โครงการ ฝายคลองระเกตอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบล ปาล์มพัฒนา อำเภอ มะนัง จังหวัด สตูล
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
ด้วยสำนักราชเลขาธิการ พระบรมมหาราชวัง ได้มีหนังสือ ที่ รล ๐๐๐๙/๐๑๕๙๑ ลงวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๔๕ ขอให้กรมชลประทานพิจารณากรณี นางประทุม เซี่ยงหวอง สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลปาล์มพัฒนา บ้านควนดินดำ หมู่ที่ ๙ ตำบลปาล์มพัฒนา กิ่งอำเภอมะนัง จังหวัดสตูล ได้มีหนังสือ ลงวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ ถึงสำนักราชเลขาธิการ ขอให้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระมหากรุณาให้ทางราชการขยายเขตไฟฟ้า และจัดหาน้ำอุปโภค-บริโภค เพิ่มเติม ให้กับราษฎรในเขตพื้นที่บ้านควนดินดำ หมู่ที่ ๙ จำนวน ๗๒ ครัวเรือน รวมราษฎร ๓๒๓ คน
สำนักราชเลขาธิการ ได้มีหนังสือที่ ๐๐๐๕.๕/๑๒๘๔๘ ลงวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๖ แจ้งว่าได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม โครงการฝายคลองระเกต และระบบท่อส่งน้ำ ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สถานที่ตั้ง : ตั้งอยู่ หมู่ที่ ๙ ตำบลปาล์มพัฒนา กิ่งอำเภอมะนัง จังหวัดสตูล พิกัด ๔๗ NPH ๑๑๙-๘๕๗ ตามที่มาตรส่วน ๑: ๕๐,๐๐๐ ระวาง ๔๙๒๓ II และ ๕๐๒๓ III ลำดับชุด L๗๐๑๗
การดำเนินงาน : ดำเนินการในปีงบประมาณ ๒๕๔๗ แล้วเสร็จ ๑๐๐%
สภาพภูมิประเทศ : ภูมิประเทศตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบเชิงเขาตามแนวเทือกเขาบรรทัด สภาพป่าต้นน้ำยังอุดมสมบูรณ์เป็นต้นน้ำของต้นน้ำหลายสาย เช่น คลองระเกต คลองลำโลน เป็นต้น มีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น ถ้ำภูผาเพชร ถ้ำเจ็ดคต ถ้ำระฆังทอง น้ำตกวังใต้หนาน น้ำตกคลองสงขลา เป็นต้น ราษฎรประมาณ ๑๘๒ ครัวเรือน ประชากร ๖๘๒ คน ประกอบอาชีพทำสวนปาล์มน้ำมัน สวนยางพารา และสวนผลไม้ การเลี้ยงสัตว์พื้นบ้าน ปัจจุบันราษฎรอาศัยน้ำจากคลองธรรมชาติ เพื่ออุปโภค-บริโภค และอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ในการการเกษตร ซึ่งในฤดูแล้งราษฎรจะประสบกับความเดือดร้อนในเรื่องน้ำสำหรับการอุปโภค-บริโภค และน้ำที่ใช้ในกิจกรรมการเกษตร
สภาพลำน้ำ : แหล่งน้ำบริเวณที่ราษฎรร้องขอโครงการ เป็นลำน้ำที่มีต้นน้ำมาจากเทือกเขาเขียวและเขาคลองโลน มีลำน้ำ ๒ สาย ไหลมาบรรจบกัน ขนาดความกว้างลำน้ำบริเวณที่จะตั้งหัวงานประมาณ ๑๒.๐เมตร ความลึกจากตลิ่งถึงท้องน้ำประมาณ ๓.๕๐ เมตร ท้องน้ำมีสภาพเป็นกรวดทรายและหินลอยขนาดใหญ่ กระจายทั่วทั้งลำน้ำ การแพร่กระจายของน้ำท่าในลำน้ำแต่ละช่วงไม่สม่ำเสมอ สภาพการไหลเป็นไปตามปริมาณและช่วงเวลาที่ฝนตก โดยจะมีปริมาณน้ำมากในฤดูฝน ส่วนฤดูแล้งมีปริมาณน้ำน้อยแต่มีน้ำไหลตลอดปี
