๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๗

โครงการ ฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส

อำเภอ สายบุรี จังหวัด ปัตตานี


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

เมื่อปี ๒๕๔๔ ราษฎรบ้านละเวง อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานความช่วยเหลือ จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในเรื่องการฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ เนื่องจากมีปริมาณลดลงเป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๔ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชดำริกับ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ สรุปได้ว่า ให้จัดหาพื้นที่ในการจัดตั้งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งและการอนุบาลสัตว์น้ำ เพื่อปล่อยลงสู่ทะเลบริเวณจังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะในเขตบริเวณที่ทำการประมงชายฝั่งของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่มีปัญหา พร้อมทั้งจัดทำปะการังเทียมให้เกิดเป็นแหล่งชุมนุมและที่อยู่อาศัยของปลา รวมทั้งการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ชายฝั่ง

เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ได้พระราชทานพระราชกระแสเกี่ยวกับโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สรุปว่า “การดำเนินงานโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลมีประโยชน์มาก มีปลามาอาศัยอยู่มาก ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น ขอให้กรมประมงพิจารณาดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในการนี้ ทรงรับโครงการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลด้วยรถยนต์เก่าของกรุงเทพมหานครไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ”

เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ ทรงมีพระราชดำรัส ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เกี่ยวกับโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล สรุปความได้ว่า โครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๔๔ นั้น ปัจจุบันมีปลาเข้ามาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นที่พอใจของประชาชน ปีนี้ชาวประมงพื้นบ้านจึงได้เขียนจดหมายขอให้ช่วยเหลือจัดทำปะการังเทียมเพิ่มเติมอีก ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานอื่นๆ ช่วยกันประสานงานในการจัดสร้างปะการังเทียม

๒.๑ ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

สำนักงาน กปร. ร่วมกับกรมประมง การรถไฟแห่งประเทศไทยกรุงเทพมหานคร กรมเจ้าท่า กองทัพเรือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล มาตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ - ๒๕๕๐ ดังนี้

      ปี ๒๕๔๕ จัดวางตู้รถไฟในทะเล จำนวน ๒๑๐ ตู้ และ จัดวางท่อคอนกรีต จำนวน ๗๐๐ ท่อ

      ปี ๒๕๔๖ จัดวางตู้รถไฟในทะเล จำนวน ๑๐๐ ตู้

      ปี ๒๕๔๗ จัดวางตู้รถไฟในทะเล จำนวน ๓๐๐ ตู้

      ปี ๒๕๔๙ จัดวางรถยนต์ (รถขยะ) ที่ไม่ใช้งานแล้ว จำนวน ๑๘๙ คัน

      ปี ๒๕๕๐ จัดวางรถยนต์ (รถขยะ) ที่ไม่ใช้งานแล้ว จำนวน ๒๐๐ คัน

นอกจากนี้ได้ดำเนินการกิจกรรมอื่นๆที่สอดคล้องกับการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล เช่นการปลูกป่าชายเลน การผลิตพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อปล่อยลงสู่ทะเล เป็นต้น

๒.๒ การดำเนินงานในปี ๒๕๕๓

หน่วยงานต่างๆได้ร่วมกันให้การสนับสนุนวัสดุสำหรับนำไปจัดทำเป็นแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล ดังนี้

การรถไฟแห่งประเทศไทยให้การสนับสนุนตู้รถไฟจำนวน ๒๗๓ คัน

กรุงเทพมหานครสนับสนุนรถยนต์ (รถเก็บขยะมูลฝอย รถบรรทุกเทท้าย รถราดน้ำ และรถเกลี่ย) จำนวน ๑๙๘ คัน

กองทัพบกสนับสนุนรถถัง T69 จำนวน ๒๕ คัน

กองทัพไทยสนับสนุนรถยนต์ จำนวน ๓ คัน

ทั้งนี้ มีเป้าหมายจะจัดวางในทะเลจังหวัดปัตตานี ๙ กลุ่ม และจังหวัดนราธิวาส ๖ กลุ่ม รวมเป็น ๑๕ กลุ่มซึ่งกรมประมงได้กำหนดพิกัดที่จะวางโดยสอบถามความต้องการกับชาวบ้าน และประสานกับกรมเจ้าท่า และ กองทัพเรือถึงความเหมาะสมของตำแหน่งที่จะวางปะการังเทียมโดยไม่กระทบกับแหล่งปะการังหรือบริเวณสายเคเบิ้ลใต้น้ำหรือร่องน้ำต่างๆ โดยเป็นพื้นที่ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับที่เคยดำเนินการไปแล้ว ซึ่งในปี ๒๕๕๓ สำนักงาน กปร. ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดวางปะการังเทียมมาอย่างต่อเนื่อง

การประเมินผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา

การจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลที่ได้ดำเนินการไปแล้วนั้นจากการประเมินผลการดำเนินงานโครงการ โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นั้น พบว่า มีปลาเข้ามาอาศัยอยู่จำนวนมาก ทั้งปลาขนาดใหญ่ ปลาขนาดเล็ก และลูกปลาวัยอ่อน รวมทั้ง ปลาเศรษฐกิจ นอกจากนี้ จากการศึกษาด้านสมุทรศาสตร์สกายะและเคมี ยังพบว่าเหล็กจากตู้รถไฟที่นำไปจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลไม่ก่อให้เกิดการแพร่กระจายของโลหะหนัก หรือสร้างมลภาวะในทะเล ส่วนการศึกษาในด้านสังคม พบว่าราษฎรมีความต้องการปะการังเทียม เพื่อให้มีแหล่งอาศัยสัตว์ทะเลบริเวณชายฝั่งเพิ่มเติม

ราษฎรในเขตการทำประมงทะเลชายฝั่งพื้นบ้านในเขตจังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส รวมทั้งสิ้น ๘ อำเภอ ๗๒ หมู่บ้าน ราษฎร ๑๙,๔๒๔ ครัวเรือน ๑๐๙,๔๑๖ คน จะมีรายได้จากการจับสัตว์น้ำทะเลเพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก เนื่องจากมีสัตว์น้ำทะเลจำนวนมากขึ้นส่งผลให้มีความสุขสบายยิ่งขึ้น รวมทั้งราษฎรจะมีสถานที่สำหรับฝึกอบรมเกี่ยวกับอาชีพประมง

   

   

ที่มา : สำนักประสานงานโครงการพื้นที่ ๔

ข้อมูล ณ วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๕๖

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาแบบบูรณาการ และโครงการพัฒนาด้านอื่น ๆ