๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๗

โครงการ บรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ตามแนวพระราชดำริ (ขุดลอกคลองอู่ตะเภาแยก ๓)

คลองอู่ตะเภา ตำบล หาดใหญ่ อำเภอ หาดใหญ่ จังหวัด สงขลา


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

๑.๑ เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม  ๒๕๓๑ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชดำริเกี่ยวกับการบรรเทาอุทกภัยพื้นที่ในเขตอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งได้รับความเสียหายเนื่องมาจากเกิดฝนตกหนักติดต่อกันระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๓  พฤศจิกายน ๒๕๓๑ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับทางราชการในการเข้าไปฟื้นฟูพัฒนาพื้นที่และแก้ไขป้องกันมิให้พื้นที่เหล่านั้น และบริเวณข้างเคียงต้องได้รับความเสียหายเช่นนี้อีกต่อไป โดยมีรายละเอียดตามแนวพระราชดำริที่พระราชทานไว้ดังนี้

 “การเกิดน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ในเขตธุรกิจอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีสาเหตุสำคัญเนื่องมาจากน้ำคลองอู่ตะเภาที่ไหลผ่านเขตอำเภอมีระดับสูงล้นตลิ่งแล้วไหลบ่าเข้าไปท่วมบริเวณกลางเมืองหาดใหญ่และพื้นที่ทั่วไปเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งน้ำที่ไหลบ่าเข้ามานั้นได้ท่วมพื้นที่ต่าง ๆ อย่างรวดเร็วและท่วมขังมีความลึกมาก ทำให้สภาพเศรษฐกิจโดยส่วนรวมของอำเภอหาดใหญ่และทรัพย์สินราษฎรได้รับความเสียหายอย่างไม่เคยปรากฏเช่นนี้มาก่อน

การแก้ไขและบรรเทาอุทกภัยด้วยวิธีการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่คลองอู่ตะเภาหรือตามลำน้ำสาขา เพื่อสกัดน้ำจำนวนมากไม่ให้ไหลลงมาอำเภอหาดใหญ่นั้น คงไม่สามารถดำเนินการได้เพราะไม่มีทำเลที่เหมาะสมในการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำที่มีขนาดใหญ่ดังกล่าวได้เลย ดังนั้น การแก้ไขปัญหาและบรรเทาน้ำท่วมที่ควรพิจารณาดำเนินการ น่าจะได้แก่ การขุดคลองระบายน้ำขนาดใหญ่ ให้ทำหน้าที่แบ่งน้ำจากคลองอู่ตะเภาหรือช่วยรับน้ำที่ไหลลงมาท่วมตัวอำเภอหาดใหญ่ให้ระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาโดยเร็ว นอกจากนั้น หากต้องการที่จะป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่ธุรกิจให้ได้ผลโดยสมบูรณ์แล้ว หลังจากที่ก่อสร้างคลองระบายน้ำเสร็จก็ควรพิจารณาสร้างคันกั้นน้ำรอบบริเวณพื้นที่ดังกล่าว พร้อมกับติดตั้งระบบสูบน้ำออกจากพื้นที่ไม่ให้ท่วมขังตามความจำเป็น ทั้งนี้ ให้พิจารณาร่วมกับระบบของผังเมืองให้มีความสอดคล้องและได้รับประโยชน์ร่วมกันด้วย”

๑.๒ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชดำรัสต่อคณะกรรมการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์เกี่ยวกับน้ำท่วมอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สรุปความว่า “เหตุการณ์น้ำท่วมที่หาดใหญ่ที่ผ่านมามีความเสียหายทั้งชีวิตคนและทรัพย์สิน ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ไม่ทันรู้ว่าน้ำมาอย่างไร ความจริงเคยได้ไปหาดใหญ่แล้ว และเคยชี้ว่าจะทำอย่างไร มีการสร้างสิ่งมาขวางกั้นทางน้ำ ถ้าไปดูทางด้านตะวันตกของเมืองจะพบว่ามีถนน แต่พยายามทำขึ้นมาคล้ายพนังกั้นน้ำ แต่ไม่ได้รักษา ทางทิศเหนือมีถนนที่กำลังสร้างหรือสร้างใหม่ ๆ ซึ่งเป็นเขื่อนกั้นน้ำไม่ให้ไหลออกจากเมืองทำให้น้ำท่วมเมืองสูงถึง ๒ – ๓ เมตร ได้บอกมาเป็นเวลา ๑๐ กว่าปีแล้วไม่ให้สร้างถนนที่เป็นเขื่อนกั้นน้ำ”

