๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๗

โครงการ จัดการทรัพยากรประมงชายฝั่งโดยชุมชนแบบบูรณาการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ(ฟื้นฟูทรัพยากรและฝึกอบรม)

ตำบล ปากคลอง อำเภอ ปะทิว จังหวัด ชุมพร


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๓ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช มีพระราชดำริกับ นายกวี อังศวานนท์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่ส่วนพระองค์ ให้ดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งบริเวณชายฝั่งทะเล อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร อย่างยั่งยืน โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในลักษณะเดียวกันกับที่ได้ดำเนินการในพื้นที่ อำเภอบางสะพาน อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ผลการดำเนินงาน :

๑. การประชาสัมพันธ์และฝีกอบรมให้แก่ราษฎร

๑.๑ ประชุมราษฎรและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน ๒ ครั้ง เพื่อชี้แจงการดำเนินงานและขอความเห็นชอบในการดำเนินงานโครงการ ตลอดแนวชายฝั่งของตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร พื้นที่ดำเนินการ ๑๑๗ ตารางกิโลเมตร โดยห้ามทำการประมง ๔ ชนิด คือ

- อวนลากทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเรือกล

- อวนรุนทุกชนิดที่ใช้ประกอบกับเรือกล

- เครื่องมือคราดหอยที่ใช้ประกอบกับเรือกล

- เครื่องมืออวนล้อมจับปลากะตักประกอบกับเรือกล และเครื่องมืออวนช้อนครอบยกทำการประมงปลากะตักในเวลากลางคืน

๑.๒ จัดประชุมเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินงาน ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชาวประมง ให้เข้าใจหลักการดำเนินงานโครงการจัดการทรัพยากรประมงชายฝั่งโดยชุมชน จำนวน ๔ ครั้ง ๆ ละ ๓๐ คน รวมจำนวนทั้งสิ้น ๑๒๐ คน

๑.๓ ให้ทุนผู้นำกลุ่มแม่บ้านประมงตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว จำนวน ๖ ราย พร้อมกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จำนวน ๓ ราย เข้ารับการฝึกอบรมเรื่องการพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ประมงในประเทศไทย พร้อมกับทัศนศึกษางานด้านการแปรรูปสัตว์น้ำที่จังหวัดระยอง

๑.๔ ชี้แจงและประชาสัมพันธ์ การจัดการประมงโดยชุมชนตามโครงการฯ ในทุกหมู่บ้าน (หมู่ที่ ๑, ๒, ๓, ๕, ๖ และ ๗) ของตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว ๕ ครั้ง ๕ วัน มีราษฎรเข้าร่วมฟังคำชี้แจงทั้งสิ้น ๓๐๐ คน

๒. ดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรในแหล่งน้ำไปแล้ว จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ ตัว ปรับเปลี่ยนเครื่องมือประมงให้แก่ราษฎร จำนวน ๖๐ ราย และการฝึกอบรม รวมทั้ง การก่อสร้างอาคารที่ทำการกลุ่มประมงโดยชุมชน และการจัดซื้อครุภัณฑ์สำนักงาน เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรมให้แก่กลุ่มประมงที่อยู่ในโครงการ

ประโยชน์ที่ได้รับ :

๑. ทำให้แหล่งทำการประมงพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล ตำบลปากคลอง พื้นที่ ๑๑๗ ตารางกิโลเมตร มีความอุดมสมบูรณ์เพิ่มขึ้น

๒. ช่วยเพิ่มรายได้และมาตรฐานการครองชีพให้แก่ชุมชน จำนวน ๖ หมู่บ้าน ๙๗๖ ครัวเรือน ๔,๑๕๒ คน

๓. ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์

๔. ช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรและระบบนิเวศน์ชายฝั่งทะเล

๕. เป็นต้นแบบในการนำไปสู่การพัฒนาการจัดการทรัพยากรประมงในพื้นที่อื่น ๆ

                       

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปของกลุ่มประมงชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ

การแปรรูปผลผลิตที่ได้จากการประมง เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับสมาชิก

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม