โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพพื้นที่บริเวณเขานางพันธุรัต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบลชะอำ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๓๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริ ให้หาหนทางป้องกันมิให้ส่วนอื่นๆ ของเขาเจ้าลายใหญ่ เกิดการพังทลายลงมาอีก หลังจากทรงประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งผ่านบริเวณเขาเจ้าลายใหญ่ และทรงเห็นร่องรอยการพังทลายของแท่งหินบริเวณ “โกศนางพันธุรัต”
เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๓๙ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีพระราชเสาวนีย์ ให้ดำเนินการปลูกหญ้าแฝกป้องกันการเลื่อนไหลของหินดินดานในบริเวณที่เกิดการพังทลาย
เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๑ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริ แก่ พลโทนิพนธ์ ภารัญนิตย์ (แม่ทัพภาคที่ ๑ ในขณะนั้น) ณ วังไกลกังวล “ให้อนุรักษ์ สภาพภูมิประเทศบริเวณเขาเจ้าลายใหญ่ (เขานางพันธุรัต) เนื่องจากมีความสำคัญทางด้านวรรณคดีพื้นบ้าน และให้ ฟื้นฟูสภาพพื้นที่บริเวณที่มีการทรุดตัวของภูเขาโดยการปลูกต้นไม้เพื่อป้องกันการพังทลายในอนาคต”
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริ เพิ่มเติมดังนี้ ให้ดำเนินการเอาเฮลิคอปเตอร์ นำเมล็ดพืชขึ้นไปโปรยในส่วนบนสูงที่สุดให้มากๆ เมล็ดพืชจะได้ไหลลงมาและจะขึ้นเอง ควรระมัดระวังเรื่องสภาพอากาศด้วยเพื่อความปลอดภัย การเอาทหารนำพันธุ์พืชขึ้นไปปลูกทางพื้นดินควรระมัดระวังการพังทลายของหิน ที่อาจจะเกิดขึ้นและจะเป็นอันตราย สำหรับเมล็ดพันธุ์พืชนั้นให้ประสานกับอธิบดีกรมป่าไม้ โดยพระองค์ท่านรับสั่งว่า “ได้บอกอธิบดีกรมป่าไม้ไว้แล้ว” ให้ช่วยกันฟื้นฟูเขานางพันธุรัตโดยทุกคนทุกส่วนต้องช่วยกัน
เมื่อ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๓ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริ แก่คณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ ณ วังไกลกังวล แผนแม่บทโครงการที่เสนอตามหลักวิชาการสถาปัตยกรรมซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายจำนวนมากเพื่อเอาชนะธรรมชาตินั้นไม่เหมาะสมสิ้นเปลืองมากเพราะวันหนึ่งก็อาจจะถล่มลงมาอีกทรงมีพระราชดำริ ให้ฟื้นฟูด้วยวิธีธรรมชาติ ด้วยการปลูกต้นไม้ให้มากๆ แล้วเฝ้าระวังติดตามสภาวะการเคลื่อนตัวของหินต่อไป ควรกำหนดขอบเขตโครงการให้แน่นอน พร้อมทั้งกั้นเขตด้วยลวดหนาม บริเวณที่เป็นเขตอันตราย และประกาศให้ประชาชนทราบว่าถ้ามีการบุกรุก จะเกิดความไม่ความปลอดภัยแก่ตนเอง (ให้ประกาศเป็นเขตอันตราย ) ให้ใช้รูปแบบการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ป่า เช่น เดียวกับโครงการฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มและให้ทำการอนุรักษ์ฟื้นฟูรักษาสภาพธรรมชาติอย่าเปลี่ยนแปลงธรรมชาติ
เมื่อ ๖ เมษายน ๒๕๔๓ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริ แก่ พลโททวีปสุวรรณสิงห์ ณ วังไกลกังวล ควรให้มีการประชาสัมพันธ์โครงการให้ประชาชนทั่วไปรู้จัก เช่น ทำเป็นเอกสารหนังสือ หรือ แผ่นพับ เพื่อให้เกิดความรู้ความร่วมมือ
ในการอนุรักษ์และฟื้นฟู การทำฝนกรดโดยสารเคมี เพื่อจะให้ลบรอยด่างบนหน้าผานั้นทำลำบากมาก ควรใช้ วิธีง่ายๆ ตามธรรมชาติ ถ้ามีน้ำเสียก็สามารถที่จะดันน้ำขึ้นไปบริเวณหินถล่ม เพื่อให้ไหลลงมา ก็จะทำให้ หินที่เป็นสีแดง มีสีคล้ำเร็วขึ้นคล้ายของเดิม
เมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๔ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงมีพระราชดำรัส กับพลเอกนิพนธ์ ภารัญนิตย์ (ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ) ควรให้หน่วยทหารของกองทัพภาคที่ ๑ ที่รับผิดชอบทำการประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรได้รับรู้ มีความเข้าใจ และขอความร่วมมือที่ผ่านมาราษฎรให้ความร่วมมือดี แสดงว่า ได้ชี้แจงให้ราษฎรเข้าใจดีแล้ว ขอให้ทำต่อไป วิธีการฉีดสารเคมี เพื่อให้หินเปลี่ยนสีมีสภาพเก่าลงเหมือนธรรมชาติ เป็นวิธีที่แปลกดี หากไม่เป็นอันตราย หรือเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินการได้ การฉีดสารเคมีพ่นหินที่อยู่สูงๆ หากทำนั่งร้านขึ้นไปไม่ได้ ให้ทดลองนำสารเคมีใส่ถุงพลาสติกหรือห่อกระดาษที่สานแบบตะกร้อและนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์ และทิ้งลงมาทางอากาศน่าจะเป็นวิธีที่ทำได้แต่ให้ระมัดระวังอันตรายจากสภาพอากาศที่อาจเกิดอันตรายกับเฮลิคอปเตอร์ได้ การปรับทัศนียภาพถ้าจะต้องทำก็ขอให้ดำเนินการอย่างง่ายมีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดการพัฒนาต้องทำให้ง่ายที่สุด
ผลการดำเนินการ
การดำเนินงานเพื่อสนองพระราชดำริที่พระราชทานให้ไว้ “สนองพระราชดำริ ให้ปรากฏผลไปสู่ความมั่นคงสมดุล ของสภาพธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นแหล่งศึกษาทดลองและเรียนรู้ ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เพียบพร้อมด้วยคุณค่า อันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยคงความสมดุลของระบบนิเวศวิทยา” กรอบแนวคิดทิศทางดำเนินงานได้ดังนี้
๑. ยึดถือแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นกรอบแนวคิดทิศทางหลักในดำเนินงานต่อเนื่องจากการพัฒนาในระยะที่ผ่านมาโดยเน้นการดำเนินงานสนองพระราชดำริให้ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ
๒. ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานในลักษณะ “องค์รวม” ที่การพัฒนาทุกมิติเชื่อมโยงสัมพันธ์กันและพัฒนาไปพร้อมกัน ทั้งในด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยมี “คน” เป็นศูนย์กลางการพัฒนา
๓. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการดำเนินงานโดยใช้ “แผน” เป็นเครื่องมือชี้นำการดำเนินงาน มีการวางแผนในลักษณะ “บูรณาการ” อย่างเป็นระบบและเป็นกระบวนการ โดยทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานทั้งภาครัฐบาลภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อันมีค่าของประเทศมณฑลทหารบกที่ ๑๕ ได้ประชุม ประสานกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการในการทำงานแบบบูรณาการ เพื่อทำการฟื้นฟูสภาพพื้นที่บริเวณเขานางพันธุรัตและพื้นที่โดยรอบในการปฏิบัติงานที่ผ่านมา หน่วยได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เข้าปฏิบัติงานเป็นอย่างดี สรุปความก้าวหน้าของโครงการในแต่ละด้านได้ดังนี้
