โครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย
อำเภอชะอำ และ อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
เมื่อปี ๒๕๑๔ จึงทรงมีพระราชดำริ ให้จัดหาที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งสามารถจัดให้ราษฎรเข้าประกอบอาชีพการเกษตรแก่สมาชิก ทำกินครอบครัวละ ๑๕ ไร่ โดยให้ส่วนราชการต่างๆ ร่วมกันดำเนินงานจัดตั้งเป็นโครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย หมู่ที่ ๑๓ ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นราษฎรที่เป็นสมาชิกโครงการจัดสรรที่ดินตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย ๑ นั้น มีภูมิลำเนาเดิมอยู่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดนครปฐม ราชบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี และเพชรบุรี ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกินหรือมีแต่ไม่เพียงพอ จึงได้เข้ามาทำกินในที่ดินของ นิคมสร้างตนเองเขื่อนเพชร ของกรมประชาสงเคราะห์ แทนที่ราษฎรที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ให้เข้ามาทำกินในที่ดินจัดสรรโครงการหุบกะพง โดยประกอบอาชีพทำไร่ผักเป็นส่วนใหญ่ครอบครัวละ ๒ - ๓ ไร่ จำนวน ๑๒๐ครอบครัว และได้รวมตัวจัดตั้งกลุ่มชาวไร่ผัก
ในการเสด็จแปรพระราชฐาน ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเยี่ยมสมาชิกชาวไร่ผักด้วยความห่วงใยทุกๆ ปี และทรงมีพระราชดำริว่า สมาชิกกลุ่มชาวไร่ผักมีที่ดินทำกิน เพียงครอบครัวละ ๒-๓ ไร่ ไม่เพียงพอแก่การประกอบอาชีพ จึงทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ นายอเนก พยัคฆันตร ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ในสมัยนั้นให้จัดหาที่ดินรกร้างว่างเปล่าซึ่งสามารถประกอบอาชีพ การเกษตรให้แก่สมาชิกทำกินครอบครัวละ ๑๕ ไร่ คล้ายกับสมาชิกรุ่นที่ได้ย้ายไปในโครงการหุบกะพง เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้รับทราบพระบรมราโชบายดังกล่าว ได้ปรึกษาหัวหน้าส่วนราชการและนายอำเภอในจังหวัดเพชรบุรี เพื่อหาที่ดินมาจัดสรรให้แก่ราษฎรตามพระราชประสงค์ โดยได้เลือกที่ดินในตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ ที่ชาวบ้านเรียกว่า “ดอนขุนห้วย” เป็นที่สาธารณะของแผ่นดิน ประเภท ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ และมีที่ดินรกร้างว่างเปล่าติดต่อกันอีก ๕๘๑ ไร่ รวมเนื้อที่ จัดสรร ๒,๕๘๑ ไร่ เนื่องจากทางจังหวัด มีงบประมาณเครื่องมือเครื่องจักรและกำลังคนจำกัด จึงได้ขอความร่วมมือจาก กระทรวง กรมกองต่างๆ ให้มาทำความช่วยเหลือ เช่น กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งได้รับความร่วมมือและความร่วมมือและความช่วยเหลือในการนี้เป็นอย่างมาก
นายอเนก พยัคฆันตร ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลให้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทราบในโครงการและแบบแปลนแผนผัง เมื่อเดือน พฤษภาคม ๒๕๑๔ ซึ่งพระองค์ทรงเห็นชอบตามโครงการของจังหวัดทุกประการ และได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งหม่อมหลวงเดช สนิทวงศ์ องคมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการดำเนินงาน โดยมีผู้แทนจากกระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ ได้ดำเนินการในระดับจังหวัดได้จัดตั้งเป็นคณะอนุกรรมการดำเนินงาน โครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย มีองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นเจ้าของเรื่อง คณะอนุกรรมการประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เป็นประธานและหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ระดับจังหวัด ได้ดำเนินรังวัดจัดสรรที่ดินและก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภค
ตั้งแต่ปี ๒๕๑๔ โดยรัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพที่ดินสาธารณประโยชน์ดอนขุนห้วย และได้ทำการรังวัดจัดสรรที่ดินแบ่งเป็นแปลงๆละ ๑๕ ไร่ รวม ๑๕๓ แปลง ต่อมาได้คัดเลือกสมาชิกชาวไร่ผัก และผู้มาสมัครเพิ่มเติมเข้ามาอาศัยทำกินในที่ดินจัดสรรดอนขุนห้วย จำนวน ๑๕๓ ครอบครัว โดยสมาชิกได้จับสลากเข้าอยู่อาศัยทำเกษตรกรรม ตั้งแต่กลางปี ๒๕๑๕ เป็นต้นมา
ส่วนโครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย ๒ เป็นการจัดสรรที่ดินเพิ่มโดยใช้ที่ดินของป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งมีพื้นที่ติดกับโครงการตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย ๑ ทั้งนี้เพื่อขยายให้ลูกหลานของสมาชิกในโครงการฯตามพระราชประสงค์ดอนขุนห้วย ๑ และราษฎรในเขตจังหวัดเพชรบุรี ที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองเข้ามาอยู่อาศัย ในปี ๒๕๑๙ รวม ๙๗ แปลงๆ ละ ๑๕ ไร่ เช่นกัน
วัตถุประสงค์โครงการ :
เพื่อช่วยเหลือสมาชิกกลุ่มไร่ผัก ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ ลูกหลานสมาชิก และราษฎรในจังหวัดเพชรบุรี ให้มีที่ดินทำกินเพียงพอแก่อัตภาพทั้งในการประกอบอาชีพและอยู่อาศัย
เพื่อส่งเสริมให้ราษฎรที่เข้ามาเป็นสมาชิกในที่ดินจัดสรรมีการรวมกลุ่มในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม อันเป็นพื้นฐานในการจัดตั้งสหกรณ์ต่อไป
เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกในที่ดินจัดสรร ได้ประกอบอาชีพทางการเกษตรกรรมถูกต้อง ตามหลักวิชาการแผนใหม่ และมีความรู้ความเข้าใจในการช่วยตนเองตามหลักการพัฒนาชุมชน
เพื่อปรับปรุงพื้นที่ยังไม่เคยทำประโยชน์ให้เป็นพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกโดยอาศัยวิธีการและเทคนิคใหม่ๆ เข้าร่วม
เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพของตนเองในที่ดินจัดสรร
อาณาเขตพื้นที่ : มีพื้นที่ ๓,๙๙๐ ไร่ ๓ งาน ๘๓ ตารางวา ครอบคลุมหมู่บ้านเป้าหมาย จำนวน ๓ หมู่บ้าน คือ บ้านดอนขุนห้วยบ้านหนองพลับ และ บ้านหนองประดู่ โดยคณะกรรมการได้จัดสรรที่ทำกินและอยู่อาศัย จำนวน ๒๕๐ แปลง แบ่งเป็น ๒ โครงการ คือ
- โครงการดอนขุนห้วย ๑ ดำเนินการพื้นที่ของ หมู่ที่ ๕ ตำบลดอนขุนห้วย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี จำนวน ๒,๕๘๑ ไร่
- โครงการดอนขุนห้วย ๒ ดำเนินการในพื้นที่ของหมู่ที่ ๑๐ และ หมู่ที่ ๑๑ ตำบลท่าคอย อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี จำนวน ๑,๔๐๙ ไร่ ๓ งาน ๘๓ ตารางวา
ผลการดำเนินการ :
ด้านความมั่งคง
- การปรับปรุงซ่อมแซมพลับพลาที่ประทับ โดยการเปลี่ยนเป็นโครงเหล็กหลังคากระเบื้องตามรูปแบบเดิม
ด้านส่งเสริมคุณภาพชีวิต
- ส่งเสริมกลุ่มอาชีพแปรรูปขนุนทอด
- ตั้งกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ปัจจุบันดำเนินการ จำหน่ายทั้งในและนอกพื้นที่มีการดำเนินการจำหน่าย ได้เป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง
- ส่งเสริมกลุ่มราษฎรปลูกพืชผักปลอดสารพิษ สามารถเก็บผลผลิตส่งจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง
- มีโครงการลี้ยงไก่ไข่แบบกรงตับ ของสหกรณ์การเกษตรดอนขุนห้วย จำกัด มีตลาดที่แน่นอน
- ส่งเสริมการเลี้ยงแพะพันธุ์บอร์ ของสหกรณ์การเกษตรดอนขุนห้วย ปัจจุบันมีพันธุ์เพศผู้ ๒ ตัว เพศเมีย ๔ ตัว และคลอดลูก จำนวน ๒ ตัวตาย ๑ ตัว แพะทั้งหมดมีการเจริญเติบโตดี (โครงการนำร่อง)
- ส่งเสริมกลุ่มอาชีพเพาะเห็ดนางฟ้า ปัจจุบันดำเนินการผลิตและจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่องโดยการจำหน่ายเชื้อถุงๆ ละ ๕ บาท พร้อมจำหน่ายดอกเห็ดในราคาส่ง กิโลกรัมละ ๓๕ บาท
- ส่งเสริมตามโครงการธนาคารโค เพื่อการเกษตรตามพระราชดำริ
- มีการแปรรูปผลผลิตโดยการดำเนินงานโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์
ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ - ให้ราษฎรปลูกหญ้าแฝกบริเวณ ในพื้นที่โครงการฯ
ด้านอื่นๆ
- การฝึกอบรม การจักสานกระเป๋าตะกร้าเส้นพลาสติก
ติดต่อสถานี
-
สำนักงานสถานีเกษตร
โทร : -
สำหรับจองที่พัก
โทร : -
ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว
โทร : -