ้านเมือง กู้บ้านกู้เมือง ดังนั้นขอให้ช่วยกันดูแลมิให้ช้างถูกฆ่าอย่างทารุณเยี่ยงนี้ เพื่อจะได้ไม่ผิดพระราชประสงค์ที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตั้งพระทัยที่จะให้มีการ อนุรักษ์ช้าง ให้เป็นสัตว์คู่แผ่นดินต่อไป”

เมื่อ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ ทรงมีพระราชเสาวนีย์กับ ท่านผู้หญิง ฉัตรแก้ว นันทาภิวัฒน์, ท่านผู้หญิง จรุงจิตต์ ทีขะระ และ พลเอก นพดล วรรธโนทัย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ความว่า

“ขอให้ร่วมมือกับ แม่ทัพภาคที่ ๑ และ ดร.ธวัธชัย สันติสุข ดำเนินการเรื่อง การปลูกพืชอาหารช้าง การ

ปลูกต้นไม้ให้เป็นป่า มีที่อยู่ที่กินของช้างที่ แก่งกระจาน เช่นเดียวกับที่ กุยบุรี”

วัตถุประสงค์โครงการ :

  • อนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรป่าไม้ โดยมีการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชน
  • อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่า ให้มีความอุดมสมบูรณ์เป็นแหล่งอาหาร และแหล่งน้ำของสัตว์ป่า ให้มีความสมดุลและมีความหลากหลายทางชีวภาพ
  • พัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกันกับป่าและสัตว์ ป่าได้ 

พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน และองค์กรส่วนท้องถิ่น ได้เข้ามามีบทบาท และมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของโครงการ

อาณาเขตพื้นที่ : อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอหนองหญ้าปล้อง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากที่สุดใน ประเทศไทย มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำปราณบุรี และมีลักษณะเด่นทางธรรมชาติที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ทะเลสาบ น้ำตก ถ้ำ หน้าผาที่สวยงาม มีเนื้อที่ประมาณ ๑,๘๒๑,๖๘๗.๘๔ ไร่ หรือ ๒,๙๑๔.๗๐ ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยชนิดป่า ๔ ชนิด ได้แก่ ป่าดงดิบชื้น ระดับสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางขึ้นไปความสูงประมาณ ๔๐๐ เมตร พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ กระลอขน ผมหอม เสลา เขม่าสายยางโอน พญารากดำ มะกอกแบน นกน้อย ตาเสือ ฯลฯ ป่าดงดิบแล้ง บริเวณที่ราบต่ำระหว่างภูเขา ที่ระดับความสูง ๔๐๐ – ๕๐๐ เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ดำดง สมอจัน ข่อยหนาม กระเบากลัก ถอบแถบ ดีหมี ฯลฯ ป่าเบญจพรรณ อยู่ทางตอนกลางและส่วนเหนือ พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ตีนนก แดง ตะคล้ำ มะกอก ประดู่ อ้อยช้าง โมกมัน งิ้วป่า ฯลฯ ป่าเต็งรัง พบขึ้นอยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันออก ระดับตความสูง ๒๐๐ – ๔๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ เต็ง พลวง พะยอม ประดู่ 

เปล้าหลวงแดง ฯลฯ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเป็นแหล่งชุมชุน ของสัตว์ป่าทั้งจากทางทิศเหนือและทิศใต้ ชนิดของสัตว์ป่าที่สำคัญ ได้แก่ ช้างป่า หมาใน หมาจิ้งจอก เสือดาว เลียงผา สมเสร็จ วัวแดง เก้งหม้อ ลิงเสนนกกระสา ฯลฯ นอกจากนี้ พบปลาน้ำจืดหลายชนิด เช่น ปลานางอ้าว ปลาขี้ยอก ปลากระสูบขีด ปลากดเหลือง ฯลฯ

ผลการดำเนิน :

  • สามารถอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ให้เป็นที่สมบูรณ์ตามธรรมชาติ รวมถึงสามารถเป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำของสัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างป่า
  • สามารถทำให้ประชาชนในพื้นที่มีจิตสำนึกในการหวงแหนทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่ารวมถึงให้สามารถจัดตั้งเครือข่ายในการเฝ้าระวังการลักลอบทำลายป่าไม้และสัตว์ป่า
  • ให้ประชาชนสามารถดำรงชีวิตประจำวันได้โดยไม่ไปรบกวนและทำลายป่าและสัตว์ป่า
  • สามารถป้องกัน ปราบปราม หรือลดการกระทำผิดกฎหมายทุกประเภทในพื้นที่โครงการ
  • สามารถพัฒนาบุคลากร ข้อมูลขั้นพื้นฐานเพื่อใช้ในการประเมินผลโครงการ และใช้ในการวางแผนในการพัฒนาโครงการ 
  • สามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยราชการและประชาชนในพื้นที่ เพื่อขจัดความขัดแย้ง และชี้ให้เห็นความสำคัญ และประโยชน์ของโครงการ ตลอดจนยินดีเข้าร่วมและสนับสนุนโครงการด้วยความจริงใจ


ติดต่อสถานี
-

สำนักงานสถานีเกษตร
โทร : -

สำหรับจองที่พัก
โทร : -

ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว
โทร : -