พระราชดำริ ฝนหลวง
ที่มาการต่อยอดโครงการ : ประมวลพระบรมราโชวาทและข้อแนะนำทางเทคนิค (พ.ศ. ๒๕๒๑–๒๕๔๖) ด้วยความเอาพระทัยใส่และทรงติดตามพัฒนาการของโครงการพระราชดำริฝนหลวงโดยใกล้ชิดตลอดมา ได้ทรงพระราชทานพระบรมราโชวาทและข้อแนะนำทางเทคนิค รวมทั้งพระราชทานแนวทางและรูปแบบการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและการปฏิบัติการฝนหลวงเป็นแบบอย่างมาโดยตลอด ดังบางส่วนที่ประมวลมา ดังนี้ :
๑. พระปฐมบรมราโชวาทพระราชทานแก่คณะปฏิบัติการค้นคว้าทดลอง ณ ท่าอากาศยานหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒
๒. พระราชดำรัสพระราชทานแก่ชาวสวนจันทบุรี ณ ศาลาดุสิตาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๑๕
๓. พระบรมราโชวาทพระราชทานแด่รัฐมนตรีว่าการ ผู้บริหารและนักวิชาการฝนหลวงกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะทูตและผู้เชี่ยวชาญด้านการดัดแปรสภาพอากาศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๒๙
๔. พระบรมราโชวาทพระราชทานแด่ คณะนักวิทยาศาสตร์ของสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง และคณะนายทหารของกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกที่ร่วมในคณะปฏิบัติการฝนหลวงโครงการอีสานเขียว ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๔
๕. พระราชดำรัสพระราชทานแด่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยข้าราชการในสังกัด และคณะผู้เชี่ยวชาญสหรัฐอเมริกา ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๓๔
๖. พระราชกระแสพระราชทานแด่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นักบริหารในสังกัด นักวิทยาศาสตร์และนักบินของคณะปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง พุทธศักราช ๒๕๔๒ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๒
๗. พระราชกระแสพระราชทานแก่ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะผู้บริหารระดับสูงในสังกัด ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล เมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๔๔
๘. พระราชดำรัสพระราชทานแด่ ฯพณฯ องคมนตรีอำพล เสนาณรงค์ และ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคณะผู้เกี่ยวข้อง รวม ๓๑ นาย ในพระบรมราชวโรกาสที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการดัดแปรสภาพอากาศให้เกิดฝน เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๖ ณ ศาลาเริง พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เวลา ๑๘:๔๐–๑๘:๐๐ น.
๙. พระราชดำรัสพระราชทานแด่ ฯพณฯ องคมนตรีอำพล เสนาณรงค์ และคณะในพระบรมราชวโรกาสที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อกราบบังคมทูลถวายรายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับฝนหลวง ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๖ เวลา ๑๘:๐๐ - ๒๐:๓๐ น.
๑๐. ทรงบรรยายตำราฝนหลวงพระราชทานแก่นักเรียนโรงเรียนไกลกังวล ในรายการศึกษาทัศน์ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ณ ศูนย์ฝนหลวงหัวหิน ท่าอากาศยานหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ เวลา ๑๖:๑๓ น.
