ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ
๒๖ มิถุนายน ๒๕๓๓
" ด้านการพัฒนาป่าไม้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดหมู่บ้านไม้หรือการปลูกป่าก็ดีจะมีลักษณะที่จ้างราษฎรเป็นลูกจ้างของทางราชการโดยให้มีหน้าที่ในการปลูกป่าและบำรุงดูแลรักษาต้นไม้ให้เจริญเติบโตราษฎรจึงขาดความสำนึกที่จะรักป่าไม้และบำรุงดูแลให้ต้นไม้เจริญเติบโต เพราะถ้าต้นไม้ที่ปลูกเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว ทางราชการก็จะปลดลูกจ้างเหล่านั้นออกไป ราษฎรที่เป็นลูกจ้างจึงไม่พยายามที่จะให้ต้นไม้โตเร็ว เพราะจะถูกเลิกจ้างตามไปด้วย จึงเห็นสมควรให้เปลี่ยนวิธีการใหม่ เป็นการดำเนินงานในรูปแบบ “ป่าไม้หมู่บ้าน” คือให้ราษฎรดำเนินการเองเป็นเจ้าของเอง ปลูกป่าและบำรุงดูแลรักษาต้นไม้เอง โดยในระยะแรกให้หน่วยราชการจัดทำเรือนเพาะชำ เพื่อสาธิตและแนะนำให้ราษฎรรู้จักการเพาะต้นกล้า และสอนให้ราษฎรทำเรือนเพาะชำเป็นของตนเอง เพาะต้นกล้าไม้มาขายให้หน่วยราชการ หน่วยราชการจะรับซื้อต้นกล้าจากราษฎรในระยะแรก เพื่อให้ราษฎรสามารถฝึกหัดและเลี้ยงตัวเองได้ก่อน ต่อจากนั้นก็ส่งเสริมให้ราษฎรมีความรู้ความชำนาญมากขึ้น สามารถเพาะต้นกล้าเพื่อนำไปจำหน่ายยังตลาดภายนอกได้ ซึ่งอาจจะมีทั้งการเพาะต้นไม้ดอก ไม้ประดับหรือไม้ผลที่มีราคาดี ก็จะเป็นการส่งเสริมรายได้ให้แก่ราษฎรอีกทางหนึ่งด้วย และต่อไปราษฎรที่เป็นเจ้าของเรือนเพาะชำ ก็สามารถผลิตต้นกล้าได้เอง ก็จะนำไปปลูกเป็นป่าไม้ในพื้นที่ที่ได้จัดสรรไว้ให้ ราษฎรก็จะต้องดูแล รักษาและหวงแหนป่าไม้เหล่านั้นให้เจริญเติบโตเป็นป่าไม้ของชุมชน ที่ราษฎรสามารถเข้าไปหากินได้ สามารถตัดต้นไม้ที่เจริญเติบโตเต็มที่แล้วไปใช้ประโยชน์และดำเนินการปลูกป่าทดแทนต่อไป ถ้าสามารถทำได้ดังนี้ราษฎรก็จะไม่ไปบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติในที่อื่น ๆ ต่อไปอีก "
สถานที่ : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