๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

เศรษฐกิจพอเพียง

ที่มาการต่อยอดโครงการ :



พระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้พสกนิกรชาวไทยและสังคมไทยนำเศรษฐกิจพอเพียง ไปใช้ในทุกระดับ ตั้งแต่การดำรงตน จนถึงการพัฒนาประเทศ รวมถึงผลที่เกิดขึ้นจากการนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้

 “...การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อได้พื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป...”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๑๗ 


“...คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่สมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทย พออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐาน ตั้งปณิธาน ในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้...”

“...ฉะนั้น ถ้าทุกท่านซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความคิด และมีอิทธิพล มีพลังที่จะทำให้ผู้อื่นซึ่งมีความคิดเหมือนกัน ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำ พอควร พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวร ที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล...” 

“...ถ้าท่านทั้งหลายช่วยกันคิด ช่วยกันทำ แม้จะมีการเถียงกันบ้าง แต่เถียงด้วยรากฐานของเหตุผล และเมตตาซึ่งกันและกัน และสิ่งที่สูงสุด ที่สุดก็คือประโยชน์ร่วมกัน คือ ความพอมีพอกิน พออยู่ ปลอดภัยของประเทศชาติ...”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๑๗


“...โครงการพัฒนาต่างๆ ตั้งขึ้นเพื่อปรับปรุงดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่แล้ว คือ ทรัพยากรตามธรรมชาติให้เกิดผลเป็นประโยชน์แก่ประเทศ และประชาชนส่วนรวมให้ได้มากที่สุด... บางทีก็อาจทำให้มีการเสียหายในบางส่วนได้บ้าง เพื่อที่จะให้โครงการมีผลเต็มเม็ดเต็มหน่วย จำเป็นต้องพิจารณาจัดตั้งโดยรอบคอบและละเอียดถี่ถ้วน ให้ทราบว่า ผลที่เกิดขึ้นจากโครงการนั้นจะต้องมีขอบเขตต่อเนื่องไปเพียงใด และมีผลดีผลเสียประการใด...”

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๑๙

“...ในการพูดจา ในการกระทำ ในการคิด เราทำในสิ่งที่เรียกว่า สุจริต หมายความว่า ทำในสิ่งที่ไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่น ตรงข้าม บรรเทาความเดือดร้อนต่อผู้อื่น อันนี้ก็เป็นการทำบุญอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งสูงยิ่งขึ้นไปอีก...”

พระราชดำรัสในโอกาสที่คณะชาวห้วยขวาง พญาไท เฝ้าฯทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล

วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๑


 “...วิถีทางดำเนินของบ้านเมืองและประชาชนโดยทั่วไป มีความเปลี่ยนแปลงมาตลอด เนื่องมาจากความวิปริตผันแปรของวิถีแห่งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และอื่นๆ ของโลก ยากยิ่งที่เราจะหลีกเลี่ยงให้พ้นได้ จึงต้องระมัดระวัง ประคับประคองตัวเรามากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการเป็นอยู่โดยประหยัด เพื่อที่จะอยู่ให้รอดและก้าวหน้าต่อไปได้โดยสวัสดี...”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่

วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๑


 “...ในทุกวันนี้ ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญ ต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ...”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๒๙


“...สังคมใดก็ตาม ถ้ามีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ด้วยความมุ่งดีมุ่งเจริญต่อกัน สังคมนั้นย่อมเต็มไปด้วยไมตรีจิต มิตรภาพ มีความร่มเย็นเป็นสุข น่าอยู่...”