พระบรมราโชวาท พระราชดำรัส และพระราชกระแสที่ประมวลไว้ดังกล่าวข้างต้นไม่รวมกับพระราชกระแสและข้อแนะนำทางเทคนิคที่ได้พระราชทานไว้โดยตรงผ่านทางข่ายวิทยุสื่อสารตำรวจและโทรพิมพ์ แด่ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล และนักวิชาการฝนหลวงผู้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งยังมีอีกมากและมิได้นำมาประมวลไว้ ณ ที่นี้ประมวลพระบรมราโชวาทและข้อแนะนำทางเทคนิค (พ.ศ. ๒๕๑๒ – ๒๕๔๖)
๑. พระปฐมบรมราโชวาทแก่คณะปฏิบัติการค้นคว้าทดลอง ณ ท่าอากาศยานหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๒
(๑) การวิจัยและค้นคว้าทดลองเป็นสิ่งสำคัญต้องดำเนินการต่อเนื่องไปเพราะการวิจัยและพัฒนาไม่มีที่สิ้นสุด
(๒) อย่าท้อใจต่อข้อวิพากย์วิจารณ์ ให้มุ่งมั่นพัฒนาต่อไป
(๓) ให้รวบรวมผลปฏิบัติการและประสบการณ์แล้วบันทึกไว้เป็นเป็นตำราของคนรุ่นหลัง
๒. พระราชดำรัสพระราชทานแก่ชาวสวนจังหวัดจันทบุรี ณ ศาลาดุสิตาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๕ ตอนหนึ่งว่า …ท่านทั้งหลายก็เป็นประจักษ์พยานว่า การทำฝนเทียมได้ชุบชีวิตต้นไม้ ซึ่งมิฉะนั้นก็เสียหายไป
ฉะนั้น จึงเกิดความยินดีมากที่ท่านหลายได้มาพบกันในวันนี้ได้นำเงินมาสมทบในกิจการฝนเทียม และได้นำผลิตผลซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาให้ ความดีใจนี้มีหลายประการ อย่างหนึ่งก็ได้เห็นท่านทั้งหลายได้มีความสุขสบาย อีกอย่างหนึ่งก็ที่เห็นว่ากิจกรรมการมีผลดีและท่านทั้งหลายทราบดีก็ขอขอบใจท่านทั้งหลายที่ร่วมมือทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่ได้ร่วมมือในกิจการ และกำลังช่วยให้ประชาชนมีความสุขความเรียบร้อยทุกประการ ตามหน้าที่อันนี้นำความปลาบปลื้มแก่ข้าพเจ้าอย่างมาก ฉะนั้นก็ขอบขอบใจท่าน ทั้งหลายทุกฝ่าย ที่ได้ที่ได้ร่วมมืออย่างมีสามัคคีที่กระชับแน่นแฟ้นที่สุดเป็นทางที่ทำให้ท้องที่มีความเจริญมั่นคง และเมื่อท้องที่มีความเจริญมั่นคงแล้วประเทศย่อมอยู่ได้มีทางที่จะก้าวหน้าเพราะทุกคนร่วมมือกันทุกคนช่วยซึ่งกันและกัน…”
(ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการที่กลุ่มชาวสวนจังหวัดจันทบุรีและระยองได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานฝนหลวงช่วยเหลือสวนผลไม้ซึ่งประสบปัญหาแห้งแล้งรุนแรงในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕ สวนผลไม้ต้นเล็กและใหญ่แห้งตายไปแล้วนับหมื่นไร่ หากมิได้รับการช่วยเหลือผลไม้ที่กำลังติดผลจะเสียหายหมด และต้นจะแห้งตายเพิ่มมากขึ้น ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจนรอดพ้นความเสียหายโดยสิ้นเชิง ทรงมีพระราชกระแสว่า สวนผลไม้เป็นเศรษฐกิจที่สำคัญของทั้งสองจังหวัด ให้เอาใจใส่ช่วยเหลือ จึงมีการปฏิบัติการช่วยเหลือจังหวัดทั้งสองและจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกตามการร้องเรียนสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้)
๓. พระบรมราโชวาทพระราชทาน แด่รัฐมนตรีว่าการ ผู้บริหาร และนักวิชาการฝนหลวงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คณะฑูตและผู้เชี่ยวชาญด้านการดัดแปรสภาพอากาศสหรัฐอเมริกา ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๒๙ สรุปได้ดังนี้
