๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง

ที่มาการต่อยอดโครงการ :

เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๗ ณ พระที่นั่งดุสิตาลัยพระตำหนักจิตรดา ในความตอนหนึ่งว่า “…ที่พูดว่าทำกุ้งกุลาดำทำให้เกิดมลพิษ ถ้าทำไม่ดีทำอย่างแร้นแค้นจริง ทำให้ทะเลเป็นพิษ แต่เดี่ยวนี้มีวิธีทำให้กุ้งกุลาดำเป็นรายได้ และไม่เป็นมลพิษ ตรงกันข้าม จะทำให้ประเทศไทยสามารถที่จะส่งออกกุ้งกุลาดำ เป็นล่ำเป็นสันและมีคุณภาพสูง...” ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ได้ดำเนินการศึกษา ทดลอง วิจัย การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ในรูปแบบที่สามารถใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น ด้วยความเรียบง่าย และประหยัด เป็นที่ต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนั้นยังได้รวบรวมข้อมูลด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจากกรมประมง หน่วยงานราชการ และเอกชน มาทดสอบใช้ ก่อนจะส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้กับคนในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ และประชาชนที่สนใจ

เนื่องจากสภาพพื้นที่บริเวณรอบอ่าวคุ้งกระเบนเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเล ดังนั้นอาชีพที่เหมาะสม คือ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ จึงได้ส่งเสริมแนะนำวิธีการเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างถูกวิธี เพื่อให้ได้มาตรฐานการปฏิบัติการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (Good Aquaculture Practice) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐาน โค้ต ออฟ คอนดัก (Code of Conduct)


ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ได้ให้ความรู้แก่เกษตรกรอันเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่

(๑) การเตรียมบ่อ สภาพดินที่เหมาะสม คือ ดินเหนียวหรือดินปนทรายที่เก็บกักน้ำได้ มีสภาพเป็นกลาง คือ พีเอช ๗.๐ มีความอุดมสมบูรณ์พอควร คือ มีอินทรีย์สาร ๑.๕-๒.๐ % หรือ มีปริมาณอินทรีย์คาร์บอน ๑.๐๘ - ๑.๔๔ % มีอินทรีย์ไนโตรเจน ๐.๐๗๕-๐.๑ % ฟอสฟอรัส ประมาณ ๕๐ มก./กก. ของดิน หากดินในบ่อมีสภาพไม่เหมาะสม จำเป็นต้องมีการปรับปรุงดินในบ่อให้มีสภาพที่เหมาะสม โดยเฉพาะบ่อเก่าที่ใช้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมานาน ต้องมีการปรับปรุงบ่อที่ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถลดต้นทุนการผลิต เช่น การปรับปรุงดินโดยการไถพรวนดินก้นบ่อ เพื่อให้จุลินทรีย์สามารถย่อยอินทรีย์สารในดินมาเป็นปุ๋ยสำหรับสร้างห่วงโซ่อาหารขั้นต้นให้กับสัตว์น้ำ ทั้งนี้ วิธีการสังเกตคุณภาพดินอย่างง่าย คือ ดินที่มีอินทรีย์วัตถุมากจะมีสีดำ แต่หากดินมีอนินทรีย์วัตถุอยู่มากแล้วจะมีสีเทาหรือน้ำตาล ส่วนค่าความเป็นกรดเป็นด่างของดิน (ค่าพีเอช) สามารถวัดได้โดยนำดินมาผึ่งลมให้แห้ง และนำดินปริมาณ ๑๐ กรัม มาละลายในน้ำกลั่น (น้ำสะอาดที่มี พีเอช ๗) จำนวน ๒๐ มล. แล้ววัดพีเอชด้วยเครื่องพีเอชมิเตอร์หรือกระดาษลิสมาสตรวจวัด