๑.๓ เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๔๔ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระราชกระแสต่อคณะบุคคลที่เข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล ณ ศาลาดุสิดาลัย เกี่ยวกับน้ำท่วมอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา สรุปความว่า “เมื่อวันที่ ๒๐ – ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ มีน้ำท่วมหนักที่ภาคใต้ โดยเฉพาะที่หาดใหญ่มีความเสียหายหลายพันล้านบาท ถ้าได้ทำตามแผนที่วางไว้ ที่ลงทุนนั้นกลับคืนมาหลายเท่าตัวแล้ว ซึ่งเมื่อปี ๒๕๓๑ ได้เกิดน้ำท่วมสร้างความเสียหายมาก ได้เคยไปที่นั่นและได้ศึกษาทั้งในพื้นที่และในแผนที่ รู้ว่าควรจะทำอย่างไร แต่ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไรเหมือนบอกว่ามันแพง ก็อย่างที่ว่ามันแพงแต่ว่าจะคุ้ม โครงการที่ว่าวางไว้แล้ว ๑๒ ปีก่อน ควรจะได้ทำตามที่ได้วางแผนไว้ ที่ผ่านมาได้ทำนิด ๆ หน่อย ๆ แถมยังได้สร้างอะไรที่ทำให้น้ำท่วมร้ายแรงขึ้น บางพื้นที่ท่วมสูงถึง ๓ เมตร เพราะว่าจากแรงคนแทนที่จะไปทำเขื่อนที่อื่น เพื่อจะได้เก็บน้ำเอาไว้ป้องกันน้ำท่วมหรือเก็บน้ำมาทำการเกษตรในหน้าแล้ง แต่กลับทำเขื่อนกั้นน้ำทำให้เมืองหาดใหญ่จมลงไปในน้ำ นอกจากนี้ควรจะได้ทำพนัง โดยใช้ถนนเหมือนกัน โดยขุดอีกสายหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำ ถนนที่ควรจะเป็นพนังก็ทำเตี้ย ส่วนถนนนี้เป็นเขื่อนกลับทำสูงและไม่ได้ทำช่องให้น้ำผ่าน ซึ่งควรจะได้ใช้หลักวิชาการมาดำเนินการ”

แผนการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ ๒๕๓๑ – ๒๕๔๓  :

๑. งานขุดคลองธรรมชาติรวม ๘ สาย

    ๑.๑. คลองอู่ตะเภา ความยาว ๒๗.๑๘๐ กม. ระบายน้ำสูงสุด ๔๒๐ ลบ.ม./วินาที

    ๑.๒. คลองอู่ตะเภาแยก ๑ ความยาว ๒.๘๖๐ กม. ระบายน้ำสูงสุด ๓๐ ลบ.ม./วินาที

    ๑.๓. คลองอู่ตะเภาแยก ๒ ความยาว ๖.๖๒๐ กม. ระบายน้ำสูงสุด ๕๐ ลบ.ม./วินาที

    ๑.๔. คลองท่าช้าง – บางกล่ำ ความยาว ๑๗.๙๖๐ กม. ระบายน้ำสูงสุด ๑๘๐ ลบ.ม./วินาที

    ๑.๕. คลองแห ความยาว ๓.๙๓๐ กม. ระบายน้ำสูงสุด ๔๐ ลบ.ม./วินาที

    ๑.๖. คลองวาด ความยาว ๓.๖๒๕ กม. ระบายน้ำสูงสุด ๑๒๐ ลบ.ม./วินาที

    ๑.๗. คลองต่ำ ความยาว ๓.๖๒๕ กม. ระบายน้ำสูงสุด ๘๐ ลบ.ม./วินาที

    ๑.๘. คลองหวะ ความยาว ๓.๔๐๐ กม. ระบายน้ำสูงสุด ๘๐ ลบ.ม./วินาที

๒. งานขุดคลองระบายน้ำสายใหม่ รวม ๓ สาย

    ๒.๑. คลองระบายน้ำสาย ร. ๑ ความยาว ๒๑.๔๓๕ กม. ระบายน้ำสูงสุด ๒๑๐ ลบ.ม./วินาที

    ๒.๒. คลองระบายน้ำสาย ร. ๒ ความยาว ๓.๘๔๐ กม. ระบายน้ำสูงสุด ๔๐ ลบ.ม./วินาที

    ๒.๓. คลองระบายน้ำสาย ร. ๓ ความยาว ๗.๖๕๐ กม. ระบายน้ำสูงสุด ๖๐ ลบ.ม./วินาที

๓. งานก่อสร้างประตูระบายน้ำปลายคลอง

ผลการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ ในช่วงปี ๒๕๓๒ – ๒๕๔๒  :