(๑) ทรงเน้นความจำเป็นในด้านพัฒนาการ และการดำเนินการปรังปรุงวิธีการทำฝนในแนวทางการออกแบบ การปฏิบัติการและการติดตามประเมินผลทางวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น ตลอดจนความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อศึกษารูปแบบของเมฆ และการปฏิบัติการฝนหลวงให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ
(๒) ทรงย้ำถึงบทบาทของการดัดแปรสภาพอากาศหรือการทำฝนว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญอันหนึ่งในกระบวนการจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำ เช่นการเพิ่มปริมาณน้ำให้แก่แหล่งเก็บกักน้ำต่าง ๆ การบรรเทาปัญหามลภาวะ และการเพิ่มปริมาณน้ำเพื่อสาธารณูปโภค เป็นต้น
(๓) ทรงเน้นว่า ความร่วมมือประสานงานอย่างเต็มที่ระหว่างหน่วยงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเท่านั้นที่จะเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ ในอันที่จะทำให้บรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของโครงการได้
๔. พระบรมชาโชวาทพระราชทานแด่นักวิทยาศาสตร์ กรมวิทยาศาสตร์ทหารบกที่ร่วมในคณะปฏิบัติการฝนหลวงโครงการ อีสานเขียว ณ พระตำหนัก จิตรลดารโหฐาน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๐ พอสรุปได้ดังนี้
(๑) ทรงถ่ายทอดประสบการณ์ และข้อมูลที่ถูกต้องของที่มาของ โครงการพระราชดำริฝนหลวงนับตั้งแต่มูลเหตุ ความมั่นพระทัยในความเป็นไปได้ของการทำฝน การเริ่มต้นศึกษาวิจัยจนสามารถกำหนดข้อสมมติฐานในการค้นคว้าและทดลองการปฏิบัติการตามขั้นตอนและขบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยแท้จริงและอย่างเป็นระบบ และทรงฟื้นความทรงจำของนักวิทยา-ศาสตร์ฝนหลวงที่เข้าเฝ้าฯ ถึงข้อแนะนำทางเทคนิคและแผนปฏิบัติการที่เคยพระราชทานไว้ และเคยปฏิบัติการอย่างได้ผลมาแล้วให้นำมาถือปฏิบัติให้ครบถ้วนกระบวนการ
(๒) ทรงแนะนำเทคนิคและศิลปะในการวางแผนปฏิบัติการ การปรับแผนระหว่างปฏิบัติการ การปฏิบัติการตามวิธีและเทคโนโลยีฝนหลวง การนำเอาข้อมูลอุตุนิยมวิทยาใหญ่และอุตุนิยมวิทยาประจำถิ่นรวมทั้งสภาพภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมของพื้นที่เป้าหมายมาประกอบกับความรู้และประสบการณ์ในการวางแผน ทรงอธิบายถึงศิลปในการใช้เทคนิคในการทำฝน เช่น เทคนิคการงัดเมฆหรือยกเมฆให้เคลื่อนตัวออกจากภูเขาสู่ที่ราบ การกดหรือบังคับยอดเมฆมิให้ฟูขึ้นจนถูกลมตีแตกกระจายสลายไป การดึงหรือลดฐานเมฆให้ลดต่ำลงโดยการปรับอุณหภูมิของมวลอากาศใต้ฐานเมฆให้ต่ำลง เทคนิคในการชักนำเมฆให้เคลื่อนตัวเข้าหาพื้นที่เป้าหมายการโจมตีให้ฝนตกด้วย เทคนิคการโจมตีแบบแซนด์วิช เป็นต้น ทรงชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการปรับแผนปฏิบัติการที่เหมาะสมทันต่อเหตุการณ์ การเปลี่ยนพื้นที่เป้าหมายหวังผลให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงของสภาพเมฆหรือความจำเป็นทางเทคนิค เชื่อมั่นแม้ในสภาพอากาศหรือสภาพพื้นที่ที่ยากลำบากต่อการเกิดฝนธรรมชาติ หากได้มีการปฏิบัติการตามกรรมวิธีที่เคยปฏิบัติได้ผลมาแล้ว และศิลปะในการปรับแผนให้เหมาะสมกับสถานการณ์จะประสพผลสำเร็จ
