๒๐ กันยายน ๒๕๖๗

โครงการห้วยแม่เพรียงตามพระราชดำริ

ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

โครงการพัฒนาห้วยแม่เพรียงตามพระราชดำริได้กำเนิดขึ้นเมื่อ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงและสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยมราษฎร ที่ตำบลแก่งกระจาน อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ได้ทรงทราบปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร ตลอดทั้งการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าอันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร จึงมีพระราชดำรัสให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี และผู้บังคับกองฝึกรบพิเศษที่ ๑ ในขณะนั้น จัดทำโครงการพัฒนาร่วมกับ ส่วนราชการอื่น โดยพระองค์ทรงรับไว้เป็นโครงการในพระราชดำริ ได้ทำการรวบรวมกลุ่มราษฎรที่กระจัดกระจายมาอยู่รวมกัน พร้อมมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลรักษาป่า และจัดโครงการให้ราษฎรได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาตนเองโดยใช้วัสดุในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดพร้อมกันนี้พระองค์ได้ทรงให้ข้อคิดเกี่ยวกับเทคนิค ในการสร้างระบบส่งน้ำ การปลูกป่าชุมชน การปลูกป่าทดแทน การใช้แรงงาน การพัฒนาจิตใจ การสหกรณ์และการปลูกฝังอุดมการณ์ทางการเมือง จากกระแสพระราชดำรัสของพระองค์ฯ จึงก่อให้เกิด “โครงการพัฒนาห้วยแม่เพรียงตามพระราชดำริ” ขึ้น

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมุ่งเน้นให้ความสำคัญแก่การพัฒนาคน ระบบงาน กระบวนการทำงานตลอดจนการเรียนรู้ การศึกษาอบรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริต่างๆที่เริ่มตั้งแต่พัฒนาคนเป็นประการแรก เพราะเมื่อคนมีความกินดีอยู่ดีแล้วย่อมสามารถใช้สติปัญญาเพื่อสร้างตนเองและสังคม เมื่อประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้แล้วย่อมสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป

   

วัตถุประสงค์ของโครงการ :

  • เพื่อพัฒนาทางด้านจิตใจของราษฎรให้มีความรักสมัครสมานสามัคคี
  • เพื่อพัฒนาความรู้ทางด้านวิชาการเทคนิคการเกษตรกรรม อุตสาหกรรมในครัวเรือนสมัยใหม่ให้แก่ราษฎร
  • จัดรูปที่ดินให้ราษฎรทำกินเพื่อป้องกันการบุกรุกทำลายป่า
  • พัฒนาที่ดินทำกินของราษฎรให้มีความสมบูรณ์ มีแหล่งน้ำ สิ่งสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่จำเป็นแก่การดำรงชีพ ใช้ระบบชลประทานย่อยโดยใช้วัสดุและทรัพยากรท้องถิ่นเป็นหลัก 
  • พัฒนาให้ราษฎรรวมตัวกันในรูปสถาบันเกษตรกรหรือระบบสหกรณ์
  • เพื่อจัดตั้งเป็นหมู่บ้านป้องกันตนเองไทย – เมียนมาร์ ในพื้นที่โครงการฯ 

แผนการปฏิบัติงาน :

  • งานด้านการอนุรักษ์และจัดสรรที่ดินออกลาดตระเวนตรวจพื้นที่ในเขตรับผิดชอบเพื่อป้องกันการบุกรุกพื้นที่โครงการและอุทยานแห่งชาติ
  • งานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตและระบบสหกรณ์ ดำเนินงานโดยร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการอบรมให้ความรู้แก่ราษฎรในการทำการเกษตร สาธารณสุข และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน
  • งานด้านอื่นๆ เช่น การอบรมให้ความรู้ด้านยาเสพติดแก่เยาวชน การปลูกหญ้าแฝกเฉลิมพระเกียรติ ประการสำคัญที่สุด คือการดำเนินงานได้ยึดตามกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นแนวทางในการปฏิบัติ โดยใช้งบประมาณและทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างประหยัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งราษฎรได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธารและสัตว์ป่ามิให้ป่าถูกทำลายอีกต่อไป