๑. การขุดลอกคลองธรรมชาติตามแนวพระราชดำริ

กรมชลประทานได้ดำเนินการขุดลอกคลองธรรมชาติได้จำนวน ๕ สาย จากแผนการดำเนินงานทั้งหมด จำนวน ๘ สาย คือ

๑.๑. คลองอู่ตะเภา ความยาว ๒๗.๑๘๐ กิโลเมตร

๑.๒. คลองอู่ตะเภาแยก ๑ ความยาว ๒.๘๖๐ กิโลเมตร

๑.๓. คลองอู่ตะเภาแยก ๒ ความยาว ๖.๓๒๕ กิโลเมตร

๑.๔. คลองท่าช้าง – บางกล่ำ ความยาว ๑๖.๖๒๐ กิโลเมตร

๑.๕. คลองหวะ ความยาว ๓.๔๐๐ กิโลเมตร

๒. งานขุดคลองระบายน้ำสายใหม่

งานขุดคลองระบายน้ำสายใหม่ จำนวน ๓ สาย ไม่สามารถดำเนินการขุดได้ เนื่องจากราษฎรไม่ยินยอมและต่อต้าน เพราะไม่พอใจราคาซื้อขายที่ดิน ซึ่งต่ำกว่าราคาซื้อขายในตลาด

ผลการดำเนินงานตามแนวพระราชดำริ ในช่วงปี ๒๕๓๒ – ๒๕๔๒ :

การดำเนินการก่อสร้างโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ไม่สามารถดำเนินการได้ครบถ้วนตามแผนงาน เนื่องจากสาเหตุ ดังนี้

        ๑) งานขุดลอกและขยายคลองธรรมชาติ ๘ สาย มีสิ่งปลูกสร้างและราษฎรอาศัยอยู่ริมคลองหนาแน่นมาเป็นเวลานานแล้ว จึงไม่สามารถดำเนินการขุดขยายความกว้างของคลองธรรมชาติได้ตามรูปแบบ

        ๒) งานขุดคลองระบายน้ำสายใหม่ ๓ สาย ราคาซื้อขายที่ดินในเขตอำเภอหาดใหญ่สูงกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์จังหวัด เพื่อใช้ในการเก็บค่าธรรมเนียมในการโอนกรรมสิทธิ์และนิติกรรม ทำให้ราษฎรเจ้าของที่ดินไม่ยอมรับและคัดค้านการก่อสร้าง

        ๓) ราษฎรที่อยู่บริเวณคลองธรรมชาติใกล้ทะเลสาบสงขลา ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำการเกษตร มีความเคยชินกับสภาพน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนประมาณ  ๒ – ๓ เดือนของทุกปี เมื่อจะต้องสูญเสียที่ดินไปเพื่อใช้ในการก่อสร้างคลองระบายน้ำสายใหม่ จึงมีการต่อต้าน

        ๔) ทัศนคติของราษฎรนอกเขตเทศบาลมีข้อคิดเห็นว่าเป็นผู้เสียประโยชน์ โดยที่ราษฎรซึ่งอยู่ในเขตเทศบาลเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์

 ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานช่วงปี ๒๕๔๔ - ๒๕๕๐

        จากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ เมื่อวันที่ ๒๐ – ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๘  พฤศจิกายน และ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๔๓  มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานงานในการแก้ไขปัญหา โดยได้ปรึกษาหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนป้องกันอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาแบบเบ็ดเสร็จ โดยได้พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของแผนงานโครงการที่สอดคล้องผสมผสานกัน ตามความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว พร้อมทั้งได้ปรับลดแผนงาน/โครงการที่ซ้ำซ้อนระหว่างหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องออก ซึ่งแผนงานมีกำหนดระยะเวลาดำเนินการประมาณ ๑๐  ปี (๒๕๔๔ – ๒๕๕๓) ใช้งบประมาณ ๑๐,๖๓๓.๕ ล้านบาท ดังมีสาระสำคัญ ดังนี้

