โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด(ภาคตะวันออก) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
บ้านซับมะกรูด ตำบลคลองหาด อำเภอคลองหาด จังหวัดสระแก้ว
ที่มาของการต่อยอดโครงการ : ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด เดิมเรียกว่า ป่าพนมสารคาม เป็นป่าผืนใหญ่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย มีพื้นที่ป่าเป็นผืนเดียวติดต่อกัน ๕ จังหวัด คือ จังหวัด สระแก้ว, จังหวัดจันทบุรี, จังหวัดระยอง, จังหวัดชลบุรี และจังหวัดฉะเชิงเทรา พื้นที่ป่าผืนนี้เคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพันธุ์ไม้ สัตว์ป่านานาพันธุ์ และมีลักษณะเป็นป่าลุ่มต่ำไม่ผลัดใบ เป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างระบบนิเวศภาคกลางกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพมากมาย พิเศษกว่าป่าอื่นๆ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๐ เป็นต้นมาป่าผืนนี้ได้ ลดพื้นที่ลงตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณที่ราบของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเคยมีพื้นที่ป่ามากถึง ๕,๐๐๐,๐๐๐ ไร่ ได้ถูกราษฎรบุกรุก จนเหลือพื้นที่เพียงประมาณ ๖๙๑,๒๕๐ ไร่ (๑๓.๘๓ %) เท่านั้น และในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ ถือได้ว่ามีอัตราการ บุกรุกพื้นที่ป่าที่สูงมากจนถึงขั้นวิกฤต ซึ่งธรรมชาติไม่สามารถจะรักษาดุลยภาพด้วยตัวของมันเองได้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา เช่น การเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี พ.ศ.๒๕๒๖, ๒๕๓๑, ๒๕๓๓ และ ๒๕๓๘ ในพื้นที่ จังหวัดปราจีนบุรี และ จังหวัดฉะเชิงเทรา พ.ศ.๒๕๒๕ กองทัพภาคที่ ๑ ได้ประกาศกำหนดให้พื้นที่ส่วนหนึ่งของป่าผืนนี้ และป่ารอบนอก บางแห่งเป็นป่าหวงห้าม ห้ามบุคคลเข้าไปอยู่อาศัย(ป่าปิด) เนื่องจากท้องที่บางส่วนของป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ อาศัยสภาพภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและป่าทึบเป็นที่ซ่องสุมเป็นฐานปฏิบัติการตลอดจนมีบุคคลและกลุ่มอิทธิพลหรือกลุ่มผลประโยชน์ เมื่อ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๗ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในโครงการ ณ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ตำบลคลองตะเกรา อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา และได้มีพระราชดำริ ให้พิจารณาจัดหา แหล่งน้ำ เพื่อให้ราษฎรได้มีน้ำใช้ในการอุปโภค – บริโภค และทำการเกษตร
เมื่อ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๓๑ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมป่าไม้ดำเนินการจัดทำโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด โดยมีระยะเวลาดำเนินการ ๕ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๒ – ๒๕๓๖ โดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ และทหารพรานเมื่อ ๒๑ มีนาคม ๒๕๓๒ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการอพยพ ราษฎรที่เข้าไปบุกรุกอาศัยและทำกินในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน ออกมาอยู่ชายป่าโดยทำการหมู่บ้านโครงการป่าไม้ จำนวน ๕ โครงการ เพื่อรองรับการอพยพของราษฎร ประกอบด้วย
- หมู่บ้านโครงการพัฒนาป่าเขาฉกรรจ์ – โนนสาวเอ้ ๑ จังหวัดสระแก้ว เนื้อที่ ๕,๐๐๐ ไร่
- หมู่บ้านโครงการพัฒนาป่าเขาฉกรรจ์ – โนนสาวเอ้ ๒ จังหวัดสระแก้ว เนื้อที่ ๗,๐๐๐ ไร่
- หมู่บ้านโครงการพัฒนาป่าเขาฉกรรจ์ – โนนสาวเอ้ ๓ จังหวัดสระแก้ว เนื้อที่ ๖,๐๐๐ ไร่
- หมู่บ้านโครงการพัฒนาป่าแควระบม – สียัด๑ และ ๒ จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่หมู่บ้านละ ๗,๐๐๐ ไร่
เมื่อ ๒๔ มกราคม ๒๕๓๘ ประธานคณะกรรมการบริหารฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนิน งานโครงการฯ โดยมี แม่ทัพภาคที่ ๑ เป็นประธาน อนุกรรมการดำเนินงานโครงการฯ เมื่อ ๑๐ เมษายน ๒๕๓๘ แม่ทัพภาคที่ ๑ ในฐานะประธานอนุกรรมการดำเนินงานโครงการฯ ได้ออกคำสั่งตั้งศูนย์ประสานงานโครงการฯ ขึ้นโดยมีกรมทหารพรานที่ ๑๓ เป็นหน่วยประสานงานโครงการฯและมีผู้แทนส่วนราชการในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเป็oกรรมการเพื่อรับผิดชอบการดำเนินงานในโครงการฯ เมื่อ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๘ แม่ทัพภาคที่ ๑ ใน ฐานะประธานอนุกรรมการ ดำเนินงานโครงการฯ ได้แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินโครงการฯ ทั้ง ๕ จังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานคณะทำงานและปลัดจังหวัด เป็นคณะทำงานและเลขานุการ มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เป็นคณะทำงานและผู้ช่วย เมื่อ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๔ ได้มีการจัดทำ แผนแม่บทแผนแม่บทระยะที่ ๓ ของโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และ สัตว์ป่า ในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕จังหวัด (ภาคตะวันออก) อันเนื่องมาจากพระราชดำริโดยมีระยะเวลาดำเนินการ ๔ ปี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๔ –๒๕๕๘
วัตถุประสงค์โครงการ
- เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ผืนป่าให้ดำรงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ดังเดิม เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่แผ่นดิน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายด้านการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าของรัฐบาล
- เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและปลูกป่าเพื่อการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร ในพื้นที่อนุรักษ์
- เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งชุมชนที่อพยพมาจากพื้นที่โครงการรวมทั้งชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินใกล้กับแนวเขตป่ารอยต่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยได้รับประโยชน์อย่างเหมาะสมจากทรัพยากรธรรมชาติและไม่หวนกลับเข้าไปบุกรุกทำลายป่าอนุรักษ์อีก
- เพื่อให้เกิดการพัฒนา เพิ่มพูนคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่มากขึ้นอันจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนในระยะยาว
- เพื่อลดจำนวน ขบวนการลักลอบทำลายป่าไม้ และอิทธิพล โดยการใช้หลักกฎหมาย และหลักเกณฑ์ทางสังคมรวมทั้งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนในพื้นที่มีจิตสำนึก ในการอนุรักษ์ป่าผืนนี้ ให้คงอยู่ตลอดไป
อาณาเขตพื้นที่
มีพื้นที่รวม ๑,๓๐๒,๖๗๐ ไร่ ดังนี้โครงการอนุรักษ์ฯ มีอาณาเขตครอบคลุม ๒ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ๓ เขตอุทยานแห่งชาติ ในพื้นที่ ๕ จังหวัด (ภาคตะวันออก) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
๑. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เนื้อที่ ๖๗๔,๓๕๒ ไร่
๒. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว เนื้อที่ ๔๖๕,๖๐๒ ไร่
๓. อุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฎ เนื้อที่ ๓๖,๖๘๗ ไร่
๔. อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา – เขาวง เนื้อที่ ๕๒,๓๐๐ ไร่
๕. อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น เนื้อที่ ๗๓,๗๒๙ ไร่ โดยมีหมู่บ้านรอบป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด จำนวน ๑๑๒ หมู่บ้าน ๒๓ ตำบล ๑๒ อำเภอ
ผลการดำเนินการ
- ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาอาชีพ และยกระดับรายได้ของราษฎร โครงการปลูกหม่อน - เลี้ยงไหม บ้านอ่างเตยตำบลท่าตะเกียบ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน ๒๕๒ ราย
- สมาชิกสามารถจำหน่ายผ้าไหมได้ เป็นเงิน ๒๗๖,๕๐๐ บาท
- เส้นไหมได้ เป็นเงิน ๒๐๔,๗๐๐บาท โครงการจักสานไม้ไผ่ บ้านชัยพัฒนา ตำบลทุ่งมหาเจริญ อำเภอวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้วจำนวน ๕๘ ราย
- สมาชิกขายผลิตภัณฑ์ เป็นจำนวนเงิน ๔๐๓,๐๐๐ บาท
- งานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การลาดตระเวนทางอากาศกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ จำนวน ๑๒ แปลงกล้าไม้ ๒๑๘,๘๐๐ ต้น เนื้อที่ ๑,๖๑๐ ไร่ การฟื้นฟูการดำเนินการสร้างฝายในพื้นที่จำนวน ๘๕ ฝาย
- ด้านความมั่นคง การป้องกันและปราบปราม (พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.๒๕๐๓) จับกุมจำนวน ๔๔ คดี (ผู้ต้องหา ๕๙ คน)
- ด้านการสร้างจิตสำนึก โครงการเสาธง ๕ นาทีกับป่ารอยต่อ ดำเนินการแล้ว ๔๐ โรงเรียนโครงการฝึกอบรมเยาวชนอาสาพิทักษ์ป่าและสิ่งแวดล้อม ๖๐๐ คน/ปี
- ใช้พารามอเตอร์ชนิด ๑ ที่นั่ง ในการสำรวจพื้นที่
ติดต่อสถานี
-
สำนักงานสถานีเกษตร
โทร : -
สำหรับจองที่พัก
โทร : -
ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว
โทร : -