๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

๔ น้ำ ๓ รส

ที่มาการต่อยอดโครงการ :

พระราชดำริ

“โครงการชลประทานมูโนะ เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วจะมีประโยชน์ร่วมกันหลายด้าน เช่น ป้องกันน้ำเค็ม การระบายน้ำและเก็บกักน้ำจืดไว้ใช้เพื่อการชลประทาน”

ความเป็นมาของโครงการ

โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำโก-ลก (มูโนะ) เกิดขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชในคราวเสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรบริเวณบ้านปะดังยอ หมู่ที่ ๓ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยได้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎรที่ประกอบอาชีพทางการเกษตร ในบริเวณท้องที่ตำบลมูโนะ ตำบลปูโย๊ะ อำเภอสุไหงโก-ลก และตำบลโฆษิต ตำบลนานาค ตำบลพร่อน ตำบลเกาะสะท้อน ตำบลบางขุนทอง อำเภอตากใบ ซึ่งพื้นที่บริเวณดังกล่าวนี้เป็นที่ลุ่มชายฝั่งแม่น้ำโก-ลกและชายพรุโต๊ะแดงจะมีระดับน้ำท่วมอยู่เป็นประจำจนทำความเสียหายให้แก่พื้นที่เพาะปลูกเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร พระองค์ทรงพระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานศึกษาและหาแนวทางการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับราษฎร กรมชลประทานจึงพิจารณาวางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลุ่มน้ำโก-ลกขึ้น

๔ น้ำ ประกอบด้วย น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเค็ม และ น้ำเปรี้ยว

๓ รส ประกอบด้วย รสจืด รสเค็ม และรสเปรี้ยว

น้ำท่วม

เนื่องจากพื้นที่โครงการเป็นพื้นที่ราบลุ่มติดแม่น้ำโก-ลก ในช่วงฤดูฝน รับน้ำจากฝนที่ตกในเขตพื้นที่โครงการ น้ำจากพรุโต๊ะแดง และน้ำในแม่น้ำโก-ลก ไหลบ่าล้นตลิ่ง ทำให้เกิด น้ำท่วม พื้นที่การเกษตร และบ้านเรือนราษฎร ในเขตอำเภอ สุไหงโก-ลก และอำเภอตากใบ การระบายน้ำออกจากพื้นที่ใช้ระยะเวลานาน เนื่องมีความลาดชันของพื้นที่น้อย และเนื่องจากช่วงเวลาดังกล่าว มีน้ำทะเลจากอ่าวไทยหนุนสูง เป็นอุปสรรคในการระบายน้ำ

น้ำแล้ง

ในฤดูแล้งพื้นที่โครงการจะขาดแคลนน้ำ เนื่องจากฝนทิ้งช่วงและน้ำในแม่น้ำโก-ลกมีปริมาณการไหลต่ำกว่า ๓๐ ลบ.ม./ วินาที ตามข้อตกลงของการบริหารจัดการน้ำในแม่น้ำโก-ลก ซึ่งเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศของประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย จะไม่อนุญาตสามารถผันน้ำเข้าคลองมูโนะไปใช้งานได้

น้ำเค็ม

เนื่องจากเป็นพื้นที่ในเขตอำเภอตากใบอยู่ติดทะเล ในช่วงหน้าแล้ง น้ำทะเลไหลย้อนกลับเข้ามาในแม่น้ำโก-ลก แ ละลำน้ำสาขา เช่น คลองปูยู คลองโต๊ะแดง ทำให้ไม่สามารถนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในการเกษตรและเพื่อการผลิตน้ำประปาได้

น้ำเปรี้ยว

น้ำที่ไหลออกจากพรุโต๊ะแดงผ่านพื้นที่การเกษตรในเขตโครงการ ซึ่งมีค่า PH ต่ำ (มีค่าความเป็นกรดสูง) ช่วงหน้าแล้งประมาณ ๓.๐ ช่วงหน้าฝน ประมาณ ๔.๐ ทำให้ดินมีสภาพเป็นกรด ไม่สามารถทำการเกษตรได้ หรือหากทำให้ก็ผลผลิตต่ำ วงจรของสภาพปัญหาเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เป็นประจำทุกปี

แนวทางการบริหารจัดการ ๔ น้ำ ๓ รส

การบริหารจัดการน้ำท่วม

ใช้คลองมูโนะเป็นคลองระบายน้ำสายหลัก และใช้คลองระบายปาเสมัส คลองระบายสาย ๔ (โต๊ะแดง) แลคลองสายซอยต่างๆ เพื่อระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่โดยการ