๑) แผนระยะเร่งด่วน เป็นแผนงานที่กำหนดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จก่อนเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๔ (ก่อนฤดูฝนปี ๒๕๔๔) และโครงการที่ต้องเริ่มดำเนินการในปี ๒๕๔๔ งบประมาณรวม ๓,๘๓๗.๘ ล้านบาท ประกอบด้วย ๕ แผนงานหลัก ได้แก่

    ๑.๑) แผนงานปรับปรุงระบบเร่งระบายน้ำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการจัดทำแบบจำลองอุทกภัยและติดตั้งระบบเตือนภัย

        ๑.๑.๑) โครงการขุดคลองระบายน้ำสายใหม่ ๕ สาย ประกอบด้วย คลองระบายน้ำ ร.๑ ร.๓ ร.๔ ร.๕ และ ร.๖ เพื่อผันน้ำบางส่วนในคลองอู่ตะเภาและคลองเตย ไม่ให้ผ่านตัวเมือง ดำเนินการโดยกรมชลประทาน งบประมาณ ๓,๓๖๐.๐ ล้านบาท ขณะนี้ได้ดำเนินการสำรวจออกแบบแล้วเสร็จ ๑๐๐% และอยู่ระหว่างปักหลักเขตและทำการรังวัดแนวเขต รวมทั้ง จ่ายเงินค่าที่ดินและผลอาสินไปแล้วจำนวน ๓๘๙ แปลง นอกจากนี้ได้ดำเนินการขุดคลองระบายน้ำ ร.๓ ช่วงบริเวณทะเลสาบสงขลา ความยาว ๔.๐๐ กิโลเมตร พร้อมถนนคันคลอง และสะพานรถยนต์ข้ามคลองระบายน้ำ ๑ แห่ง ได้ผลงาน ๔๐.๘๖%

        ๑.๑.๒) โครงการขุดลอกคลองธรรมชาติ ดำเนินการโดย กรมชลประทาน งบประมาณ ๙๑.๐ ล้านบาท โดยในปี ๒๕๔๔ ดำเนินการขุดลอก ๔ คลอง คือ คลองอู่ตะเภาช่วงริมทะเลสาบสงขลา คลองอู่ตะเภาแยก ๑ คลองอู่ตะเภาแยก ๒ และคลองท่าช้าง-บางกล่ำ ขณะนี้ได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และในปี ๒๕๔๕ ดำเนินการขุดลอกคลองหนองขอน คลองสายบานา คลองยวนยาง คลองโรงอิฐ คลองหนองม่วง คลองขุด คลองช่อน คลองหวะ คลองลาน งบประมาณ ๑๘.๕๙ ล้านบาท ได้ผลงาน ๗๘%

        ๑.๑.๓) โครงการจัดทำแบบจำลองปริมาณน้ำ การไหลและสภาพน้ำท่วมและการติดตั้งระบบเตือนภัย ดำเนินการโดยกรมชลประทาน งบประมาณ ๑๐๐.๐ ล้านบาท มีเป้าหมายดำเนินการ เพื่อศึกษาการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ติดตั้งระบบโทรมาตร พร้อมทั้งพัฒนาแบบจำลองคาดการณ์และการบริหารจัดการน้ำและการจัดทำระบบคาดการณ์ฝนระยะไกล พร้อมทั้งจัดการระบบคาดการณ์และเตือนภัยน้ำท่วม ขณะนี้ได้ดำเนินการสำรวจภูมิประเทศ และจัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการศึกษาการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา รวมทั้ง ก่อสร้างอาคารควบคุมและติดตั้งอุปกรณ์ระบบโทรมาตร คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี ๒๕๔๖  ซึ่งในปี ๒๕๔๕ สามารถใช้ระบบจำลองทางคณิตศาสตร์คาดการณ์สถานการณ์น้ำท่วมได้แล้ว

    ๑.๒) แผนงานป้องกันน้ำไหลเข้าท่วมตัวเมืองหาดใหญ่

• ดำเนินการโดย เทศบาลนครหาดใหญ่ งบประมาณ ๑๗๗.๔ ล้านบาท ขณะนี้ได้ดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำคลองเตย ระบบตักขยะอัตโนมัติ ระบบสูบน้ำถนนเพชรเกษม ท่อระบายน้ำขนานถนนราษฎรยินดี และระบบไฟฟ้าแยกจากชุมชน

    ๑.๓) แผนงานปรับปรุงสิ่งก่อสร้างที่กีดขวางทางระบายน้ำ โดยกรมทางหลวง กรมโยธาธิการ กรมการเร่งรัดพัฒนาชนบท และการรถไฟแห่งประเทศไทย งบประมาณ ๙๕.๔ ล้านบาท ขณะนี้ได้ปรับปรุงเรียบร้อยแล้ว

