๒๐ กันยายน ๒๕๖๗

เส้นทางเกลือ

ที่มาการต่อยอดโครงการ :

“ ให้พิจารณาแก้ไขปัญหาของการขาดสารไอโอดีนของราษฎรโดยการสำรวจ พื้นที่ในแต่ละพื้นที่ถึงปัญหา และความต้องการเกลือซึ่งแต่ละท้องถิ่นจะมีปัญหาและความต้องการไม่เหมือนกันโดนเฉพาะต้องสำรวจ “เส้นทางเกลือ” ว่าผลิตจากแหล่งใดก็น่าที่จะนำเอาไอโอดีนไปผสมกับแหล่งผลิตต้นทางเกลือเสียเลยทีเดียว ” พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมชมกิจกรรมของวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๓๖ พระองค์ทรงพบว่า ราษฎรในพื้นที่ต่างๆ ทางภาคเหนือและภาคอีสาน มีปัญหาการขาดสารไอโอดีนจนเกิดเป็นโรคคอพอกเป็นจำนวนมาก และได้เข้ารับการรักษาจากคณะแพทย์หลวงที่ตามเสด็จพระองค์อยู่เสมอ ทำให้พระองค์ ทรงสนพระราชหฤทัยในการแก้ไขโรคขาดสารไอโอดีนเป็นอย่างมาก โดยได้ทรงเสด็จฯ ไปเยี่ยมชมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ และทอดพระเนตรการสาธิตการทำงานของเครื่องผสมเกลือไอโอดีน ซึ่งทางมหาวิทยาลัยฯ ได้ผลิตและน้อมเกล้าฯ ถวายซึ่งต่อมา พระองค์ได้พระราชทานต่อให้กับจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือ ที่ราษฎรประสบกับปัญหาการขาดสารไอโอดีน พร้อมทั้งได้พระราชทานพระราชแนวพระราชดำริเกี่ยวกับเส้นทางเกลือไว้ดังนี้

•ศึกษาและหาแนวทางแก้ไขปัญหาการขาดสารไอโอดีนตั้งเริ่มจากแหล่งผลิตจนถึงผู้บริโภค

•นำไอโอดีนไปผสมกับแหล่งผลิตหรือแหล่งจัดจำหน่าย

•พื้นที่ที่ไม่สามารถเติมไอโอดีนที่แหล่งต้นทางได้ ก็นำเครื่องผสมไอโอดีนไปให้บริการในลักษณะของการบริการแบบเคลื่อนที่

•ทรงกำหนดให้อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอำเภอต้นแบบของการศึกษาและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสารไอโอดีน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงกำหนดให้ใช้อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นอำเภอต้นแบบในการศึกษาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสารไอโอดีนว่ามี “เส้นทางเกลือ” มาจากแหล่งใด ผลการสำรวจ “เส้นทางเกลือ” ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๓๖ เป็นต้นมาสรุปได้ว่า เกลือที่ผสมไอโอดีนส่วนใหญ่เป็นเกลือป่น ส่วนเกลือที่ไม่ได้ผสมสารไอโอดีนเพิ่มเข้าไปจะมีทั้งเกลือป่นและเกลือเม็ด เกลือป่นส่วนใหญ่เป็นเกลือสินเธาว์จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเกลือเม็ดส่วนใหญ่เป็นเกลือสมุทรจากสมุทรสงคราม สมุทรสาครและเพชรบุรี โดยมีเส้นทางเกลือที่สำคัญ รวม ๔ เส้นทาง คือ ส่วนที่ ๑ จากจังหวัดสมุทรสาคร ส่งไปยังตัวเมืองเชียงใหม่ และส่งขายต่อร้านค้าย่อยในอำเภอ สะเมิง ส่วนที่ ๒ พ่อค้าเชียงใหม่ซื้อตรงจากสมุทรสาคร มาบรรจุใส่ซองนำขึ้นรถปิกอัพเร่ขายในอำเภอสะเมิงและพื้นที่ใกล้เคียง ส่วนที่ ๓ พ่อค้าจากมหาสารคาม ซื้อเกลือสินเธาว์ป่น จังหวัดอุดรธานี และสกลนคร มาบรรจุซองส่งขายถึงเชียงใหม่ และเข้าสู่อำเภอสะเมิงในที่สุด ส่วนที่ ๔ จากกรุงเทพมหานคร โดยพ่อค้ารายใหญ่จัดส่งไปขายที่เชียงใหม่และแถบใกล้เคียงโดย ใช้เกลือสมุทรธรรมดา การศึกษาถึงแหล่งที่มาของเกลือตามแนวพระราชดำรินี้ ช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาการขาดสารอาหารของประชาชนได้ ด้วยการเติมสารไอโอดีนยังแหล่งต้นทางการผลิตเกลือ ก่อนที่จะกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆของประเทศ

วิธีการผลิตเกลือเสริมไอโอดีนหรือเกลืออนามัย

โดยปกติแล้วคนเราต้องการธาตุไอโอดีนวันลประมาณ ๑๐๐-๑๕๐ ไมโครกรัมในปริมาณเกลือที่บริโภคต่อวัน เฉลี่ย ๕.๔ กรัม

อัตราส่วนเกลือไอโอดีน

ต้องใช้ปริมาณไอโอเดทที่เสริมในเกลืออัตราส่วน ๑:๒๐,๐๐๐ โดยน้ำหนัก

เกลือ ๑ กิโลกรัม ต้องเสริมโปแตสเซียมไอโอเดท ๕๐ มิลลิกรัม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับไอโอดีนวันละ ๑๕๐ ไมโครกรัมต่อคนต่อวัน

โปแตสเซียมไอโอเดท ๑ กิโลกรัม ผสมเกลือได้ ๑๘ ตัน ซึ่งมีหลายวิธีการ ดังนี้

การเสริมไอโอดีนในเกลือโดยใช้วิธีผสมเปียก

โดยการใช้ผงไอโอเดทปริมาณ ๒๕ กรัม ผสมกับน้ำจำนวน ๑ ลิตร ซึ่งผลการ

ทดลอง ของวิทยาลัยเทคนิคสกลนครสามารถผลิตเกลือผสมไอโอดีนได้ครั้งละ ๖๐ กิโลกรัม โดยการพ่นฉีด

การเสริมเกลือไอโอดีนแบบผสมแห้ง

เป็นเครื่องผสมเกลือไอโอดีนที่ดำเนินการได้ง่ายและมีประสิทธิภาพสูงโดยใช้วิธีผสมแห้งและใช้หลักการทำงานของเครื่องผสมทรายหล่อ และหลักการทำงานของเครื่องไซโลผสมอาหารสัตว์มาเป็นการทำงานของเครื่องผสม เกลือไอโอดีน ซึ่งใช้สะดวก กะทัดรัด ประหยัด ผสมได้ครั้งละ ๖๐ กิโลกรัม โดยใช้ใบกวนหมุนภายในถังที่ตรึงอยู่กับที่ โดยให้ความเร็วของการหมุนใบกวนสัมพันธ์กับลักษณะของใบกวนที่วางใบให้

เป็นมุม เอียง เพื่อให้เกลือไหลและเกิดการพลิกตลอดเวลา ใช้เวลาในการคลุก ๒ นาที โดยการหมุนทวนเข็มนาฬิกา ในกรณีที่มีความประสงค์จะผสมเกลือไอโอดีนด้วยตนเอง ก็สามรถทำได้ในอัตราส่วนดังกล่าว โดยใช้กระบะและไม้พายผสมโดยใช้แรงคนใช้เวลาผสมประมาณ ๒๐ - ๓๐ นาที หรือนานกว่าจึงจะได้ส่วนผสม

ที่ใช้การได้

“เส้นทางเกลือ” จึงนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรผู้ทรงห่วงใยในทุกวิถีแห่งการดำรงชีพของมวลพสกนิกรทั้งหลายโดยแท้