๑) ปิดประตูระบายน้ำปากคลองมูโนะและท่อระบายน้ำปากคลองปาเสมัส เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำจากแม่น้ำโก-ลก ไหลเข้าไปท่วมพื้นที่การเกษตรในเขตโครงการ

๒) เปิดประตูระบายน้ำกลางคลองมูโนะ ประตูระบายน้ำปลายคลองมูโนะ (ปูยู) ประตูระบายน้ำปลายคลองโต๊ะแดง และประตูระบายน้ำอาคารประกอบคันกั้นน้ำต่างๆ เพื่อเร่งระบาย น้ำลงแม่น้ำโก-ลก และลงทะเลอ่าวไทยต่อไป หากระดับน้ำในแม่น้ำโก-ลก สูงกว่าระดับน้ำในเขตพื้นที่โครงการก็ให้ปิดอาคารประกอบคันกั้นน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำในแม่น้ำโก-ลก ไหลเข้ามาท่วมในเขตพื้นที่โครงการ

๓) สูบระบายน้ำโดยสถานีสูบน้ำถาวร จำนวน ๔ สถานี ได้แก่สถานีแฆแบะ สถานีนาคออีบู สถานีกัวลอต๊ะ และสถานีบ้านโคกมือบา และติดตั้งเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่บริเวณพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากต่างๆเพื่อเร่งสูบระบายน้ำออกจากพื้นที่ กรณีระดับน้ำในในพื้นที่โครงการสูงกว่าในคลองระบายน้ำมูโนะ ให้เปิดประตูปลายคลองประกอบคันกั้นน้ำทุกแห่งเพื่อช่วยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตรไปลงคลองมูโนะและไหลลงทะเลต่อไป

ปัญหาน้ำแล้ง (ขาดแคลนน้ำ)

พื้นที่เพาะปลูกที่สามารถส่งน้ำโดยระบบแรงโน้มถ่วง ได้คือ พื้นที่ในเขตตำบลเกาะสะท้อน มีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ ๕,๖๕๐ ไร่ การส่งน้ำในพื้นที่บริเวณนี้ จะทดน้ำที่ประตูระบายน้ำปลายคลองมูโนะ (ปูยู) เพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้น ที่ระดับ +๑.๒๐๐ ม. (ร.ท.ก.) ถึง +๑.๕๐๐ ม.(ร.ท.ก.)และส่งไปตามคลองส่งน้ำสายต่างๆ ส่วนพื้นบ้าน โคกกูแว โคกอิฐ-โคกใน สามารถส่งน้ำได้ทั้งโดยแรงโน้มถ่วงและเครื่องสูบน้ำ ขึ้นกับระดับน้ำในคลองมูโนะ โดยต้องทดน้ำหน้า ปตร.กลางคลองมูโนะที่ระดับระดับ+๑.๗๕๐ ม.( ร.ท.ก.) นอกจากนี้ยังมีพื้นที่หมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโนะ ๑,๕๐๐ ไร่ บ้านโคกโบร ๑,๕๐๐ ไร่ บ้านสะหริ่ง ๙๕๐ ไร่บ้านปลักปลา ๔๐๐ ไร่ บ้านบอฆอ ๑,๕๐๐ ไร่และ บ้านทุ่งนาหว่าน ๘๕๐ ไร่

ก่อนการส่งน้ำแต่ละฤดูกาลจะต้องจัดประชุมราษฎรร่วมกับเกษตรอำเภอและผู้นำท้องถิ่นเพื่อกำหนดพื้นที่ส่งน้ำ รอบเวรการส่งน้ำ และมีการประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในพื้นที่ทราบโดยทั่วกัน หรืออาจจะมีป้ายแสดงรอบเวรการส่งน้ำติดตั้งไว้บริเวณต้นคลองส่งน้ำสายต่างๆ เนื่องจากในช่วงอัดน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของเกาะสะท้อน อาจทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ด้านเหนือน้ำบริเวณบ้านสะหริ่ง บ้านบอฆอ ต้องแก้ปัญหาโดยการบริหารจัดการน้ำ ตามข้อตกลงของเกษตรกรผู้ใช้น้ำของทั้ง ๒ พื้นที่

การส่งน้ำโดยระบบสูบน้ำ (Pumping)