(๓) ทรงแนะนำว่าการติดตามประเมินผลปฏิบัติการประจำวัน ควรดำเนินการอย่างฉับพลันและต่อเนื่อง ควรมีเจ้าหน้าที่ที่ทำงานด้านอุตุนิยมวิทยา เข้าไปประจำสังเกตการณ์อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อรายงานผลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลการปฏิบัติการนั้นมิใช่สิ้นสุดเมื่อหยุดปฏิบัติการในแต่ละวันเท่านั้น และต่อเนื่องไปถึงช่วงกลางคืน เพราะอาจยังมีอิทธิพลต่อเนื่องไปจนถึงวันรุ่งขึ้น ต้องส่งรายงานผลถึงศูนย์ปฏิบัติการภาคสนามอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยอาศัยข่ายสื่อสารของหน่วยงานต่าง ๆ ศูนย์ปฏิบัติการภาคสนามควรรวบรวมและสรุปรายงานถึงศูนย์อำนวยการฝนหลวงพิเศษและสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง ให้ได้ข้อมูลในเวลาประมาณ ๒๐:๐๐ น. ของวันนั้น ๆ เพื่อให้สามารถศึกษาวิเคราะห์ความได้ผลหรือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ประกอบการพิจารณาให้ข้อแนะนำแก้ไขทางเทคนิค และการวางแผนหรือปรับแผนให้ปฏิบัติการสำหรับวันรุ่งขึ้น
(๔) ทรงแนะนำด้านการบินปฏิบัติการ ทรงโปรดฯ ให้ฝ่ายวิชาการทำความเข้าใจกับฝ่ายการบิน ทั้งนักบินและผู้ปฏิบัติการบนอากาศยานในแผนปฏิบัติการประจำวันให้ชัดเจน รวมทั้งให้เรียนรู้จดจำสิ่งที่เป็นเครื่องหมาย เช่น ภูเขาในพื้นที่เป้าหมายเพื่อโปรยสารเคมีในตำแหน่งที่กำหนดได้อย่างถูกต้อง ทรงเห็นใจนักบินและผู้ปฏิบัติงานบนอากาศยานในสภาพอากาศยากลำบาก เหน็ดเหนื่อย และเสี่ยงภัย แต่ความสำเร็จที่ช่วยคลายทุกข์ยากของราษฎรคุ้มค่าต่อความเสียสละทั้งปวง
(๕) ทรงเน้นเรื่องการประสานงานและความร่วมมือที่ดีระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในภารกิจ ทั้งการประสานงานภายในหน่วยงาน และประสานงานกับหน่วยงานภายนอก ตามแนวทางที่ทรงเคยปฏิบัติเป็นแบบอย่างและที่เคยทรงแนะนำไว้
(๖) ทรงพอพระทัยและขอบใจเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ที่ร่วมใจกันปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษตามพระราชดำริช่วยเหลือราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างได้ผล ทรงห่วงใยต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติการที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีอยู่เป็นประจำ ทรงให้ผู้ปฏิบัติทุกฝ่ายเกิดความเชื่อมั่นในภารกิจที่กระทำอยู่ไม่ท้อถอย แม้ว่าสภาพอากาศจะยากลำบาก ปฏิบัติการ ๓-๔ วัน มีฝนตกด้วยปริมาณปานกลางปกคลุมพื้นที่เป้าหมาย เป็นบริเวณกว้างพอควร เพียงหนึ่งวันก็เกิดประโยชน์คุ้มค่าแล้ว ทรงให้เจ้าหน้าที่ทุกคนปฏิบัติงานอย่างมีความสุขและเริงร่า ขอให้ทุกคนได้เป็นนักรบใจมั่น พลันเริงร่า
๕. พระราชดำรัสพระราชทานแด่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยข้าราชการในสังกัด และคณะผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๓๔ สรุปได้ดังนี้
(๑) ทรงเน้นถึงความจำเป็นที่ต้องทำการวิจัยและพัฒนากรรมวิธีฝนหลวงขึ้นมาเพื่อแก้ไขสภาวะแห้งแล้งทรงเล่าถึงมูลเหตุที่ก่อให้เกิดโครงการพระราชดำริฝนหลวงขึ้นมา และทรงสรุปถึงความก้าวหน้าของการวิจัยและพัฒนาความสำเร็จในการปฏิบัติการ
(๒) ประเทศไทยประสบปัญหาทั้งน้ำท่วมและฝนแล้ง ในขณะเดียวกันขณะที่บางพื้นที่น้ำท่วมแต่บางแห่งประสบภาวะแห้งแล้งขาดแคลนน้ำต้องร้องเรียนของความช่วยเหลือ