(๒) การจัดการคุณภาพน้ำเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ น้ำที่เหมาะสมสำหรับเลี้ยงสัตว์น้ำทะเลควรมีอุณหภูมิ ๒๘ - ๒๙ องศาเซลเซียส พีเอช ประมาณ ๖.๕ - ๙.๐ มีปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำไม่ต่ำกว่า ๔ มก./ล. ของน้ำ ค่าความเป็นด่าง ๘๐ - ๑๕๐ มก./ล. ของน้ำ และมีค่าความโปร่งแสง (สีน้ำ) ๔๐ - ๕๐ เซนติเมตร

(๓) อาหารสัตว์น้ำ ผู้เลี้ยงควรศึกษาให้ทราบว่าสัตว์น้ำที่เลี้ยงมีพฤติกรรมการกินอาหารเป็นอย่างไร กินพืชหรือกินสัตว์ หรือกินได้ทั้งพืชและสัตว์ อายุของสัตว์น้ำ วัตถุประสงค์ของการเลี้ยง เช่น เลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร หรือเลี้ยงเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ผู้เลี้ยงสามารถเลือกชนิดอาหาร ปริมาณอาหารที่เหมาะสมและเพียงพอต่อสัตว์น้ำที่เลี้ยง จากการที่สัตว์น้ำกินอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ สุขภาพสัตว์น้ำจะแข็งแรงและมีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิต

(๔) การป้องกันและรักษาโรคสัตว์น้ำ หากผู้เลี้ยงสัตว์น้ำมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับชนิดและสาเหตุของโรคสัตว์น้ำที่เกิดขึ้น รวมทั้งทราบถึงวิธีการป้องกันและรักษาโรคสัตว์น้ำ ก็จะช่วยให้การดำเนินธุรกิจบรรลุเป้าหมาย ซึ่งปัจจัย ๓ ประการที่ควรคำนึงถึง คือ สุขภาพสัตว์น้ำต้องแข็งแรง คุณภาพน้ำและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมไม่เป็นพิษต่อสัตว์น้ำ และไม่มีการปนเปื้อนของปรสิตหรือพยาธิ คือ มีสุขอนามัยภายในฟาร์มที่สะอาด โดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ได้มีคลินิกบริการตรวจวิเคราะห์น้ำ รวมทั้งตรวจหาปรสิตในน้ำและในสัตว์น้ำให้กับเกษตรกร

(๕) การใช้ยาและสารเคมี เกษตรกรควรคำนึงถึงการลดการใช้ยาและสารเคมี เพื่อป้องกันสารเคมีตกค้างในสัตว์น้ำ และใช้วิธีป้องกันโดยการดูแลสุขภาพสัตว์น้ำ การให้อาหาร การจัดการคุณภาพน้ำและดิน แต่ถ้าจำเป็นต้องใช้ยาและสารเคมี ควรใช้สารเคมีพื้นฐานในกลุ่มที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น การใช้เกลือแกงที่ความเข้มข้น ๐.๑% สำหรับลดความเครียดในระหว่างการขนส่ง แต่หากต้องการควบคุมปรสิตภายนอกจะใช้เกลือแกงที่ความเข้มข้น ๐.๓ - ๐.๕% หรือใช้สารเคมีจำพวกฟอร์มาลินที่ความเข้มข้น ๑๐๐ - ๒๐๐ ส่วนต่อน้ำล้านส่วน โดยแช่นาน ๓๐ นาที – ๑ ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับความแข็งแรง อายุ และชนิดของสัตว์น้ำ ส่วนโพวิโดไอโอดีนใช้สำหรับฆ่าเชื่อจุลินทรีย์ในน้ำ นอกจากนั้นมีการใช้สมุนไพรพื้นบ้าน เช่น บอระเพ็ด

