๒๐ กันยายน ๒๕๖๗

เรือหางกุด

ที่มาการต่อยอดโครงการ :

เรือหางยาว เป็นพาหนะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของเมืองไทย แต่ข้อจำกัดของเรือหางยาวที่ต้องอาศัยเพลาถ่ายทอดกำลังจากเครื่องยนต์ไปยังใบพัดเรือ ทำให้สูญเสียกำลังบางส่วน และขับเคลื่อนไม่คล่องตัว ต้องออกแรงในการบังคับเลี้ยวมาก ไม่ปลอดภัย และปัญหาการพันติดของกอสวะที่ใบพัดที่ติดอยู่ที่หาง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงมีพระราชดำริและพระราชอุปถัมภ์การวิจัยคิดค้น เครื่องเรือหางกุด

กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าโครงการสร้างและพัฒนาต้นแบบเครื่องเรือหางกุด ตามแนวพระราชดำริ ได้สร้างต้นแบบเครื่องเรือหางกุดขึ้นจากความทรงจำเบื้องต้นของนายสวงศ์ พวงมาลี ซึ่งเป็นผู้สร้างเครื่องยนต์ หางกุด ภายใต้การออกแบบและควบคุมของ ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองวิศวกรรม กรมการข้าว กระทรวงเกษตร ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งประสบผลสำเร็จเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙ ทว่าเนื่องจากทางกองวิศวกรรมมีภารกิจอื่นที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือทำฝนเทียม ทำให้การพัฒนาเครื่องยนต์ หางกุด นี้ยุติลง มิได้เผยแพร่สู่สาธารณะ ในเดือน เมษายน ๒๕๔๕ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้มูลนิธิโครงการหลวงดำเนินการรื้อฟื้นการพัฒนาเครื่องยนต์หางกุดอีกครั้ง ทางมูลนิธิจึงได้ติดต่อประสานงานให้สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมดำเนินการสร้างต้นแบบดั้งเดิมขึ้นมา

เครื่องยนต์เรือหางกุด เป็นเครื่องยนต์ที่แก้ปัญหาเครื่องยนต์เรือหางยาว โดยการตัดหางยาวทิ้ง จึงเป็นที่มาของชื่อ เครื่องยนต์ หางกุด และเครื่องยนต์จะส่งกำลังไปหมุนใบพัดโดยตรง ไม่ต้องผ่านเพลา ทำให้ในทางทฤษฎีจะไม่มีการสูญเสียกำลังของเครื่องยนต์ไป อีกทั้งในการขับเคลื่อนจะปลอดภัยกว่าเรือหางยาว สามารถขับไปในที่ที่ตื้นเขินและมีเศษสวะได้ดี สามารถเลี้ยวโค้งได้ในวงแคบและกลับลำได้โดยหมุนเรือรอบตัวเอง และยังสามารถถอยหลังหรือหยุดเรือได้โดยกะทันหันโดยการเปลี่ยนทิศทางของน้ำ จึงสามารถใช้ขับเคลื่อนในคลองคดเคี้ยวได้สะดวกและคล่องแคล่วมากกว่าเรือหางยาวในปัจจุบัน

ตัวแบบของเครื่องยนต์นั้น เครื่องยนต์ทั่วไปเพลาจะอยู่ในแนวราบ สำหรับเครื่องยนต์หางกุดเพลาต้องอยู่ในแนวดิ่ง เครื่องเรือนี้ออกแบบโดยอาศัยหลักการขับดันของน้ำ โดยดูดน้ำจากด้านล่างขึ้นมาตรงๆ และขับดันน้ำออกสูงกว่าระดับท้องเรือ ต่างจากเครื่องของเรือหางยาวที่ไม่ได้สูบน้ำขึ้นมา แต่จะขับเคลื่อนเรือโดยอาศัยใบพัดขับน้ำออกไป ทำให้เครื่องยนต์ของเรือหางกุดสามารถปรับเปลี่ยนไปใช้สำหรับบำบัดน้ำเสีย หรือใช้สำหรับสูบน้ำได้อีกด้วย

ขณะนี้เครื่องยนต์หางกุดดัดแปลงใช้ได้เฉพาะกับเครื่องยนต์ ๒ จังหวะ ขนาด ๔ แรงม้าและ ๖ แรงม้า แต่ปัจจุบันหาซื้อเครื่องสองจังหวะได้ยาก เพราะรถจักรยานยนต์หรือในเรือจะเป็นเครื่องยนต์ ๔ จังหวะเสียเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งเครื่องยนต์แบบ ๒ จังหวะต้องเติมน้ำมันเบนซินและน้ำมันหล่อลื่นแบบผสมรวมกัน ทำให้มีการเผาไหม้น้ำมันหล่อลื่นไปด้วย ผลที่ได้คือจะมีควันดำและมีผลต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในงานวิจัยขั้นต่อไปคือการนำเครื่องยนต์ ๔ จังหวะมาปรับใช้ ซึ่งต้องขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยก่อนดำเนินการต่อไป นายจารุวัฒน์ กล่าว ในด้านสมรรถนะของเครื่องยนต์ เมื่อใช้ในการขับเคลื่อนเรือไฟเบอร์กลาสท้ายตัดขนาดความยาว ๘ และ ๑๐.๕ ฟุต สำหรับเครื่องยนต์ ๔ แรงม้าและ ๖ แรงม้าตามลำดับ จะได้ความเร็วสูงสุดที่ประมาณ ๖ และ ๗.๕ กิโลเมตรตามลำดับ ซึ่งหากมองในแง่ของการใช้งานด้านเกษตรกรรมจะมีความเหมาะสม คือ อาจนำไปใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อการเกษตร หรือนำไปใช้สูบน้ำเพื่อการเกษตรก็ได้