๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

๒๓ เมษายน ๒๕๔๐

" การปรับปรุงดิน ที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนาพื้นที่ ๕๐ ไร่ อยู่ที่อำเภอบ้านนา (จังหวัดนครนายก) หน้าแล้งแห้ง หน้าน้ำก็ท่วมปลูกอะไรไม่ค่อยได้ ดินก็เปรี้ยวจัด ดูจากภาพถ่ายดาวเทียม คิดว่าขุดสระ ๒ สระ เอาดินมาเฉลี่ยใน ๕๐ ไร่ ความสูงประมาณ ๑ เมตร เป็นดินเปรี้ยว พอฝนลงมาชะล้างดินที่เปรี้ยวไปลงสระ ปล่อยน้ำไปที่อื่นไม่ได้ คนอื่นเขาจะเดือดร้อน น้ำฝนจะชะความเปรี้ยวลงสระ สักระยะหนึ่งน้ำระเหยเหลือครึ่งสระ แล้วสูบน้ำจากบ่อแรกไปใส่ที่สระ ๒ แรกๆ ไม่ต้องปลูกพืชอะไร สระแรกคอยรับน้ำจากฟ้า สระจุ ๒๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับน้ำฝนมี ๕๐ ไร่ น้ำระเหยไปบ้าง ที่เหลือก็ยังพอใช้ได้ตลอดปีข้อสำคัญจะต้องทำเป็นคันให้รอบ ปรับพื้นที่ให้เท ถ้านอกคันน้ำท่วม ก็ให้ต่อท่อทแยงออกไปข้างนอก เอาน้ำที่ท่วมมาเติมในสระ ฝนก็ช่วยเติม ภายใน ๓ ปี น่าจะปลูกข้าวได้ผล ให้ทดลองดูจะสำเร็จหรือไม่ ไม่เป็นไร เป็นที่ของเราเอง แต่ถ้าสำเร็จก็พิสูจน์ว่าดินใช้ได้ จะเป็นประโยชน์ จะไปทำในที่ของชาวบ้านไม่ได้ ถ้าน้ำฝนไม่พอก็ใช้ท่อเจาะทแยง ที่แนะว่าให้ขุดร่องแล้วได้น้ำก็ถูกต้อง แต่ที่ให้ขุดสระนั้นเป็น concept ดินที่ขุดเอามาเฉลี่ยในแปลง ทำเป็นร่องน้ำก็ได้ ไม่ผิดอะไร นี้เป็นปลีกย่อยที่จะแก้ไขได้ ที่พูดมาเป็นหลักการ ไม่ใช่เด็ดขาดตายตัว จะทำให้ดินหายเปรี้ยวโดยไม่ต้องใส่ปูนจำนวนมากๆ ปูนไม่แพงแต่ค่าขนส่งจะสูง เป็นหลักการที่เราพยายามทำ หากปลูกพืชอะไรในดินเปรี้ยวได้ก็ดี ทำให้เกิดอินทรีย์ขึ้น พัฒนาดินขึ้นมาโดยการใส่ต้นไม้ ทำเป็นร่องที่ติดต่อกันแล้วน้ำลงที่สระก็ทำได้ เป็นการล้างดิน ก็แล้วแต่ภูมิประเทศว่าเป็นที่ราบหรือที่ภูเขา ต้องช่วยกันคิด ตอนแรกอาจไม่ได้ประโยชน์ ที่ให้ทำเป็น ๒ สระ เป็นหลักการ ให้ช่วยกัน อาจต้องใช้เวลา ๒-๓ ปี ที่นครนายกไม่พูดถึงปูนมาร์ล เพราะเราใช้น้อยที่สุดหรือไม่ใช้เลย เราจะหาวิธีใช้น้ำฝนผ่านดิน เป็นการล้างความเป็นกรดของดิน การลดกรดโดยไม่ต้องใส่ปูน หรือนำมาใส่ทีหลังก็ไม่เสียหาย ทำอย่างนี้ไม่เป็นการใช้อภิสิทธิ์แต่อย่างใด เรื่องการใช้น้ำ ชาวบ้านก็ไม่เดือดร้อน เป็นการทดลองไม่ใช้ปูน ที่นครนายก เรามีเขื่อนท่าด่าน ใช้ประโยชน์ได้สองแสนกว่าไร่ ถ้าเอาน้ำจากท่าด่านมาล้างดินเปรี้ยวก็อาจมีปัญหา เราดื้อที่จะทำที่ ๕๐ ไร่ เพราะเป็นที่ของเราเอง ทดลองว่าจะได้ผลอย่างไร ใช้วิธีแบบใหม่จะเรียกว่าเก่าก็ได้ คือบางคนอาจคิดว่าไม่ทันสมัย เป็นเรื่องของการศึกษาวิจัย การใส่ปูนตั้งแต่ทีแรกเป็นของธรรมดา รู้กันอยู่แล้ว เราไม่เอา ดื้อเพื่อให้รู้ ได้หรือไม่ได้ ไม่เป็นไร หลายๆ ฝ่ายไปช่วยกันคิด( เอกสารจากสำนักงาน กปร. ๒๕๔๐ ประมวลพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา "


สถานที่ : ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