๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๗

โครงการ อ่างเก็บน้ำคลองหัวช้างอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ตำบล ตะโหมด อำเภอ ตะโหมด จังหวัด พัทลุง


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

เมื่อปี ๒๕๐๕ นายเปรม อักษรสว่าง สมาชิกสภาจังหวัดพัทลุง และนายกพุทธิกสมาคมบางแก้ว ได้นำสมาชิกฯ ยุวกสิกรและประชนประมาณ ๕๐๐ คน ขุดลอกเหมืองส่งน้ำจากคลองตะโหมดหรือคลองท่าเชียดเพื่อนำไปใช้ในเขตอำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง แต่ไม่ได้ผล เนื่องจากจะต้องขุดเหมืองส่งน้ำลึกประมาณ ๕-๖ เมตร ซึ่งเกินกำลังที่เกษตรกรจะทำได้ ต้องใช้เทคนิคและเครื่องจักรเครื่องมือในการดำเนินงาน จึงร้องเรียนผ่านชลประทานภาคใต้ในสมัยนั้น ขอให้พิจารณาเปิดโครงการท่าเชียดขึ้นเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกดังกล่าวชลประทานภาคใต้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปพิจารณาเห็นว่าลู่ทางที่จะเปิดการก่อสร้างโครงการฯ ขึ้นได้จึงส่งเจ้าหน้าที่ออกไปทำการสำรวจรายละเอียดภูมิประเทศและสถิติต่างๆ เพื่อนำมาวางโครงการและออกแบบ และได้ก่อสร้างโครงการเสร็จสิ้นในปี พ.ศ.๒๕๑๔ มีพื้นที่ทั้งหมด ๑๒๑,๕๒๗ ไร่ พื้นที่ชลประทาน ๑๐๐,๐๐๐ ไร่

วันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชได้มีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาโครงการชลประทานเพื่อช่วยเหลือการทำนาในเขตจังหวัดพัทลุง ต่อมาสำนักงานชลประทานที่ ๑๒ (ปัจจุบันคือสำนักชลประทานที่ ๑๖) ได้รับหนังสือจากอำเภอตะโหมด ที่ พท.๐๖๑๖/๒๕๖ ลงวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๒ ขอให้พิจารณาความเป็นไปได้โครงการอ่างเก็บน้ำโละหนุน ตามพระราชดำริ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกในเขตโครงการชลประทานท่าเชียด จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ ไร่ และลดอันตรายจากอุทกภัยในเขต อำเภอตะโหมด อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง

ประธานสภาตำบลตะโหมด (นายบุญชอบ เพชรหนู) ประธานสภาตำบลคลองใหญ่ (นายหวัง เสถียร) และประธานตำบลแม่ขรี (นายสวัสดิ์ มุสิกะสงค์)ได้มีหนังสือ ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๓๓ เรียนราชเลขาธิการ ขอพระราชทานสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง โดยให้เหตุผลว่าท้องที่ตำบลตะโหมด ตำบลคลองใหญ่ ตำบลแม่ขรี อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง รวม ๒๕ หมู่บ้านประชากร ๒๑,๔๔๓ คน มีการทำนาทำสวนเป็นอาชีพหลัก เนื้อที่การเกษตร ๗๓,๑๕๘ ไร่ แต่การประกอบอาชีพดังกล่าวไม่ได้ผลเต็มที่ เนื่องจากขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และเป็นคลังจ่ายน้ำให้กับโครงการชลประทานท่าเชียด

ต่อมาราชเลขาธิการ ได้มีหนังสือ ที่ รล ๐๐๕/๑๐๒๐๖ ลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๓๓ เรียนอธิบดีกรมชลประทาน และหนังสือที่ รล ๐๐๐๕/๑๐๒๐๗ ลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๓๓ เรียนผู้ว่าราชการ จังหวัดพัทลุง แจ้งให้ทราบถึงความประสงค์ของราษฎรที่ต้องการให้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหัวช้าง จึงขอให้พิจารณาในเรื่องนี้ และหากมีความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะประการใด แจ้งให้สำนักราชเลขาธิการทราบด้วย

จากการประสานงานระหว่างกรมชลประทาน โดยสำนักชลประทานที่ ๑๒ (ปัจจุบันคือสำนักชลประทานที่ ๑๖) กับจังหวัดพัทลุง เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการในเรื่องนี้ และได้ดำเนินการพิจารณาเบื้องต้นแล้วเสร็จเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๓๓