พื้นที่ที่ส่งน้ำโดยระบบสูบน้ำมี ๒ พื้นที่คือ

๑) พื้นที่สถานีสูบน้ำบ้านโคกกูแว บ้านโคกอิฐ-โคกใน ในเขตตำบลพร่อน อำเภอตากใบ พื้นที่ชลประทานประมาณ ๖,๑๙๕ ไร่ โดยพื้นที่นี้ส่งน้ำได้ทั้ง ๒แบบ คือ ในกรณีระดับน้ำในคลองมูโนะสูงเพียงพอจะส่งโดยแรงโน้มถ่วงของโลก กรณีระดับน้ำต่ำจะสูบน้ำส่งเข้าคลองส่งน้ำแทน

๒) พื้นที่สถานีสูบน้ำโครงการเกษตรแบบผสมผสานมูโนะ และบ้านโคกกลาง ในเขตตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก โดยเครื่องสูบน้ำ ขนาด Æ ๑๒นิ้ว จำนวน ๑ เครื่อง ระบบส่งน้ำ จำนวน ๑๐ สาย รวมความยาว ๘.๙๐ กม.พื้นที่ชลประทานรวม ๒,๐๐๐ ไร่ ก่อนการส่งน้ำแต่ละฤดูกาลจะต้องจัดประชุมราษฎรผู้ใช้น้ำร่วมกับเกษตรอำเภอและผู้นำท้องถิ่นเพื่อร่วมกันกำหนดพื้นที่ ส่งน้ำ แผนการส่งน้ำและมีการประชาสัมพันธ์ให้ราษฎรในพื้นที่ทราบทั่วกัน

การส่งน้ำโดยคลองระบายน้ำ

วัตถุประสงค์ของโครงการในระยะแรกเพื่อการบรรเทาอุทกภัย โดยคลองระบายน้ำมูโนะและคลองระบายน้ำสายต่าง ๆ จะช่วยระบายน้ำที่ท่วมขังลงทะเลได้รวดเร็วขึ้น หลังจากสามารถแก้ปัญหาน้ำท่วมขังได้ ราษฎรได้เริ่มทำการเกษตรมากขึ้น จึงได้มีการปรับเอาระบบระบายน้ำมาทำหน้าที่ส่งน้ำด้วย โดยใช้วิธีปิดประตูระบายน้ำปลายคลองสายต่างๆ เพื่อยกระดับน้ำให้สูงขึ้นแล้วไหลเข้าแปลงเพาะปลูกเป็นการส่งน้ำแบบย้อนทิศทางกับลาดท้องคลอง มีพื้นที่ที่ใช้น้ำจากคลองระบายน้ำดังกล่าว รวมประมาณ ๗๓,๐๐๐ ไร่

อนึ่ง หากปริมาณน้ำจากคลองระบายไม่เพียงพอสำหรับช่วยเหลือพื้นที่ทำการเกษตรจะต้องสนับสนุนเครื่องสูบน้ำมาสูบช่วยเหลือพื้นทีการเกษครตามความจำเป็นการบริหารจัดการปัญหาน้ำเค็ม

พื้นที่การเกษตรในเขตอำเภอตากใบ ส่วนใหญ่อยู่ติดทะเลด้านอ่าวไทย ได้แก่บริเวณปากแม่น้ำโก-ลก ริมแม่น้ำบางนรา คลองปูยู และคลองโต๊ะแดง ในช่วงฤดูแล้ง ปริมาณน้ำจืดในลำน้ำดังกล่าวมีปริมาณน้อยลง น้ำเค็มก็จะรุกล้ำเข้ามาแทนที่ ทำความเสียหายให้แก่พื้นที่เพาะปลูก และกระทบกับแหล่งน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค อำเภอตากใบ โดยเฉพาะพื้นที่เพาะปลูก ในบริเวณตำบลเกาะสะท้อน การป้องกันน้ำเค็มรุกเข้าพื้นที่ กรมชลประทานได้ก่อสร้างคันกั้นน้ำเค็มและอาคารประกอบรอบพื้นที่ตำบลเกาะสะท้อน เพื่อป้องกันน้ำเค็มไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่เพาะปลูกบริเวณบ้านโคกมือบาบ้านโคกโต๊ะจุ๊บ บ้านปะลูกา และบ้านปะดาดอ อีกด้วยโดยเริ่มจากบริเวณคลองปูยูเชื่อมต่อกับแม่น้ำโก-ลกบริเวณบ้านศรีพงันกับบ้านปะลุกา ไปตามริมฝั่งซ้ายแม่น้ำโก-ลก ช่วงแม่น้ำบางนราและคลองปูยู คันกั้นน้ำทั้งสองฝั่งคลองโต๊ะแดงเชื่อมต่อกับคันกั้นน้ำเค็มทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโก-ลก

