๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

ป่าสาธิต

ที่มาการต่อยอดโครงการ :

ในระยะต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีชันธ์เป็นประจำแทบทุกปี โดยในระยะแรกจะเสด็จฯ ด้วยรถไฟพระที่นั่ง ต่อมาเมื่อมีการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมดีขึ้น จึงเสด็จฯโดยรถยนต์พระที่นั่ง ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๐๔ ขณะเสด็จพระราชดำเนินผ่านจังหวัดนครปฐม ราชบุรี และเพชรบุรี เมื่อรถยนต์พระที่นั่งผ่านอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรีนั้น มีต้นยางขนาดใหญ่ปลูกเรียงรายทั้งสองข้างทาง จึงได้มีพระราชดำริที่จะสงวนบริเวณป่ายางนี้ไว้ให้เป็นส่วนสาธารณะ แต่ในระยะนั้นไม่อาจดำเนินการได้เนื่องจากต้องจ่ายเงินค่าทดแทนในอัตราที่สูง เพราะมีราษฎรมาทำไร่ทำสวนในบริเวณนั้นจำนวนมาก

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงเริ่มทดลองปลูกต้นยางด้วยพระองค์เอง โดยทรงเพาะเมล็ดยางในกระถางบนพระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล และได้ทรงปลูกต้นยางนั้นในแปลงป่าไม้ทดลองในบริเวณแปลงทดลองปลูกต้นยางนาพร้อมข้าราชบริพาร เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ จำนวน ๑,๒๕๐ ต้น ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำพันธุ์ไม้ต่างๆ ทั่วประเทศมาปลูกในบริเวณที่ประทับสวนจิตรลดาในลักษณะป่าไม้สาธิต นอกจากนี้ยังได้สร้างพระตำหนักเรือนต้นในบริเวณป่าไม้สาธิตนั้นเพื่อทรงศึกษาธรรมชาติวิทยาของป่าไม้ด้วยพระองค์เองอย่างใกล้ชิดและลึกซึ้งในปี พ.ศ. ๒๕๐๘

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชปรารภว่า ไม้ยางนาในประเทศไทย ได้ถูกตัดฟันไปใช้สอย] และทำเป็นสินค้ากันเป็นจำนวนมากขึ้นทุกปี เป็นที่น่าวิตกว่า หากมิได้ทำการบำรุงส่งเสริมและดำเนินการปลูกไม้ยางนาขึ้นแล้วปริมาณไม้ยางนา อาจจะลดลงน้อยลงไปทุกที จึงควรที่จะได้มีการดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับการปลูกไม้ยางนา เพื่อจะได้นำความรู้ไปใช้ในทางปฏิบัติ


พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังเก็บเมล็ดไม้ยางนาจากป่าสองข้าง ถนนเพชรเกษม บริเวณใต้จังหวัดเพชรบุรีลงไปเล็กน้อย โดยเก็บในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๔ แล้วนำมาเพาะเลี้ยงไว้ใต้ร่มต้นแคบ้าน ในแปลงเพาะชำบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน รดน้ำให้ชุ่มอยู่เสมอ เมื่อเมล็ดงอกแล้วได้ย้ายลงปลูกในกระถางดิน เพื่อเตรียมย้ายไป ปลูกในแปลงทดลองต่อไป

ดังนั้นเมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปลูกกล้าไม้ยางนาเป็นปฐมในแปลงทดลอง ณ บริเวณที่ประทับสวนจิตรลดา ขณะนั้นกล้าไม้ยางนามีอายุประมาณ ๔ เดือน กล้าไม้ที่นำไปปลูกมีจำนวนทั้งสิ้น ๑,๐๙๖ ต้น ระยะปลูกระหว่างต้นห่างกัน ๒.๕ เมตร ต่อมาขุดย้ายไปปลูกที่อื่น ที่เหลือมีระยะห่างกันระหว่างต้น ๕ เมตร ใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาวิจัยเพียง ๔๓๒ ต้น ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ดำเนินการสนองพระราชดำริในการศึกษาวิจัยการปลูกไม้ยางนา


ไม้ยางนา (Dipterocarpus alatus Roxb.) เป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ของประเทศไทย เป็นไม้ที่มีผู้นิยมใช้สอยกันมากกว่าไม้กระยา เลยชนิดอื่นๆ ในอดีตเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อน เคยมีปริมาณการผลิตออกมาจากป่า ในปริมาณที่สูงกว่าไม้สักเสียอีก และยังได้มีการส่งไม้ยางนาไปจำหน่าย ต่างประเทศ ในปริมาณที่ไม่น้อยกว่าไม้สักเท่าใดนัก เช่น ในช่วงทศวรรษ แห่ง พ.ศ. ๒๔๙๖

ถึง พ.ศ. ๒๕๐๕ ประเทศไทยผลิตไม้สักออกจากป่าทั้งสิ้น ๒,๑๒๖,๑๔๐ ลูกบาศก์เมตร แต่ผลิตไม้ยางนาออกจากป่าถึง ๓,๔๑๐,๑๘๖ ลูกบาศก์เมตร โดยในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น ประเทศไทยส่งไม้สักออกไป จำหน่าย เป็นสินค้าออกจำนวน ๗๕๔,๐๑๒ ลูกบาศก์เมตร ส่วนไม้ยางนามีการส่งออกในปริมาณ ๖๕๗,๘๘๓ ลูกบาศก์เมตร แต่ในสภาพปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่า ป่าไม้เมืองไทยได้ถูกตัดฟัน แผ้วถางทำลาย จนมีปริมาณเหลือไม่เพียงพอ ต่อการอนุรักษ์ไว้ให้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ควบคุมความชุ่มชื้นในดินและอากาศ ตลอดจนไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้สอย มีผลทำให้ประเทศไทย ต้องเปลี่ยนสถานภาพจากผู้ ส่งออก มาเป็นผู้นำเข้าไม้เพื่อการใช้สอย จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องดำเนินการศึกษา และวิจัยเกี่ยวกับไม้ยางนาให้มากขึ้น โดยเฉพาะการวิจัยเกี่ยวกับ ลักษณะทางวนวัฒน์ และการวิจัยเกี่ยวกับการปลูก และบำรุงไม้ชนิดนี้ เพื่อหาทางเพิ่มปริมาณของไม้ยางนา ซึ่งจัดว่าเป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ และเป็นที่นิยมใช้สอยกันมากขึ้น กับยังเป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่ป่า อันจักส่งผลกระทบทำให้สภาพแวดล้อมดี ขึ้นอีกด้วย