(๓) เมื่อเกิดภาวะน้ำท่วมสร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาล ปริมาณน้ำดังกล่าวมิได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ถูกปล่อยให้ไหลลงสู่ทะเล ฉะนั้น การสร้างเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเพื่อเก็บกักน้ำเอาไว้ นอกจากจะป้องกันอุทกภัยแล้วยังสามารถปล่อยออกไปผลิตกระแสไฟฟ้า และจัดสรรเข้าสู่ระบบชลประทาน รวมทั้งทำให้ป่าไม้และการอนุรักษ์สัตว์ป่าในอาณาบริเวณลุ่มรับน้ำของอ่างเก็บน้ำเหล่านั้นอุดมสมบูรณ์อีกด้วย
(๔) การทำฝนในบริเวณพื้นที่ลุ่มรับน้ำของเขื่อน/อ่างเก็บน้ำนั้น ทำได้ง่ายกว่าการทำฝน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกโดยตรง เพราะพื้นที่ลุ่มรับน้ำกว้างใหญ่มีสภาพเป็นป่าไม้และเทือกเขา ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการตกของฝน แต่การปฏิบัติการทำฝนช่วยเหลือพื้นที่เกษตรกรรมยังมีความจำเป็น เพราะพื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่อยู่นอกเขตของระบบชลประทาน
(๕) การเก็บกักน้ำไว้ตามเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ ยิ่งมากเท่าใดยิ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ายิ่งขึ้นเท่านั้น นอกจากนั้น ปริมาณน้ำที่ปล่อยออกมากจากการผลิตไฟฟ้าเข้าสู่ระบบชลประทานจะช่วยลดพลังงานในการสูบน้ำเพื่อเกษตรกรรมอีกด้วย ปัญหาคือ จะมีวิธีการอย่างไรที่จะนำน้ำจากเขื่อนที่มีน้ำมากเกินระดับเก็บกักของเขื่อนหนึ่งไปยังอีกเขื่อนหนึ่งได้โดยไม่ใช้วิธีการสูบน้ำ นั่นคือ การทำฝนโดยใช้เทคนิคในการเคลื่อนย้ายกลุ่มเมฆฝนไปยังพื้นที่ที่ต้องการเพิ่มปริมาณฝน
(๖) การทำฝนนั้น ต้องมีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ มีการใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า การสร้างเขื่อน/อ่างเก็บน้ำ บริเวณเทือกเขา จะเป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันน้ำท่วม และการทำฝนในพื้นที่ลุ่มรับน้ำของเขื่อนจะสามารถหลีกเลี่ยงการเกิดปัญหาน้ำท่วมบริเวณพื้นที่ท้ายน้ำของเขื่อน
(๗) ไม่ใช่แต่เครื่องมือและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์เท่านั้น ต้องควรมีรายงานผลทุกวัน และรายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากกรมอุตุนิยมวิทยาด้วย
(๘) นักทำฝนนั้นต้องมีศิลป์ (Art) และวิญญาณ (Spirit) ของนักวิจัยด้วย ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล สามารถ
ใช้เครื่องบินเพียงเครื่องเดียวทำการโจมตีเมฆให้เกิดฝนตกได้ โดยครั้งแรกจะบินไปโปรยสารเคมีที่ระดับยอดหรือไหล่เมฆ แล้วลดระดับลงอย่างเร็วเพื่อโปรดน้ำแข็งแห้งที่ใต้ฐานเมฆ ปรัชญาของ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล คือ ปัญหาทุกเรื่องสามารถแก้ไขได้
(๙) เทคนิคการทำฝนของประเทศไทยนี้ ได้ถ่ายทอดให้กับประเทศต่าง ๆ นำไปใช้ปฏิบัติการโดยไม่คิดมูลค่าและเคยให้นักวิชาการฝนหลวงของไทยไปสาธิตการทำฝนให้แก่นักวิชาการในต่างประเทศด้วย
(๑๐) วิธีการทำฝนโดยสรุปคือ กระตุ้นให้เกิดการก่อตัวของเมฆจากพื้น (Upset) ทำให้เมฆหรือกลุ่มเมฆรวมตัวหนาแน่น (Fatten) แล้วบังคับให้ฝนตกลง (Attack)