ในการบริหารจัดการระบบป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำ จะต้องปิดประตูท่อลอดประกอบคันกั้นน้ำทุกแห่งเพื่อป้องกันน้ำเค็มไหลเข้าพื้นที่ และหมั่นตรวจสอบเครื่องกว้านบานระบายให้สามารถใช้งานได้ดีอยู่เสมอ และมีการก่อสร้างทำนบซองชั่วคราวในช่วงหน้าแล้งตามความจำเป็นอีกด้วย

การบริหารจัดการปัญหาน้ำเปรี้ยว

น้ำที่ไหลออกจากพรุโต๊ะแดงในฤดูแล้งและฤดูฝนเป็นน้ำเปรี้ยวมีคุณสมบัติเป็นกรดไม่สามารถนำน้ำไปใช้เพื่อการเกษตรได้และน้ำเปรี้ยวยังทำให้เกิดปัญหาดินเปรี้ยวตาม มาใช้วิธีการแยกน้ำเปรี้ยวออกจากคลองน้ำจืดโดยบังคับให้น้ำเปรี้ยวระบายออกจากพื้นที่โครงการโดยคลองระบายน้ำเปรี้ยวสายต่างๆ เช่น คลองโคกไผ่ -คลองลาน (คลองระบายน้ำสาย ๑๖) คลองระบายน้ำสาย ๑๐ และคลองระบายน้ำสาย ๑๓ ได้อย่างอิสระได้ตลอดเวลา ก่อสร้างคันกั้นน้ำเปรี้ยวและอาคารเพื่อควบคุมการระบายและรักษาระดับนอกจากนี้ยังนำน้ำจืดไปปรับปรุงดินเปรี้ยวและเจือจางน้ำเปรี้ยวในบริเวณบ้านโคกอิฐ-โคกใน

อนึ่ง ตามแนวคลองระบายน้ำมูดนะ และคลองระบายน้ำปาเสมัส มีคลองระบายน้ำเปรี้ยวไหลลงจำนวนหลายสายและบางแห่งก็เป็นอาคารรับน้ำจากพื้นที่ป่าพรุ ซึ่งออกแบบไว้เพื่อช่วยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ในช่วงฤดูฝน สำหรับในช่วงฤดูแล้งจะต้องปิดประตูอาคารบังน้ำต่างๆเหล่านี้ ไม่ให้น้ำเปรี้ยวไหลลงในคลองระบายทั้ง ๒ สายดังกล่าวเนื่องจากจะมีผลกระทบกับพื้นที่การเกษตรของโครงการ

นอกจากนี้โครงการยังต้องมีภารกิจในการควบคุมระดับน้ำในพรุโต๊ะแดง ซึ่งเป็นป่าพรุขนาดใหญ่ มีพื้นที่ประมาณ ๑๘๗,๐๐๐ ไร่ น้ำท่วมขังอยู่ตลอดเวลา มีความสำคัญยิ่งในระบบนิเวศน์ ในฤดูแล้งถ้าระดับน้ำในพรุลดลงมากจนผิวดินบางแห้งแห้ง แร่ธาตุต่าง ๆ ที่สะสมอยู่ในดินจะทำปฏิกิริยากับอากาศ ทำให้เกิดไฟไหม้ป่าได้ แต่ปรากฏการณ์นี้จะเกิดได้ยากมาก โดยทั่วไปแล้ว สาเหตุไฟไหม้พรุโต๊ะแดง เกิดจากราษฎรเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำการเกษตรและที่อยู่อาศัย ซึ่งทำความเสียหายต่อพันธุ์ไม้ สัตว์ป่าชนิดต่างๆ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องควบคุมระดับน้ำ ที่อาคารบังคับน้ำรอบขอบพรุ จำนวน ๘ แห่ง ไม่ให้มีระดับต่ำเกินไป โดยปกติจะควบคุมระดับน้ำไว้ที่ +๑.๒๐๐ ม.(รทก.)

ผลประโยชน์ด้านการเกษตรของโครงการ

๑) ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเขตพื้นที่โครงการ

๒) ช่วยสนับสนุนการทำนาปรังและปลูกพืชฤดูแล้ง

๓) เพื่อป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำพื้นที่

๔) เพื่อส่งน้ำให้แก่พื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูฝน

๕) เป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับการประปา

๖) เพื่อขยายพันธุ์ปลาน้ำจืด

๗) ปรับปรุงและป้องกันการแพร่กระจายของดินเปรี้ยวและน้ำเปรี้ยว

๘) เพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมรักษาระดับน้ำในป่าพรุสิรนธร (พรุโต๊ะแดง)