ปอดเมืองใหญ่
ที่มาการต่อยอดโครงการ :
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรการดำเนินงานในพื้นที่กระเพาะหมูรวม ๔ ครั้ง ดังนี้
๑) เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตร สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ตำบลบางกะเจ้า และมีพระราชดำริ ดังนี้
“พื้นที่ที่มิได้จัดซื้อไว้ควรขอความร่วมมือจากราษฎรในพื้นที่ ให้ช่วยอนุรักษ์เป็นพื้นที่สีเขียวเอาไว้ อย่าให้มีการก่อสร้างเพิ่มจนเกินที่กฎหมายกำหนด”
“ควรส่งเสริมให้มีการปลูกพืชเกษตรและป่าไม้แบบผสมผสาน เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ มะพร้าว”
“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรต้องการให้มาขี่จักรยานชมสวน เพราะทราบว่าสวนศรีนครเขื่อนขันธ์นี้มีเส้นทางจักรยานสวยงาม และชมทัศนียภาพตามร่องสวนชาวบ้านเป็นระยะทางยาว”
“ตั้งใจจะมาเยี่ยมสวนศรีฯ โดยเฉพาะขี่จักรยาน พายเรือคะยัก และชมหอดูนก”
“การฟื้นฟูและซ่อมแซมสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ขอให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันวางแผน เอื้อประโยชน์เท่าที่จำเป็นต่อการท่องเที่ยวและการศึกษาของเยาวชนคล้ายห้องเรียนธรรมชาติ”
๒) เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตร สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ตำบลบางกะเจ้า และมีพระราชดำริดังนี้
“อยากให้ช่วยกันปลูกต้นไม้สำคัญๆ โดยร่วมกันหลายๆ ฝ่าย หลายๆกิจกรรม เช่น เดิน/วิ่งการกุศล แล้วมาร่วมกันปลูกต้นไม้ จะได้สบายกายสบายใจ”
“พื้นที่รกร้างว่างเปล่า ควรชักชวนชาวบ้านให้ช่วยทำความสะอาด แล้วปลูกต้นไม้เสริมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ Eco-tourism หรือปลูกไม้ผล เช่น ต้นอำพะวา จิก มะม่วง ชมพู่มะเหมี่ยว มะกอก ตะลิงปลิง กล้วย มะพร้าว”
“ไม่อยากให้ปลูกพันธุ์ไม้ชนิดเดียวเป็น Monocrop แต่อยากให้ปลูกแบบผสมผสาน ทั้งไม้ป่าดั้งเดิมและไม้ผลเหมือนกับจังหวัดสมุทรสงคราม”
“กรมป่าไม้ช่วยเพาะกล้าไม้ส่งเสริมให้ชาวบ้านช่วยปลูกในวาระต่างๆ เน้นชนิดไม้ใต้ร่มและปลูกหลายๆ ชั้นเรือนยอด”
“อย่ารังแกชาวบ้าน ต้องช่วยเหลือคนที่เดือดร้อน ชาวบ้านต้องช่วยเราปลูกต้นไม้ จะปลูกเป็นผักสวนครัว รั้วกินได้ก็ได้....แต่อย่าตัดต้นไม้ใหญ่”
“ให้นำระบบ GIS มากำกับทุกแปลงที่จัดซื้อไว้ และหาทางป้องกันการบุกรุก”
๓) เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๑ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตร สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ตำบลทรงคนอง และมีพระราชดำริ ดังนี้
“พื้นที่สวนสาธารณะให้พิจารณาปลูกต้นไม้ให้ร่มเงาให้มากกว่านี้โดยเฉพาะ ส่วนที่เป็นที่ว่าง ควรปลูกต้นไม้แทรกลงไป ไม้ที่ควรนำมาปลูกน่าจะเป็นไม้ยืนต้นหรือไม้ผลที่มีชื่อเสียงของท้องถิ่น”
“โครงการฯ ควรพิจารณาเพาะกล้าไม้ เพื่อแจกจ่ายให้มากขึ้น”
“โครงการฯ ควรเน้นการดำเนินการในลักษณะที่แตกต่างจากพื้นที่อื่น และให้ชักจูงชาวบ้านเข้าร่วมโครงการให้มาก”
“ให้รักษาสภาพแวดล้อมโดยรอบบริเวณนี้ ห้ามตัดไม้ใหญ่ เพื่อการอนุรักษ์สมบัติของประชาชน รวมทั้งควรส่งเสริมให้ปลูกไม้ผล”
๔) และเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๑ เสด็จฯ ไปทอดพระเนตร สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ตำบลบางกะเจ้า
ผลการดำเนินงาน
พื้นที่ “บริเวณกระเพาะหมู” มีเนื้อที่ ๑๑,๘๑๙ ไร่ ลักษณะคล้ายกระเพาะหมูมีแม่น้ำเจ้าพระยา ล้อมรอบอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ประกอบด้วยตำบล ๖ ตำบล ได้แก่ ตำบลทรงคนอง ตำบลบางกระสอบ ตำบลบางยอ ตำบลบางน้ำผึ้งตำบลบางกอบัว และ ตำบลบางกะเจ้า ปัจจุบันมีประชากรประมาณ ๔๐,๐๐๐ คน ส่วนหนึ่ง มีเชื้อสายมอญ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้าง และการเกษตร
เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๒๐ คณะรัฐมนตรีมีมติให้อนุรักษ์พื้นที่สีเขียวบริเวณบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ และต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๓๔ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติอนุมัติโครงการสวนกลางมหานคร ระยะเวลาการดำเนินการ ตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ -๒๕๔๒ ดำเนินการจัดทำเป็นพื้นที่สีเขียวและตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืนในท้องที่บริเวณบางกะเจ้า มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายตั้งแต่วันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๓๔ ถึงวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๓๖ และมอบให้สำนักงานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นหน่วยงานดำเนินการ
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ซื้อที่ดิน รวม ๕๖๔ แปลง เนื้อที่ประมาณ ๑,๒๗๖ ไร่ กระจายอยู่ทั่วบริเวณกระเพาะหมูโดยเฉพาะพื้นที่ตำบลทรงคะนอง และได้ก่อสร้างสวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติ เนื้อที่ ๑๔๘ ไร่ ในพื้นที่ตำบลบางกะเจ้า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานชื่อว่า “ศรีนครเขื่อนขันธ์” ซึ่งหมายถึงสวนสาธารณะที่เป็นศรีแก่เมืองนครเขื่อนขันธ์ (ชื่อเดิมของพระประแดง)