ลักษณะโครงการ : พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมุ่งเน้นให้ความสำคัญแก่การพัฒนาคน ระบบงาน กระบวนการทำงาน ตลอดจนการเรียนรู้ การศึกษาอบรม ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากโครงการอันเนื่องจากพระราชดำริต่างๆ ที่เริ่มตั้งแต่พัฒนาคนเป็นประการแรก เพราะเมื่อคนมีความกินดีอยู่ดีแล้วย่อมสามารถใช้สติปัญญาเพื่อสร้างตนเองและสังคม เมื่อประชาชนสามารถพึ่งตนเองได้แล้วย่อมสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนตลอดไป ในระยะแรกของการดำเนินการ ได้แบ่งพื้นที่ออกเป็น ๓ ส่วน รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น ๘๒ ตารางกิโลเมตร จำนวน ๕๑,๒๗๗ ไร่ ได้แก่ 

- พื้นที่แหล่งต้นน้ำลำธาร จำนวน ๕๔ ตารางกิโลเมตร รวม ๓๓,๗๕๐ ไร่

- พื้นที่ทำกิน จำนวน ๒๕ ตารางกิโลเมตรรวม ๑๕,๖๕๒ ไร่

- พื้นที่แหล่งกักเก็บน้ำ จำนวน ๓ ตารางกิโลเมตร รวม ๑,๘๗๕ ไร่

ผลการดำเนินการ :

ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้ราษฎรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

- งานสร้างถนนคอนกรีตการปรับปรุงซ่อมแซม

- เปิดค่ายฝึกลูกเสือชาวบ้านเฉลิมพระเกียรติโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยผ่านกิจการลูกเสือชาวบ้าน

- แจกพันธุ์ปลา ให้กับราษฎรในพื้นที่โครงการฯ เพื่อนำไปปล่อยตามแหล่งน้ำธรรมชาติ

- ฝึกอบรมราษฎร ตามโครงการปุ๋ยหมักชีวภาพ ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎรในพื้นที่

ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาการบุกรุกทำลายป่า

- ได้สำรวจพื้นที่โครงการฯ และเขตติดต่ออุทยานแห่งชาติแก่งกระจานฯ เพื่อป้องปรามการบุกรุกพื้นที่, การลักลอบตัดไม้ และการล่าสัตว์ป่าในพื้นที่โครงการฯ

- มีการประชาสัมพันธ์ให้รู้จักรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนให้ความรู้กับราษฎรเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้เกิดความร่วมมือของราษฎรในพื้นที่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

ด้านความมั่นคง ให้ราษฎรมีความรัก ความสามัคคี 

- จัดโครงการอบรม แข่งขันกีฬา จัดค่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดโครงการพัฒนาห้วยแม่เพรียงตามพระราชดำริ มีพื้นที่ดำเนินงานประกอบด้วยหมู่บ้านเป้าหมาย ๓ หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ ๔ บ้านหนองน้ำดำ หมู่ ๕ บ้านด่านโง และหมู่ ๖ บ้านห้วยไผ่ ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจานรวมพื้นที่ทั้งหมด ๑๕,๔๐๖ ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสงวน มีการจัดสรรเป็นแปลงเพื่อการอยู่อาศัย แปลงละ ๓ ไร่และที่ทำกินแปลงละ ๑๕ ไร่ รวมทั้งสิ้น ๓๐๖ ราย

ปัจจุบันได้ดำเนินการส่งมอบเอกสารสิทธิแล้วจำนวน ๑๑๔ ราย กำลังจะส่งมอบเอกสารสิทธิในเดือน สิงหาคม ๕๗ นี้จำนวน ๔๔ ราย และคาดว่าจะสามารถดำเนินการมอบเอกสารสิทธิส่วนที่เหลือจำนวน ๑๔๘ ราย ภายในปี พ.ศ.๒๕๕๘



ติดต่อสถานี
-

สำนักงานสถานีเกษตร
โทร : -

สำหรับจองที่พัก
โทร : -

ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว
โทร : -