ลักษณะโครงการ : จากการตรวจสอบสภาพพื้นที่ที่ราษฎรได้รับความเดือดร้อนเรื่องน้ำอุปโภค-บริโภค บ้านควนดินดำ หมู่ที่ ๖,๙ ตำบลปาล์มพัฒนา กิ่งอำเภอมะนัง จังหวัดสตูล พบว่า ในช่วงฤดูแล้งราษฎรได้รับความเดือดร้อนในเรื่องน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค เนื่องจากปริมาณน้ำในธรรมชาติมีปริมาณไม่มากพอ ไม่สามารถนำน้ำจากแหล่งธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ บ่อน้ำตื้นจะแห้งขอด และในบริเวณดังกล่าวไม่สามารถที่จะใช้น้ำจากโครงการอ่างเก็บน้ำโตนเขาไคร อันเนื่องมาจากพระราชดำริได้ ราษฎรต้องซื้อน้ำดื่มจากท้องตลาด ซึ่งมีราคาแพงเนื่องจากการคมนาคมในท้องถิ่นค่อนข้างทุรกันดาร ส่วนน้ำที่ใช้เพื่อการเกษตรต้องอาศัยน้ำฝนเท่านั้น
เมื่อทำการศึกษารายละเอียดสภาพภูมิประเทศจริงในสนามประกอบกับแผนที่มาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ ลำดับชุด L๗๐๑๗ ระวาง ๔๙๒๓ II และ ๕๐๒๓ III แล้ว สามารถพิจารณาดำเนินการจัดหาน้ำเพื่อช่วยเหลือราษฎรที่เดือดร้อน โดยวิธีการก่อสร้างฝายทดน้ำคลองระเกต และระบบท่อส่งน้ำ อุปโภค-บริโภค เพื่อกระจายน้ำสู่พื้นที่โครงการ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
ฝายทดน้ำและอาคารประกอบ
ข้อมูลอุทกวิทยา
- พื้นที่รับน้ำฝนเหนือฝายทดน้ำ ๓.๘๐ ตารางกิโลเมตร
- ปริมาณฝนตกเฉลี่ยทั้งปี (อ.ควนกาหลง) ในบริเวณพื้นที่รับน้ำฝนเหนือฝาย ๒,๐๘๘.๐๗ มิลลิเมตร
- ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยทั้งปีที่ไหลผ่านฝาย ๓.๑๙๙ ล้านลูกบาศก์เมตร
ฝายทดน้ำและอาคารประกอบ
ฝายคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด : สูง ๒.๐๐ เมตร จำนวน ๑ แห่ง
: ยาว ๑๕.๐๐ เมตร
ระบบท่อส่งน้ำและอาคารประกอบ
- ท่อส่งน้ำ PVC ขนาด Ø ๐.๑๐-๐.๒๐ เมตร ยาวรวม ๘,๙๖๗ เมตร
- BLOW OFF ๒๙ แห่ง
- AIR RELEASE VALVE ๒๖ แห่ง
- จุดจ่ายน้ำ ๒๗ แห่ง ระยะเวลาก่อสร้าง : ๑ ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๔๘)
ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ : สามารถส่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ให้แก่ราษฎร ในหมู่ที่ ๙ บ้านควนดินดำ ตำบลปาล์มพัฒนา กิ่งอำเภอมะนัง จังหวัดสตูล และหน่วยอนุรักษ์พิทักษ์ป่าถ้ำภูผาเพชร ซึ่งมีจำนวนประชากร ๑๘๒ ครัวเรือน ประชากร ๖๘๒ คน รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวถ้ำภูผาเพชร ให้มีน้ำใช้ในการอุปโภค-บริโภค ได้เพียงพอตลอดปีและสามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตรได้บางส่วนตามแนวท่อส่งน้ำ
ฝายทดน้ำคลองระเกต อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