๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๗

โครงการ พัฒนาพื้นที่บ้านหัวป่าเขียว

ตำบล ทะเลน้อย อำเภอ ควนขนุน จังหวัด พัทลุง


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

เมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๔๒ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรบ้านหัวป่าเขียว ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ได้ทรงทราบถึงความเดือดร้อนของราษฎรที่ประสบปัญหาการประกอบอาชีพที่ดินทำกิน ปัญหาน้ำท่วมขัง และขาดแคลนน้ำสำหรับการทำนา จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่และช่วยเหลือราษฎรให้มีอาชีพเสริมหลังจากการทำนา และเวลาถูกน้ำท่วม โดยสร้างศาลาศิลปาชีพคล้าย ๆ กับที่บ้านเนินธัมมัง

วัตถุประสงค์ของโครงการ :

๑. สนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

๒. พัฒนาและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่บ้านหัวป่าเขียวทั้งในด้านการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาการเกษตรและอาชีพ และการพัฒนาสังคม เพื่อยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชน

๓. ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย น้ำท่วมขัง และปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อการเกษตรและอุปโภคในพื้นที่บ้านหัวป่าเขียว

๔. พัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ โดยให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนในการดำเนินงาน

สถานที่ดำเนินการ

บ้านหัวป่าเขียว หมู่ที่ ๗ ตำบลทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง

หน่วยงานรับผิดชอบ

สำนักงานจังหวัดพัทลุง กรมป่าไม้ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง กรมโยธาธิการ กรมปศุสัตว์ กองบัญชาการทหารสูงสุด กรมการพัฒนาชุมชน กรมประชาสงเคราะห์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมที่ดิน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมอนามัย หน่วยงานในท้องถิ่น

ผลการดำเนินงานสนองพระราชดำริ

จังหวัดพัทลุง ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนแม่บทโครงการฯ ระยะ ๓ ปี (พ.ศ. ๒๕๔๓ - ๒๕๔๕) ซึ่งมีผลการดำเนินงานสรุปได้ตามแผนฯ ดังนี้

๑. แผนงานด้านชลประทาน

ได้มีแผนที่จะขุดลอกคลองตะเคร็งและทำคันล้อมพื้นที่โครงการฯ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและน้ำท่วมขัง รวมทั้งแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ แต่เนื่องจากได้มีความห่วงใยจากหลาย ๆ ฝ่าย ในเรื่องการขุดลอกดังกล่าว เนื่องจากพื้นที่เป็นพื้นที่พรุและอยู่ใกล้กับอุทยานแห่งชาติทะเลน้อย ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำ (Ramsar Site) อันดับที่ ๑๑๐ ของโลก เกรงว่าจะเกิดผลกระทบจากการขุดลอก สำนักงาน กปร. จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและเสนอแนวทางการพัฒนาสำหรับประกอบการพิจารณาการดำเนินโครงการฯ ต่อไป ซึ่งผลจากการศึกษาสรุปได้ว่า สามารถทำการขุดลอกคลองตะเคร็งเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนก่อน โดยจะเริ่มต้นขุดจากปลายคลองตะเคร็งที่ไหลลงสู่ทะเลน้อยขึ้นไป ตามลำน้ำให้เชื่อมต่อกับคลองชะอวดเป็นระยะทาง ๑๒.๔๐๐ กม. มีความกว้างตั้งแต่ ๑๐ – ๒๕ เมตร และที่ระดับความลึกเฉลี่ย ๒.๕ เมตร (เนื่องจากผลการวิเคราะห์ตัวอย่างดิน พบว่า ดินบริเวณผิวหน้าดินที่ระดับความลึก ประมาณ –๐.๗๐ ถึง –๐.๕๐ เมตร มีสารประกอบกำมะถันค่อนข้างมาก แต่ที่ความลึก –๓.๘๐ ถึง –๔.๐๐ เมตร พบว่ามีสารประกอบกำมะถันไม่มากนัก) พร้อมก่อสร้างประตูระบายน้ำปากคลองตะเคร็งก่อนไหลลงสู่ทะเลน้อย สำหรับการก่อสร้างคันกั้นน้ำ เห็นสมควรให้ระงับไว้ก่อน เนื่องจากปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ สำนักงานจังหวัดพัทลุงได้ดำเนินการตามขั้นตอนการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมเพื่อเสนอต่อกรมป่าไม้ และสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม

๒. แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ได้ดำเนินการก่อสร้างสะพาน คสล. ขนาด ๙x๒๐ เมตร ๑ แห่ง ก่อสร้างอาคารศูนย์ศิลปาชีพ ๑ หลัง ขนาด ๒๐x๓๕ เมตร เพื่อสำหรับเป็นที่ฝึกอบรมและสร้างงานศิลปาชีพให้แก่ราษฎรบ้านหัวป่าเขียว พร้อมทั้ง ขยายเขตระบบไฟฟ้าแรงสูงพร้อมติดตั้งระบบไฟฟ้าและติดตั้งหม้อแปลงระบบ ๑ เฟส ๑๙,๐๐๐ – ๔๖๐/๒๓๐V ขนาด ๓๐ KVA แอมป์ ๑ เครื่อง ภายในอาคารศูนย์ศิลปาชีพ รวมทั้งได้ดำเนินการสำรวจและจัดทำแผนที่ระดับขอบเขต ๓,๐๐๐ ไร่ เพื่อวางแผนการใช้ที่ดินเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ที่ดิน เพื่อทำการเกษตรให้ได้ผลผลิตดีขึ้น

๓. แผนงานพัฒนาอาชีพและยกระดับรายได้

ได้ดำเนินการส่งเสริมการฝึกอาชีพให้แก่ราษฎรทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของราษฎรให้ดีขึ้น อาทิเช่น การผลิตและปล่อยพันธุ์ปลาดุกอุย จำนวน ๓,๐๐๐ ตัว การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตข้าว โดยจัดตั้งกลุ่มผู้ผลิตข้าวคุณภาพดี รวมทั้งสนับสนุนปัจจัยการผลิต อบรมการเกษตรและนำเกษตรกรดูงาน สำหรับการพัฒนาอาชีพเสริมได้ส่งเสริมให้ราษฎรฝึกอาชีพการตัดเย็บเสื้อผ้าส่งโรงงาน ฝึกอบรมทักษะการผลิตชั้นสูง การซ่อมจักร ฝึกอบรมการซ่อมจักร พร้อมทั้งสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์

๔. แผนงานพัฒนาสังคม

ได้ดำเนินการด้านสาธารณสุขแก่เด็กตั้งแต่แรกเกิดขึ้นไป รวมทั้งสตรีมีครรภ์ พร้อมทั้งได้จัดสวัสดิการแก่เด็ก คนชรา และคนพิการ

๕. แผนงานพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ได้ดำเนินการแบ่งเขตพื้นที่อนุรักษ์ (ป่าเสม็ด) และพื้นที่ทำการเกษตร

๖. แผนงานบริหารจัดการ

ได้มีโครงการสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจกับราษฎรในพื้นที่ โดยการให้การศึกษาอบรมปลูกฝังอุดมการณ์ให้มีการอยากร่วมพัฒนา พร้อมทั้งจัดตั้งองค์กรในพื้นที่ เพื่อร่วมพัฒนา

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ : ราษฎร ๓๘๐ คน ๗๙ ครัวเรือน จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีทางเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น และมีอาชีพเสริม พร้อมทั้งมีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายมากขึ้นกว่าเดิม

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาแบบบูรณาการ และโครงการพัฒนาด้านอื่น ๆ