สำนักชลประทานที่ ๑๒ ได้มีบันทึกที่ กษ ๐๓๓๗/๓๕๐ ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๓๓ เรียนอธิบดีกรมชลประทาน เห็นสมควรขอพระราชทานโครงการเป็นโครงการพระราชดำริ

กรมชลประทานได้มีหนังสือที่ กษ ๐๓๐๑/๑๘๒๕ ลงวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๓๔ เรียนราชเลขาธิการ เพื่อนำความกราบบังคมทูลพระกรุณารับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

สำนักราชเลขาธิการ ได้มีหนังสือที่ รล ๐๐๐๕/๕๒๒๖ ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๓๔ และหนังสือที่รล ๐๐๐๕/๕๒๒๗ ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๓๔ แจ้งให้กรมชลประทานและผู้ว่าราชการจังหวัด ทราบตามลำดับ ว่าความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

กองวางโครงการ ได้ดำเนินการศึกษาและรายงานโครงการเสร็จเรียบร้อยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ ซึ่งต่อมาโครงการชลประทานพัทลุง ได้มีบันทึกที่ กษ ๐๓๓๗.๐๒/๖๘๖ ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๐ เรียน ผสก.ผชป.๑๒(ปัจจุบัน ผส.ชป.๑๖) เพื่อโปรดพิจารณาขออนุมัติกรมฯ ตั้งงบประมาณก่อสร้างในปี ๒๕๔๑ ต่อไป

ผลการดำเนินงาน

ดำเนินการในปีงบประมาณ ๒๕๔๘ – ๒๕๕๖ แล้วเสร็จ ๑๐๐%

ประโยชน์ที่จะได้รับ : ดำเนินการแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อราษฎรจำนวน ๕ หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหัวช้าง หมู่ที่ ๒ บ้านคลองนุ้ย หมู่ที่ ๕ บ้านโละจังกระ หมู่ที่ ๖ บ้านควนอินนอโม หมู่ที่ ๗ และ บ้านโละเหลียง หมู่ที่ ๘ ตำบลตะโหมด อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ราษฎร ๘๑๓ ครัวเรือน ๓,๘๗๓ คน จะมีน้ำใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภค นอกจากนี้ยังสามารถส่งน้ำเพื่อเป็นน้ำต้นทุนไปเติมให้กับโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียด เพื่อส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก และบรรเทาอุทกภัยช่วงฤดูฝนในเขตอำเภอตะโหมด อำเภอเขาชัยสน และอำเภอบางแก้ว ตลอดจนสามารถส่งน้ำไปช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในพื้นที่โครงการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่หมู่บ้านอาพัดและหมู่บ้านใกล้เคียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเขาชัยสน และโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริ อำเภอบางแก้ว ได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี

ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ :

๑. สามารถส่งน้ำช่วยเหลือการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาท่าเชียด จำนวน ๓๘,๐๐๐ ไร่ (พื้นที่ชลประทาน ๑๐๓,๒๙๘ ไร่)

๒. สามารถใช้น้ำในอ่างฯ เพื่อการอุปโภค – บริโภคของราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง

๓. บรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนในเขต อำเภอตะโหมด อำเภอเขาชัยสน และอำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง

๔. ส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่โครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชเสาวนีย์ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตำบลนาปะขอ อำเภอบางแก้ว จังหวัดพัทลุง

๕. ส่งน้ำสนับสนุน โครงการแก้ไขปัญหาแลพัฒนาพื้นที่หมู่บ้านอาพัด และหมู่บ้านใกล้เคียง อำเภอเขาชัยสน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

๖. สามารถใช้ตัวอ่างฯ เป็นแหล่งแพร่ เพาะ และขยายพันธ์ปลาน้ำจืดรวมทั้ง๖.เป็นแหล่งจับปลา ของราษฎรที่อยู่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ทำให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกส่วนหนึ่งด้วย

๗. ใช้เป็นสถานที่พักหย่อนใจของราษฎรที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง


    

อาคารระบายน้ำล้น (SPILLWAY)

 

ทำนบดินหัวงานและอาคารประกอบ (Main Dam )

   

ทำนบดินปิดช่องเขาขาด ๑ (Saddle Dam 1)

 

งานก่อสร้างทำนบดินปิดช่องเขาขาด ๒ (Saddle Dam 2)

 

แผนที่แสดงที่ตั้งโครงการ/แผนที่ ๑ : ๕๐,๐๐๐


ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