ด้านการฟื้นฟูสภาพธรรมชาติ
- การฟื้นฟูสภาพธรรมชาติบริเวณพื้นที่เขานางพันธุรัต เหมืองหินปูน และ เขามันหมู – เขาถ้ำโหว่
เปรียบเทียบระหว่าง ปี พ.ศ.๒๕๓๗ กับ ปัจจุบัน
ภาพเปรียบเทียบการฟื้นฟูเหมืองหินปูน
- งานพัฒนาหน้าเหมือง (มันหมู และ ถ้ำโหว่) ด้านติดถนนเพชรเกษม
- ศึกษาวิจัยสำรวจพันธุ์พืชและสภาพทรัพยากรป่าไม้ จำแนกป่าได้ ๒ ชนิด คือ ป่าดิบแล้งและ ป่าเบญจพรรณ, ทรัพยากรสัตว์ป่า ซึ่งสัตว์ป่าที่สำคัญของพื้นที่ คือ นก, ลิงแสม, ค่างแว่นถิ่นใต้, เม่นใหญ่ สัตว์ในกลุ่มค้างคาว อันจะนำไปสู่การอนุรักษ์และพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนในอนาคต
- เพาะพันธุ์กล้าไม้ป่าเพื่อให้เยาวชน และหน่วยงานได้ร่วมกันปลูกป่าในพื้นที่รอบๆ และเพาะพันธุ์กล้าไม้ที่เป็นอาหารสัตว์ จำนวน ๒๐,๐๐๐ กล้า ได้แก่ มะขวิด, มะตูม, มะขามป้อม, ไทร, มะตาด,ลำดวน, มะม่วงป่า เพื่อใช้ปลูกบนเขานางพันธุรัตให้เป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่าในอนาคต
ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต
- หน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากโรงพยาบาลค่ายรามราชนิเวศน์ ไปให้บริการตรวจโรคทั่วไป บริการทันตกรรมและตรวจวัดสายตาให้กับประชาชนใน
พื้นที่โครงการฯ
- โครงการหัตถกรรมการสานต้นธูปฤาษี เพื่อส่งเสริมรายได้ในครัวเรือน
- จัดโครงการนาข้าว และปลูกบัวเพื่อจำหน่ายดอก
ด้านความมั่นคง
- จัดชุดสำรวจข้อมูลหาข่าวความเคลื่อนไหวและการบุกรุกพื้นที่ป่า พร้อมทั้งปลูกฝังอุดมการณ์ให้ประชาชนในพื้นที่โครงการมีคุณธรรม และความจงรักภักดีแก่สถาบันพระมหากษัตริย์
ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
- ปรับปรุงดูแล และปลูกซ่อมต้นไม้ในพื้นที่โครงการพร้อมทั้งจัดกิจกรรมเข้าค่าย, จัดอบรมให้ความรู้กับเยาวชน, นักเรียน, นักศึกษาและนักท่องเที่ยวให้เห็นถึงความสำคัญของป่าและให้เยาวชนหน่วยงานได้ร่วมกันปลูกป่าในพื้นที่รอบๆ วนอุทยานฯ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาได้ดำเนินการปลูกต้นไม้ต่างๆ ประมาณ ๑,๕๐๐ ต้น คิดเป็นพื้นที่ ป่าประมาณ ๑๐ ไร
- การอบรมอาสาสมัครป้องกันการลักลอบทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ให้กับเยาวชน, นักเรียน นักศึกษา และจัดกิจกรรม ป้องกันภัยไฟป่า
- จัดกิจกรรมปลูกป่ารณรงค์การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์
ด้านการประชาสัมพันธ์โครงการ
- จัดทำป้ายบอกทางเข้าวนอุทยาน บริเวณริมถนนเพชรเกษมฝั่งล่องใต้
- จัดทำป้ายประชาสัมพันธ์ไฟป่า ทำแนวกันไฟ, จัดทำป้ายสื่อความหมาย
ติดต่อสถานี
-
สำนักงานสถานีเกษตร
โทร : -
สำหรับจองที่พัก
โทร : -
ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว
โทร : -