    ๑.๔) แผนงานสำรวจข้อมูลและกำหนดมาตรการบังคับใช้ผังเมืองรวมปัจจุบัน กำหนดรูปแบบการใช้ที่ดิน และการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ดำเนินการโดยกรมการผังเมือง และกรมพัฒนาที่ดิน งบประมาณ  ๑๔.๐ ล้านบาท ขณะนี้ ได้ดำเนินการศึกษา สำรวจ เก็บข้อมูล และวิเคราะห์แนวทางปรับปรุงเมืองหาดใหญ่

๒) แผนระยะปานกลาง เป็นแผนงานที่กำหนดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๕๔๘  งบประมาณรวม ๑,๒๖๘.๖ ล้านบาท

    ๒.๑) แผนงานสำรวจและออกแบบอ่างเก็บน้ำบนลำน้ำสาขาคลองอู่ตะเภา 6 แห่ง ดำเนินการโดยกรมชลประทาน งบประมาณ ๑๙.๐ ล้านบาท กำหนดดำเนินการในปี ๒๕๔๕ – ๒๕๔๗

    ๒.๒) แผนงานก่อสร้างเสริมประสิทธิภาพระบบป้องกันน้ำท่วมและน้ำท่วมขังในเมือง ดำเนินการโดย เทศบาลนครหาดใหญ่ มี ๓ โครงการ งบประมาณ ๑,๒๔๔.๑ ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ ๓ ปี ระหว่างปี ๒๕๔๕ – ๒๕๔๗

    ๒.๓) แผนงานปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองหาดใหญ่ และกำหนดมาตรการบังคับใช้ ดำเนินการโดย กรมการผังเมือง มี ๑ โครงการ งบประมาณ ๕.๕ ล้านบาท กำหนดดำเนินการในปี ๒๕๔๕ – ๒๕๔๘

๓) แผนระยะยาว เป็นแผนงานที่กำหนดการดำเนินงานให้แล้วเสร็จภายหลังปี ๒๕๔๘  ส่วนใหญ่เป็นโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำและการฟื้นฟู อนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำเพื่อประโยชน์ในการจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำและเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง นอกจากนี้ยังทำหน้าที่เป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำบางส่วนไว้ไม่ให้เข้าท่วมพื้นที่ตอนล่าง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการลุ่มน้ำ และลดโอกาสการเกิดอุทกภัยในระยะยาว งบประมาณรวม ๕,๕๓๐.๑ ล้านบาท ประกอบด้วย

    ๓.๑) แผนงานจัดหาที่ดินและการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดต่าง ๆ รวม ๖  แห่ง บนลำน้ำสาขาของคลองอู่ตะเภา ดำเนินการโดยกรมชลประทาน มี ๑ แผนงาน งบประมาณ ๕,๔๓๐.๐ ล้านบาท

    ๓.๒) แผนงานปลูกป่าและการจัดระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภา ดำเนินการโดยกรมป่าไม้ มี ๑ โครงการ งบประมาณ ๑๐๐.๑ ล้านบาท โดยใช้งบประมาณปกติของกรมป่าไม้

โดยแผนป้องกันอุทกภัยพื้นที่ลุ่มน้ำคลองอู่ตะเภาเป็นแผนงานขนาดใหญ่ที่มีลักษณะผสมผสานเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน และมีผลกระทบต่อประชาชน โดยมีความจำเป็นต้องโยกย้ายประชาชนในพื้นที่ประมาณ ๑,๗๐๐  ครอบครัว หรือ ๕,๔๐๐  คน ประกอบด้วย

การโยกย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ก่อสร้างคลองระบายสายใหม่ ๑๒๐ ครอบครัว หรือ ๔๐๐  คน

การโยกย้ายประชาชนออกจากพื้นที่ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ๖ แห่ง ๑,๕๘๐ ครอบครัว หรือ ๕,๐๐๐  คน

      

ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานในพิธีเปิดการขุดคลองระบายน้ำ ร.๓ เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๕

งานขุดคลองระบายน้ำ ร.๓ ที่ กม. ๒+๗๐๐ (มองไปทางท้ายน้ำ)

งานขุดคลองระบายน้ำ ร.๓ ที่ กม. ๓+๐๐๐ (มองไปทางท้ายน้ำ)

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