(๑๑) การโปรยสารเคมีที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้การทำฝนล้มเหลวได้ ได้ใช้สารแคลเซี่ยมคลอไรด์โปรยเข้าไปในเมฆเหมือนทำระเบิดจะทำให้เมฆก่อตัวสูงขึ้น เมฆรอบ ๆ ข้างจะถูกเข้าไปรวมตัวกัน ลักษณะการโปรยสารเคมีจะบินเป็นวงกลมและพยายามโปรยทางด้านหลังของก้อนเมฆ
(๑๒) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรประสานกับกรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิต เพื่อให้เห็นความสำคัญของการทำฝนเพิ่มปริมาณน้ำให้กับเขื่อน/อ่างเก็บน้ำต่าง ๆ
๖. พระราชทานแด่ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์นักบริหารในสังกัด นักวิทยาศาสตร์และนักบินของคณะปฏิบัติ การฝนหลวงกู้ภัยแล้ง พ.ศ. ๒๕๔๒ ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๔๒ มีประเด็นที่พอสรุปได้ดังต่อไปนี้
(๑) ความเป็นมาของโครงการฝนหลวง
(๑.๑) การเริ่มต้นของฝนหลวงเริ่ม ปี ๒๔๙๘ ได้ไปเยี่ยมภาคอีสานและไปรู้ว่าแห้งแล้ง มีคนอดน้ำ ไม่มีน้ำบริโภค เงยหน้าดูฟ้า มีเมฆผ่านแต่ฝนไม่ตก ให้หม่อมเทพฤทธิ์ ไปคิด ไปถาม ไปสืบ ทั้งในประเทศและนอกประเทศ หายตัวไปนาน วันหนึ่ง มาบอกว่าทำได้แล้ว
- หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้ริเริ่ม เป็นบิดาฝนหลวง
- คุณเทพฤทธิ์ เสียสละทำฝน หูหนวกเพราะสูตร ๓ ปลิวเข้าหู แต่เวลาขึ้นบินมีความสุขมากบอกบินแล้วสบายหู หูไม่หนวก หูดี เพราะมีวิทยุเก่า ๆ วิทยุ F.M. ๕ เปิดเสียงดังมาก หม่อมเทพฤทธิ์ เคยบินผ่านที่หัวหิน ใช้วิทยุเรียก ก.ส.๙ บอกว่าสายรุ้งผ่านมา มีภารกิจอะไรบ้าง หม่อมเทพฤทธิ์ พูดไม่เคยมี ว.๖ ติดต่อตรงเลย สมัยนั้นเป็นการปฏิบัติที่ครึกครื้น
(๑.๒) สาธิตที่หัวหินเมื่อเกือบ ๔๐ ปีที่แล้ว นำเครื่องบินไปโปรย เมฆขึ้นแต่ฝนไม่ตก ต้องวิจัยต่อ แต่การก่อเมฆทำได้แล้ว ฟ้าไม่มีเมฆ ทำให้เมฆขึ้นมาได้ ครั้งนี้ (การปฏิบัติการฝนหลวงกู้ภัยแล้ง) ขอให้ลองทำ เกิดเมฆขึ้นมาได้ ถ้าจะเอาลงก็คงเอาลงได้
(๑.๓) ฝนหลวงพิเศษ เจ้าหน้าที่ฝนหลวงทำ ทางสวนจิตรฯ สนใจและช่วยค่าใช้จ่าย สำหรับการปฏิบัติการใช้เครื่องบินซึ่งไม่ใช่ของราชการ แต่มอบให้สำนักฝนหลวงหรือกองบินตำรวจ เช่น เครื่องปอร์ตเตอร์ เมื่อมีภารกิจก็มอบให้หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ ไปทำฝนหลวงพิเศษ เวลาส่งข่าวใช้ชื่อย่อว่า ฝลพ. ทำให้ได้ผลดี ไม่ต้องใช้เงินราชการ
(๑.๔) ต่อมาตั้งศูนย์ฝนหลวง ศฝล. ทำฝนหลวงเป็นประจำ ทำได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง บางครั้งมีคนของฝนมาโดยตรง ก็บอกไปทางกระทรวง กระทรวงก็ตอบสนองได้ดี
(๒) ประสบการณ์และความสำเร็จในอดีต
(๒.๑) อย่างที่ระยองสวนผลไม้แย่ ร้องขอมาที่กระทรวง กระทรวงส่งฝนหลวงไปภายใน ๓-๔ วัน สวนผลไม้ก็เติบโตได้ ไม่ตาย ชาวบ้านเอาผลไม้มากองให้ บอกว่าผลไม้ของท่าน ถ้าไม่ทำฝน ผลไม้เสียหายแน่
(๒.๒) ที่ตรัง ต้นยางตาย ส่งฝนหลวงไปทำ ภัยแล้งที่ตรังหายไป เมื่อก่อนเครื่องบินถูกผู้ก่อการร้ายยิงที่ตรัง คุณเทพฤทธิ์ ก็เก่งเอาวิทยุติดต่อกับเขาว่าเรามาทำฝนให้ ไม่ได้มาก่อกวนอะไร จึงเลิกยิง
(๒.๓) แถวลี้ มีฝนตกลงมาแล้วก็แห้งไป ขอฝนเทียม มีเครื่องบินวนไปวนมาไม่มีฝนก็ต่อว่ามา เลยวางแผนไป ปรากฏว่า ฝนหลวงไปทำฝนตกลงอ่างเก็บน้ำพอดี ใช้ได้ทั้งปีสบายไป ช่วยสวนลำไย
(๓) ภาพพจน์ของการดำเนินงานฝนหลวงในปัจจุบัน