(๖) ระบบการเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อให้กิจกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและมีการจัดการการเลี้ยงที่ดี ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ได้ส่งเสริมและสาธิตการเลี้ยงสัตว์น้ำด้วยระบบบำบัดน้ำที่ทำให้สามารถนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งระบบนี้เหมาะสมกับการเลี้ยงสัตว์น้ำแบบหนาแน่นโดยเฉพาะการเลี้ยงกุ้งทะเล ทั้งนี้ โดยมีการแบ่งพื้นที่การเลี้ยงออกเป็น ๓ ส่วน คือ ส่วนที่ ๑ เป็นบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำแบบหนาแน่น ส่วนที่ ๒ เป็นบ่อตกตะกอน และลดแพลงก์ตอนในน้ำ โดยเลี้ยงหอยนางรม หรือ หอยแมลงภู่ ส่วนที่ ๓ เป็นบ่อลดปริมาณธาตุอาหารในน้ำ โดยใช้สาหร่ายทะเลที่ใช้ประโยชน์ได้ เช่น สาหร่ายกลุ่มสีแดง เช่น สาหร่ายผมนาง (Gracilaria fisheri) สาหร่ายโพรง (Solierlia robusta) และสาหร่ายสีเขียว เช่น สาหร่ายพวงองุ่น (Caulerpa sp.) สาหร่ายไส่ไก่ (Ulva intestinalis) สาหร่ายผักกาด (Ulva rigida) ซึ่งสาหร่ายเหล่านี้สามารถแปรรูปเป็นอาหารสำหรับบริโภคได้ เช่น น้ำสาหร่ายตากแห้ง ยำสาหร่าย สาหร่ายชุบแป้งทอด เมื่อน้ำได้รับการบำบัดจากส่วนที่ ๓ แล้ว ก็จะถูกส่งกลับส่วนที่ ๑ อีกครั้ง และน้ำจากส่วนที่ ๑ ที่มีอินทรีย์สารมาก ก็จะถูกส่งหมุนเวียนกลับไปในแต่ละบ่อตามลำดับ

(๗) ชนิดสัตว์น้ำที่เลี้ยง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ได้สาธิตและส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำหลายประเภทที่ตลาดมีความต้องการสูง เช่น การเลี้ยงกุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วย กุ้งแวนาไมต์ ปลาเก๋า ปลากะพงขาว ปลาดุกทะเล และหอยหวาน ซึ่งสัตว์น้ำในกลุ่มนี้มีต้นทุนผันแปรค่าลูกพันธุ์ และค่าอาหารสูง เพราะกินเนื้อสัตว์เป็นอาหารดังนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงจึงควรมีความชำนาญต่อการเลี้ยงสูง และต้องสามารถ วางแผนการจัดการฟาร์มได้ดีจึงจะประสบความสำเร็จ สำหรับกลุ่มสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่มีการส่งเสริมรองลงมา คือ สัตว์น้ำในกลุ่มกินพืชเป็นอาหาร เช่น การเลี้ยงปลานวลจันทะเล ปลากระบอก ปลาทับทิม หอยเป๋าฮื้อ หอยนางรม หอยแมลงภู่ หอยแครง จึงเหมาะสมสำหรับเกษตรกรที่มีเงินทุนไม่มากนักและทำธุรกิจการเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อพออยู่พอกินในรูปแบบการเลี้ยงแบบผสมผสาน โดยอาจเลี้ยงร่วมกับสาหร่ายทะเล นอกจากนี้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ยังได้มีการสาธิตการเพาะและอนุบาลปลาการ์ตูน ซึ่งเป็นการส่งเสริมการทำธุรกิจปลาสวยงามด้วย

(๘) การบันทึกข้อมูลการเลี้ยงและการทำบัญชีฟาร์ม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ได้ส่งเสริมให้เกษตรกรจัดทำสมุดคู่มือการเลี้ยงสัตว์น้ำในฟาร์มของตนเอง เพื่อให้เกษตรกรสามารถพัฒนาการเลี้ยงสัตว์น้ำในฟาร์มของตนให้ดีขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้มีการทำบัญชีฟาร์มเพื่อให้ทราบถึงต้นทุนและกำไรจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในแต่ละรุ่น และสามารถใช้เป็นข้อมูลวางแผนการผลิตสัตว์น้ำในรุ่นต่อไป ว่าควรจะผลิตในปริมาณเท่าไร เพื่อไม่ให้มีผลผลิตสัตว์น้ำในตลาดชนิดนั้นมากเกินไป ซึ่งจะทำให้ราคาตกต่ำจนอาจประสบกับภาวการณ์ขาดทุนได้