ป่าเปียกหรือภูเขาป่า
ที่มาการต่อยอดโครงการ :
ในการฟื้นฟูสภาพป่าไม้บนภูเขาในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ซึ่งเป็นภูเขาโดดๆ มิใช่เทือกเขา ขาดแหล่งน้ำในพื้นที่ด้านบนภูเขา การปลูกต้นไม้ขึ้นมาใหม่โดยปลูกกระจายให้เต็มพื้นที่ของภูเขาเป็นเรื่องที่กระทำได้ยากเนื่องจากขาดความชุ่มชื้น ซึ่งเมื่อวันที่ ๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นอกจากมีพระราชดำริ ให้สร้างฝายชะลอความชุมชื้นตามร่องน้ำบนภูเขา เพื่อสร้างความชุ่มชื้นในสองฝั่งของร่องน้ำแล้ว ยังมีพระราชดำริให้ปลูกป่าด้วยระบบ “ ป่าเปียก ” หรือ “ ภูเขาป่า ” ความตอนหนึ่งว่า
“......การปลูกป่าบนภูเขาต่าง ๆ ในพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ควรดำเนินการโดยวิธีที่เรียกว่า “ป่าเปียก” หรืออาจเรียกว่า “ภูเขาป่า” ก็ได้ แต่ในปัจจุบันฝนตกน้อย จึงจำเป็นต้องจัดสร้างระบบส่งน้ำด้วยวิธีสูบน้ำขึ้นไปพักในบ่อพักน้ำบนภูเขา แล้วทำระบบกระจายน้ำช่วยการปลูกป่าแบบกึ่งถาวร คือประมาณ ๓-๔ ปี เมื่อไม้โตพอสมควรก็จะมีความชุ่มชื้นและจะช่วยดูดความชื้นจากธรรมชาติด้วย จากนั้นจึงย้ายระบบส่งน้ำดังกล่าวไปช่วยพื้นที่ใหม่ต่อไปอีก.......”
ซึ่งในครั้งแรกได้เริ่มดำเนินการตามพระราชดำริ ในพื้นที่ของเขาเสวยกะปิ โดยได้จัดตั้งสถานีสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สูบน้ำจากระบบชลประทานของระบบเครือข่ายอ่างเก็บน้ำส่งขึ้นไปบนเขาเสวยกะปิในระดับที่สูงที่สุดเท่าที่จะสามารถส่งน้ำขึ้นไปได้ และได้สร้างบ่อพักน้ำไว้ ณ จุดที่สามารถส่งน้ำขึ้นไปถึงพร้อมกับสร้างระบบท่อให้น้ำไหลลงมาทางด้านล่างพร้อมกับติดตั้งหัวจ่ายน้ำแบบสปริงเกอร์ เป็นระบบกระจายน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ที่ต้องการ จากนั้นในระยะเริ่มแรกได้ทำการปลูกต้นไม้หลากหลายชนิดรอบบ่อพักน้ำโดยเลือกต้นไม้ที่มีเมล็ด จัดเจ้าหน้าที่คอยดูแลรักษาประคับประคองให้ต้นไม้เหล่านั้นเติบโต เมื่อมีเมล็ด เมล็ดจะร่วงหล่นลงมาด้านล่าง เมล็ดใดที่ร่วงหล่นลงมาในที่ที่เหมาะสมกับต้นไม้ชนิดนั้นๆ ก็จะงอกขึ้นและเจริญเติบโตได้เอง ต้นไม้ใหม่ที่งอกขึ้นเองด้วยวิธีการนี้จะมีความแข็งแรงและมีอัตราความอยู่รอดสูงเนื่องจากการที่ขึ้นเองในที่ที่เหมาะสม ซึ่งนับได้ว่าเป็นวิธีการใช้ธรรมชาติเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติ
ในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๒ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริเพิ่มเติมความตอนหนึ่งว่า “..พื้นที่บริเวณเขาเสวยกะปิการปลูกป่าด้วยน้ำชลประทาน ซึ่งดำเนินการอยู่แล้วได้ผลดีนั้นให้ดำเนินการสืบต่อไปพยายามปลูกบนที่สูงกว่าเดิม และใช้น้ำชลประทานที่สูบขึ้นไปในระดับประมาณ ๑๕๐ เมตร แล้วค่อย ๆ ปล่อยลงมาเลี้ยงป่าที่จะปลูกเพิ่มขึ้นบริเวณเขาเสวยกะปิช่วงบน...
” ดังนั้นระบบสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจึงถูนำมาใช้ควบคู่กับระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีอยู่เดิมเพื่อให้ส่งน้ำได้ในระดับที่สูงขึ้นและจัดทำบ่อพักน้ำพร้อมวางระบบท่อเพื่อกระจายน้ำในพื้นที่ตอนบนทำให้สามารถฟื้นฟูป่าในพื้นที่ตอนบนของเขาเสวยกะปิได้ ซึ่งจากความสำเร็จในการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ด้วยระบบ “ ป่าเปียก ” หรือ “ ภูเขาป่า ” บริเวณเขาเสวยกะปิ ระบบดังกล่าวจึงได้ขยายออกไปทำการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ที่บริเวณเขารังแร้งและเขาบ่อขิง โดยได้ทำการติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และระบบท่อจ่ายน้ำในบริเวณพื้นที่ดังกล่าวในปี พ.ศ.๒๕๔๒ และ พ.ศ.๒๕๔๖ ตามลำดับ ซึ่งผลจาการดำเนินการทำให้พื้นที่ป่าบริเวณภูเขาทั้งสามแห่งกลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ระบบ “ป่าเปียก ” หรือ “ ภูเขาป่า ” ดังกล่าวยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ จนถึงปัจจุบัน