(๓.๑) ฝนหลวงพิเศษเคยทำมา ๓๐ กว่าปีแล้ว ที่ผ่านมามีทั้งความเจริญขึ้น และความเสื่อม มาตอนหลังรู้สึกว่าไม่คอยได้ผล
(๓.๒) ระยะนี้ทำเหมือนเช้าชามเย็นชามมีความไม่เข้าใจกันระหว่างเจ้าหน้าที่ นักบิน และฝ่ายบริหาร
(๓.๓) ตอนแรกที่ทำ รู้สึกว่ายังมีความไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่ และความไม่เข้าใจในเทคนิคของฝนหลวงตอนแรกคิดว่าเข้าใจแต่ต่อมาก็เรื้อไป การเรื้อทำให้สิ้นเปลืองและไม่ได้ผล
(๔) การทำฝนต้องใช้เงิน ค่าวัสดุ และเรี่ยวแรง บางครั้งเป็นหมื่นเป็นแสน ถ้าทำแล้วไม่ได้ผลเป็นเรื่องน่าสลดมาก คนก็ติเตียน เช่น เมื่อก่อนทำฝนเทียมเหมือนผี ฝนแล้งก็เป็นผี น้ำท่วมก็เป็นผี ฝนเทียมก็เป็นผี ทำให้มีการพัฒนาขึ้นจนได้ผลดี
(๕) ทำฝนเทียมไม่ได้ผล ตอนหลังทราบว่าไม่มีวัสดุ ไม่มีงบประมาณบ้าง ไม่มีความรู้ ทำให้ทำฝนหลวงไม่ได้ผล
๔. ทรงเล่าถึงฝนหลวงพิเศษกู้ภัยแล้ง ปี ๒๕๔๒
(๑) ดีใจที่ (การปฏิบัติการฝนหลวงพิเศษกู้ภัยแล้ง) ครั้งนี้ได้ผล เข้าใจกันและทำงานได้ผลสำเร็จ
(๒) ครั้งแรกที่บอกไป เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม บินไปเชียงใหม่ เห็นมีเมฆเหมาะสม จึงแจ้งเจ้าหน้าที่
ให้ทำฝนหลวงช่วยปราบภัยแล้ง
(๓) ภัยแล้งเกิดขึ้นทำให้คนตกใจมาก ขวัญเสีย สื่อมวลชลทั้งไทยและต่างประเทศก็วิจารณ์ว่าถ้า เมืองไทย
เป็นอย่างนี้หลายเดือน เศรษฐกิจเมืองไทยแย่อยู่แล้ว ก็จะแย่ลงไปอีก จึงขอให้ทำฝนที่นครสวรรค์ กับที่พิษณุโลก
(๔) ตอนแรกที่ทำ รู้สึกว่ายังไม่เข้าใจของเจ้าหน้าที่ และความเข้าใจเทคนิคของฝนหลวง ซึ่งก็ไม่เข้าใจตอนแรกคิดว่าเข้าใจ แต่ต่อมาก็เรื้อไป การเรื้อทำให้สิ้นเปลืองและไม่ได้ผล
(๕) ดีใจที่คุณเมธา ยังแข็งแรง สามารถถ่ายทอดความคิดที่มีอยู่ในใจ แต่ไม่กล้าพูด เพราะออกไปนานแล้ว คราวนี้มาเป็นที่ปรึกษา คนนับถือ ก็ทำให้งานสำเร็จ
(๖) ครั้งนี้ได้ช่วยกันคิด ขึ้นทำตอนเช้ามืด ลงค่ำ กองทัพอากาศก็ช่วยเรื่องไฟสนามบิน แหวกแนวฝนหลวงพิเศษ ทำให้มีวิธีทำที่ดีขึ้น ทำให้มีการใช้สูตรต่าง ๆ ซึ่งปีหลัง ๆ หายไประเหิดไปก็ได้
(๗) สำหรับหน่วยอื่นของฝนหลวง จะไม่จ้ำจี้จ้ำไช เพราะเป็นฝนหลวงไม่พิเศษ
(๘) (ฝนหลวงพิเศษ) นี้ให้เป็นหน่วยวิจัย ต่อไปแยกย้ายกระจายไปหน่วยอื่น ก็จะได้นำประสบการณ์ที่ได้มาไปแนะนำหน่วยอื่นเข้าใจ เป็นอาจารย์แล้ว
(๙) งานที่ทำครั้งนี้ถือว่าน่าชื่นชมน่าปลื้มใจ ไม่ใช่เสียเงินเปล่า เสียแรงเปล่า เหน็ดเหนื่อยและเสี่ยง
(๑๐) ปีนี้ภัยแล้งของภัยแล้งไม่มี เพราะทำฝนหลวง
(๑๑) ปีนี้ไม่มีลูกเห็บ เพราะทำซุปเปอร์แซนด์วิช ทำให้ฝนตก
(๑๒) เดี๋ยวนี้มีคนสนใจมาก ออกทีวีบ่อยว่าได้ผล คนปลาบปลื้ม ฝรั่งก็ปลาบปลื้ม ให้เงินมาล้านบาท ไว้สำหรับทำฝนหลวง ถ้าต้องการวัสดุอะไรจะให้ คนสนใจมากขึ้น เราก็ต้องทำหน้าที่ให้ดี เพื่อให้ไม่เสียศรัทธาเขา
๕. เกร็ดความรู้เรื่องฝนเทียม
(๑) การทำฝนเขาเรียกว่า ดัดแปรสภาพอากาศ ไม่เรียก ฝนเทียม เพราะความจริงเป็นฝนธรรมชาติ ถ้ารู้จริงจะทำให้ไม่อันตรายและสิ่งที่ลงมาเป็นคุณ
(๒) ในหลายประเทศสมัย ๔๐-๕๐ ปี ใช้วิธีก่อไฟรอบ ๆ ๑๐๐ เมตร ใส่น้ำมันลงไปเป็นการทำ updraft ให้ลมขึ้น
(๓) อินเดียแดงก่อกองไฟใหญ่ มีการรำขอฝนรอบกองไฟ ร้องสูตร เอาเงิน เครื่องประดับที่เรี่ยไรมาจากพรรคพวกของเผ่า โยนลงกองไฟ ไฟแรงมากทำให้เงินละลาย และละเหิดขึ้นไปเป็นซิลเวอร์ไอโอไดด์ ขึ้นไปบนฟ้า หมอผีก็ได้รับรางวัล คือ ฝนลง