พระราชดำรัสพระราชทานเพื่ออัญเชิญลงพิมพ์ในนิตยสารที่ระลึกครบ ๓๖ ปีของสโมสรไลออนส์แห่งกรุงเทพในพระบรมราชูปถัมภ์

วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๘


“...ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตนเอง อันนี้ก็เคยบอกว่า ความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหารของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอจะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้มากกว่าความต้องการก็ขายได้ แต่ขายในที่ไม่ห่างไกลเท่าไร ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก อย่างนี้ท่านนักเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็มาบอกว่าล้าสมัยจริง อาจจะล้าสมัยคนอื่นเขาต้องมีการเศรษฐกิจ ที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่าเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียง เลยรู้สึกว่าไม่หรูหรา แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่า ผลิตให้พอเพียงได้…”


“...การกู้เงินนี้นำมาใช้ในสิ่งที่ไม่ทำรายได้นั้นไม่ดี อันนี้เป็นข้อสำคัญ เพราะว่าถ้ากู้เงินและทำให้มีรายได้ ก็เท่ากับจะใช้หนี้ได้ ไม่ต้องติดหนี้ ไม่ต้องเดือดร้อน ไม่ต้องเสียเกียรติ กู้เงินนั้น เงินจะต้องให้เกิดประโยชน์ มิใช่กู้สำหรับไปเล่นไปทำอะไรที่ไม่เกิดประโยชน์...”


“...เมื่อปี ๒๕๑๗ ถึง ๒๕๔๑ ก็ ๒๔ ปีใช่ไหม วันนั้นได้พูดว่า เราควรจะปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง ถ้าแต่ละคนมีพอมีพอกินก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดีใหญ่…”


“…สมัยก่อนนี้พอมีพอกิน มาสมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิน จึงต้องมีนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะให้ทุกคนพอเพียงได้ ให้พอเพียงนี้ก็หมายความว่า มีกิน มีอยู่ ไม่ฟุ่มเฟือย ไม่หรูหราก็ได้ แต่ว่าพอ แม้ว่าบางอย่างอาจจะดูฟุ่มเฟือย แต่ถ้าทำให้มีความสุข ถ้าทำได้ก็สมควรที่จะทำ สมควรที่จะปฏิบัติ อันนี้ก็ความหมายอีกอย่างของเศรษฐกิจพอเพียง หรือระบบพอเพียง …”


“... แต่ว่าพอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือ คำว่าพอ ก็เพียงพอเพียงนี้ก็พอ ดังนั้นเอง คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนผู้อื่นน้อย...”


“...มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น ต้องให้พอประมาณตามอัตภาพ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง...”


“… ความพอเพียงนี้ก็แปลว่าความพอประมาณ และความมีเหตุผล…”


พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๐


“...เศรษฐกิจพอเพียง แปลว่า Sufficiency Economy…”


“...คำว่า Sufficiency Economy นี้ ไม่มีในตำราเศรษฐกิจ จะมีได้อย่างไร เพราะว่าเป็นทฤษฎีใหม่...”


“...Sufficiency Economy นั้น ไม่มีในตำรา เพราะหมายความว่าเรามีความคิดใหม่…”


“...และโดยที่ท่านผู้เชี่ยวชาญสนใจ ก็หมายความว่าเราก็สามารถที่จะไปปรับปรุง หรือไปใช้หลักการ เพื่อที่จะให้เศรษฐกิจของประเทศและของโลกพัฒนาดีขึ้น...”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๑

“...คนไม่เข้าใจว่ากิจการใหญ่ๆ เหมือนการสร้างเขื่อนป่าสัก ก็เป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกันเขานึกว่าเป็นเศรษฐกิจสมัยใหม่ เป็นเศรษฐกิจที่ห่างไกลจากเศรษฐกิจพอเพียง แต่ที่จริงแล้วเป็นเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน...”

 “...ข้าพเจ้าจึงปรารถนาอย่างยิ่งที่จะเห็นชาวไทยมีความสุขถ้วนหน้ากัน ด้วยการให้ คือให้ความรัก ความเมตตากัน ให้น้ำใจไมตรีกัน ให้อภัย ไม่ถือโทษ โกรธเคืองกัน ให้การสงเคราะห์ อนุเคราะห์กัน โดยมุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน ด้วยความบริสุทธิ์ และจริงใจ...”


พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๒


“...แต่ว่าพอเพียง ในทฤษฎีหลวงคือ ให้สามารถดำเนินงานได้ แต่ที่ว่าเมืองไทยไม่ใช้เศรษฐกิจพอเพียง นี่ไม่ได้ตำหนิ ไม่เคยพูด นี่พูดในตอนนี้ พูดเวลานี้ ขณะนี้ว่าประเทศไทย ไม่ใช้เศรษฐกิจพอเพียง ค่อนข้างจะแย่ เพราะว่าจะทำให้ล่มจม...”


“...เศรษฐกิจพอเพียงที่หมายถึงนี้ คือว่า อย่างคนที่ทำธุรกิจ ก็ย่อมต้องไปกู้เงิน เพราะว่าธุรกิจ หรือกิจการอุตสาหการสมัยใหม่นี้ คนเดียวไม่สามารถที่จะรวบรวมทุนมาสร้างกิจการ กิจกรรมที่ใหญ่ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องใช้กิจกรรมที่ใหญ่…”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๓


 “… เศรษฐกิจพอเพียงที่ได้ย้ำแล้วย้ำอีกแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า sufficiency economy ใครต่อใครก็ ต่อว่า ว่า ไม่มี sufficiency economy แต่ว่าเป็นคำใหม่ของเราก็ได้ก็หมายความว่า ประหยัด แต่ไม่ใช้ขี้เหนียว ทำอะไร ด้วยความอะลุ้มอล่วย กัน ทำอะไรด้วยเหตุและผล จะเป็นเศรษฐกิจพอเพียง แล้วทุกคนจะมีความสุข แต่พอเพียงเศรษฐกิจพอเพียงนี้ เป็นสิ่งที่ ปฏิบัติยากที่สุด…”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔


“…แม้จะเป็นกองทัพก็ต้องพอเพียง แต่กองทัพทำอะไรพอเพียง เยอะแยะ ทำโครงการต่าง ๆ ที่ช่วยแล้วก็ทำได้ ถ้าทหารเรือ เรือ ต.๙๑ นั้น เศรษฐกิจพอเพียง ...”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

วันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๔๕


 “...คุณธรรมข้อหนึ่งที่ยังมีอยู่อย่างบริบูรณ์ในจิตใจของคนไทย ก็คือ การให้ การให้นี้ ไม่ว่าจะให้สิ่งใดแก่ผู้ใด โดยสถานใดก็ตาม เป็นสิ่งที่พึงประสงค์อย่างยิ่ง เพราะเป็นเครื่องประสานไมตรีอย่างสำคัญ ระหว่างบุคคลกับบุคคล และทำให้สังคมมีความมั่นคงเป็นปึกแผ่นด้วยสามัคคีธรรม...”

พระราชดำรัสในโอกาสวันขึ้นปีใหม่

เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๕  


 “...เศรษฐกิจพอเพียง คือ ทำให้พอเพียงถ้าไม่พอเพียงไปไม่ได้ แต่ถ้าพอเพียงสามารถนำพาประเทศได้ดี ก็ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จพอเพียงและเพื่อให้บ้านเมืองบรรลุความสำเร็จที่แท้จริง...”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๘


“...ในเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง พอเพียงคืออะไร ไม่ใช่เพียงพอ คือว่า ไม่ได้หมายความว่า ให้ทำกำไรเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นเอง ทำกำไรก็ทำ ถ้าเราทำกำไรได้ดี มันก็ดี แต่ว่าขอให้มันพอเพียง ถ้าท่านเอากำไรหน้าเลือดมากเกินไป มันไม่ใช่พอเพียง…”


“...ฟังว่ารัฐบาลหรือเมืองไทย ประชาชน มีเงินเยอะ มีเงินเกิน ก็ใช้สิ เขาหาว่าเราเศรษฐกิจพอเพียง คำว่า พอเพียง ถ้ามีเงินก็ต้องใช้ ไม่ใช่ขี้เหนียว ถ้ามีเงินไม่ต้องขี้เหนียว ซื้อไปเถอะ อะไรก็ตาม เครื่องบิน เรือ รถถัง ซื้อ ถ้ามีเงินเยอะ ก็ถือว่าสนับสนุนให้จ่าย เดี๋ยวนี้เขาบอกว่า ในหนังสือพิมพ์เห็นรึเปล่า ว่าเขาสนับสนุนให้จ่าย ถ้ามีก็จ่าย แต่ถ้าไม่มีก็ระงับหน่อย ...”

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา

วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๐