๒๐ กันยายน ๒๕๖๗

การกำจัดขยะด้วยการทำปุ๋ยหมัก

ที่มาการต่อยอดโครงการ :

การกำจัดขยะและน้ำเสียตามแนวพระราชดำริ ในโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยใช้หลัก“กลไกธรรมชาติ ช่วยธรรมชาติ ใช้เทคโนโลยีที่สร้างได้ง่าย และประหยัด” ดังพระราชดำรัสว่า

“...ปัญหาสำคัญ คือ เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องน้ำเสียและขยะ ได้ศึกษามาแล้วเหมือนกัน ทำไม่ยากนัก ในทางเทคโนโลยีทำได้ แล้วในเมืองไทยเองก็ทำได้...”

การทำปุ๋ยหมักจากขยะด้วยกล่องคอนกรีต

หลักการ การใช้จุลินทรีย์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในขยะมูลฝอยชุมชนช่วยย่อยสลายสารอินทรีย์จากขยะ การย่อยสลายง่ายนี้ เรานำหลักการมาทำปุ๋ยหมัก โดยการหมักขยะที่คัดแยกแล้ว ออกเป็น ๓ ชั้น แต่ละชั้นใส่ดินนาขั้น หมักไว้ประมาณ ๓๐ วัน ก็จะได้ปุ๋ยหมัก

การกำจัดขยะด้วยวิธีการทำปุ๋ยหมักในกล่องคอนกรีตเป็นการกำจัดขยะแบบง่ายๆ ด้วยวิธีธรรมชาติ ช่วยธรรมชาติ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ การทำปุ๋ยหมักด้วยกล่องคอนกรีต ชุมชนและครัวเรือนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ไม่ยาก เริ่มด้วยการเลือกพื้นที่ที่เหมาะสม ด้วยการตั้งกล่องคอนกรีต จะต้องไม่ก่อปัญหาด้านกลิ่น และการซึมของน้ำ..ขยะ จากนั้นก่ออิฐสร้างกล่องคอนกรีตขนาด กว้าง ๒×๓ เมตร สูง ๑.๕ เมตร ซึ่งจะหมักขยะได้ ๖ ลูกบาศก์เมตร หรือ ๒,๐๐๐ กิโลกรัม หรือชุมชนที่ประสบปัญหาด้านขยะที่มีประชากร ตั้งแต่ ๖๐๐ คนขึ้นไป พื้นกล่องเทปูนให้มีความลาดเอียงในอัตราส่วน ๑:๑๐๐๐ เพื่อระบายน้ำจากขยะสู่รางรับน้ำ ขยะที่จะหมักต้องมีการแยกขยะด้วย ยิ่งแยกส่วนที่ย่อยสลายยากออก จำนวนวันที่ใช้หมักขยะก็น้อยลงเท่านั้น (ขยะที่ย่อยสลายยาก เช่น ไม้ พลาสติก ยาง แก้ว ซึ่งนำไปขายรีไซเคิลได้ ส่วนขยะอันตรายก็ต้องไปฝังกลบตามวิธีที่ถูกต้อง)

การหมักขยะเริ่มด้วยการใส่ทรายละเอียด หนา ๒๐ เซนติเมตร เพื่อเป็นตัวกรองน้ำเสีย ใส่ขยะประมาณ ๒๐ เข็ง (เข็งไม้ไผ่) หรือ ๖๐ กิโลกรัม เกลี่ยให้ทั่วแล้วใช้คนขึ้นเหยียบ จากนั้นเอาดินแดงหรือ ดินนาโรยใส่ หนา ๓-๕ เซนติเมตร พวกธาตุเหล็ก หรือไนเตรสในดินจะออกมารับอิเล็กตรอนที่เกิดจากการ ย่อยสลายของจุลินทรีย์ในขยะ ทำให้การย่อยสลายสมบูรณ์ ดินที่ทับยังช่วยกลบกลิ่นเหม็นของขยะด้วย ถ้าขยะไม่เพียงพอต้องกลบดินภายใน ๓ วัน

การที่ไม่มีตัวรับอิเล็กตรอน พิสูจน์ได้ว่าขยะที่อยู่นั้นเหมือนผักดอง ไม่ยอมย่อยสลายง่ายๆ การฝังกลบแบบเดิมๆ จึงไม่สามารถกำจัดขยะได้ ขนาดของกองขยะจึงมีขนาดใหญ่ขึ้น ผู้บริหารเมืองและชุมชน จึงหาที่ฝังกลบขยะแบบไม่รู้จบ การหมักขยะเป็นชั้นๆ จะทำให้ขยะย่อยสลายดี และเทคนิคอีกอย่าง คือ ต้องรดน้ำ ๖๐ ลิตร ทุกๆ ๗ วัน เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่น และลดปริมาณความร้อนที่เกิดจากการย่อยสลาย ซึ่งจะทำให้จุลินทรีย์ทำงานดีขึ้น ถ้ามีการแยกขยะอย่างดี การย่อยสลายใช้เวลา ๓๐ วันเท่านั้น แต่ถ้าแยกไม่ดี หรือไม่แยกจะใช้เวลา ๙๐ วัน แต่ถ้าฝังดินด้วยจะใช้เวลา ๒๒ วัน โดยไม่ต้องรดน้ำ ปุ๋ยหมักที่ได้มีธาตุอาหารในสัดส่วน N:P:R=๒๐:๑:๑ มีจุลินทรีย์และสัตว์ขนาดเล็กที่ไม่เป็นอันตราย เหมาะสำหรับ นำไปใช้ปลูกพืช ผักสวนครัว และไม้ผลได้ดี