(๔) บ้องไฟขึ้นไประเบิดในเมฆฝรั่งก็มี เวลาอยากให้ฝนตกก็ยิงปืนใหญ่เข้าไปในเมฆ ก็เกิดฝน
(๖) อุตุนิยมวิทยาเคยประกาศว่ามีพายุฤดูร้อน พายุแรง ลมแรง มีฝนลงหนักเป็นแห่ง ๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจะมีลูกเห็บ สำหรับฝนหลวงควรมีภารกิจป้องกันลูกเห็บ ลูกเห็บเป็นอันตรายมากสำหรับด้านเกษตรกรรม ทำให้พืชผลเสียหายมาก คนบาดเจ็บ
(๗) ลูกเห็บมาจากการก่อกวน ตกเป็นฝน ถูกลมตีกลับขึ้นไปสูง ๒๐,๐๐๐ ฟุต มีอุณหภูมิเย็นมากแต่บินผ่านเข้าเมฆไม่มีลูกเห็บ เรียก Super Cooled เมฆมีอุณหภูมิต่ำกว่า ๐ องศา ซ. ตกลงมาเป็นเม็ดฝน เมื่อกระเด้งขึ้นไปเป็นลูกเห็บ ตกลงมาละลายเป็นฝน กระเด้งขึ้นไปเป็นลูกเห็บ มีขนาดใหญ่ขึ้น ตกลงมาไม่ละลายจนถึงพื้นบางทีเม็ดโตเท่าหัวแม่มือ
(๘) ลูกเห็บทำองุ่นแตก ฝรั่งยิงปืนขึ้นไป ลูกเห็บตกเป็นฝน เพราะเม็ดน้ำลงมาไม่ขึ้นไป ไม่เป็นลูกเห็บ เพราะละลายก่อน
(๙) ถ้าฝนหลวงไปทำก็เหมือนฝรั่งยิงปืนขึ้นไป ปีนี้ไทยไม่มีลูกเห็บ เพราะทำซุปเปอร์แซนด์วิช ทำให้ฝนตก
(๑๐) นักบินและเจ้าหน้าที่ต้องศึกษากลไกของอุตุนิยมวิทยา มีหนังสือเป็นตั้ง ๆ กระทรวงก็ควรมีหนังสือเรื่อง อุตุนิยมวิทยา
๖. เทคโนโลยีฝนหลวง
(๑) ฝนเกิดจากลมขึ้นลงในก้อนเมฆ ตามธรรมชาติก็เป็นเช่นนั้น
(๒) ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร จึงทำเป็นการ์ตูน ใส่กรอบไว้เพื่อที่จะเป็นหลักฐาน
(๓) เรามีสูตรสำคัญ ๔ สูตร สูตรรวมความชื้น สูตร ๑ ทำให้เกิดเม็ดฝน สูตรร้อน สูตร ๖ ทำให้เมฆเต้น สูตรทำให้ลง สูตร ๔ สูตร ๓ ทำให้เป็นฝน
(๔) ใครบอกไม่มีเมฆ ฝนหลวงไม่ต้องทำใส่สูตร ๔ สูตร ๖ และเกลือธรรมดา ก็ทำฝนได้ต้องศึกษา
(๕) สูตร ๓ สำคัญ ไม่ค่อยมีใครสนใจหลักอุตุนิยมวิทยา ฝนหรือลมเกิดจากความร้อน ความเย็น
- เมฆเกิดแล้วฝนไม่ลง เพราะความชื้นวนอยู่ในเมฆ ไม่ลง ต้องใช้สูตร ๔ ซึ่งโดนความชื้นเกิดอุณหภูมิ ๔ องศา เรียกอุณหภูมิ dew point ใส่ที่ฐานเมฆ เกิดเป็นเม็ดฝน หนัก ใช้สูตร ๓ ต่อ ก็จะลงทันที เทคโนโลยีเหล่านี้หายไปนาน จึงเตือนไปว่าควรคิดอย่างไร
- เหมือนตอนบินเข้าเมฆมีเม็ดฝนตกที่กระจกหน้าต่าง คิดว่าฝนลงแล้ว แต่ไม่ใช่ ต้องใช้สูตร ๓ ช่วยให้ฝนตกถึงพื้นดิน สูตร ๓ สำคัญ ไม่ค่อยมีใครสนใจหลักวิชาอุตุนิยมวิทยา ฝนหรือลมเกิดจากความร้อน ความเย็น
- เจ้าหน้าที่ฝนหลวงบอกฝนตกแน่ แต่ทราบจากการตรวจไม่มี ข้างล่างอุณหภูมิร้อน ต้องติดตามและควบคุมด้วยสูตรเย็น เคยทำ ฝนจะลงแต่ไม่ใส่สูตรเย็นก็หายไป
๗. เมฆเย็นและ Super Sandwich
(๑) เทคนิคใหม่ทำซิลเวอร์ไอโอไดด์อย่างเดียว เมฆก่อขึ้นมาแล้วใช้ซิลเวอร์ไอโอไดด์ มันก็ใหญ่ก็ลดลง
(๒) เป็นเทคโนโลยีของฝรั่งทำ ไทยไม่ได้ทำ ตอนแรกไม่สนับสนุนเพราะ (ซิลเวอร์ไอโอไดด์) แพงกว่าเกลือ แต่ตอนหลังทำ
(๓) ทำซุปเปอร์แซนด์วิช ใช้คิงแอร์ช่วยกดหัวลงไป มันก็ลง ฝนตกหนัก
๘. เทคนิคการวางแผนและปฏิบัติการ
(๑) ท่านเทพฤทธิ์ รายงานว่าทำอย่างนี้ อย่างนี้ ใช้สูตรนั้นสูตรนี้ ฝนไม่ตก หัวเสียมาก ตรวจสอบดูเห็นว่าทำแนวแรก แนวที่ ๒ หลังแนวแรก แนวที่ ๓ หลังแนวที่ ๒ แนวแรกเดินทางไปแล้ว แนวที่สองไล่ไม่ทัน บางครั้งเครื่องบินต้องกลับมาเติมน้ำมัน กลับไปก็ไม่ทันแล้ว ต้องรู้ความเร็วลม คาดคะเนว่าลมจะผ่านไปทางไหน