๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๗

โครงการ พัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆฯ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ตำบล ปะเสยะวอ อำเภอ สายบุรี จังหวัด ปัตตานี


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน  ๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร สภาพบริเวณ ลุ่มน้ำคลองน้ำจืด – คลองแฆแฆ อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่เสื่อมโทรมและมีน้ำท่วมขังเกือบทั้งปี จึงได้พระราชทานพระราชดำริ เกี่ยวกับงานชลประทาน ให้พิจารณาวางโครงการก่อสร้าง ขุดลอกคลองระบายน้ำและอาคารบังคับน้ำ เพื่อระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่และเก็บกักน้ำจืดไว้ให้เกษตรกรใช้ทำการเพาะปลูกและอุปโภค – บริโภคตลอดปี

ตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ – ๒๕๔๓ โครงการก่อสร้างที่ ๗ สำนักพัฒนาแหล่งน้ำ ๕ (เดิม) กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างงานระบบระบายน้ำและงานระบบส่งน้ำ ซึ่งประกอบด้วย คลองระบายน้ำพร้อมอาคารประกอบ ขุดลอกคลอง และสร้างถนนเลียบคลองพร้อมอาคารประกอบ ปรับปรุงอาคารบังคับน้ำ สร้างสถานีสูบน้ำ รวมทั้งสร้างระบบส่งน้ำ โดยมีพื้นที่ได้รับประโยชน์ประมาณ ๔๐,๐๐๐ ไร่ ครอบคลุมเขตอำเภอปะนาเระ และอำเภอสายบุรีของจังหวัดปัตตานี

เพื่อรองรับการใช้น้ำในกิจกรรมต่อเนื่องให้เกิดประโยชน์สูงสุด จังหวัดจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการ และคณะทำงานโครงการพัฒนาอาชีพการเกษตรพื้นที่พรุแฆแฆ อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ขึ้น เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๔๑ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดฝ่ายเศรษฐกิจเป็นประธานกรรมการบริหาร และมีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นประธาน และหัวหน้าฝ่ายประสานราชการและบริหารทั่วไป สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นเลขานุการ ส่วนคณะทำงานมีเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นประธาน และหัวหน้าฝ่ายประสานราชการและบริหารทั่วไป สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดเป็นเลขานุการ ซึ่งต่อมาได้ปรับปรุงคณะกรรมการและคณะกรรมการและคณะทำงานดังกล่าวให้สอดคล้องเหมาะกับภาระกิจอีก ๒ ครั้ง เมื่อ เดือน มิถุนายน  ๒๕๔๒ และเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๔

วัตถุประสงค์ของโครงการ : วัตถุประสงค์ของโครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ (อันเนื่องมาจากพระราชดริ) อำเภอปะนาเระอำเภอสายบุรีจังหวัดปัตตานี 

- เพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่พรุ

- เพื่อเก็บกักน้ำไว้สำหรับการเพาะปลูกและอุปโภค – บริโภค

- เพื่อพัฒนาพื้นที่บริเวณพรุให้สามารถทำการเพาะปลูกหรือใช้ประโยชน์

- เพื่อเป็นแหล่งแพร่เพาะและขยายพันธ์ปลาน้ำจืด

- เพื่อป้องกันน้ำเค็มไม่ให้เข้าสู่พื้นที่เพาะปลูก

ลักษณะทั่วไปและที่ตั้ง : ที่ตั้งของโครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ (อันเนื่องมาจากพระราชดำริ) ตั้งอยู่ในระหว่างละติจูด 06 , 42, N และ 06, 50, N พิกัด 47 NQH 830 - 561 แผนที่มาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ ระวาง 5322 IV อยู่ในเขตหมู่ที่  ๑ บ้านแฆแฆ ตำบลน้ำบ่อ อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี การเดินทางไปยังหัวงานสามารถเดินทางไปยังรถยนต์ จากจังหวัดปัตตานีไปอำเภอปะนาเระ ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔๒(ปัตตานี – นราธิวาส) ระยะทางประมาณ ๔๓ กิโลเมตร ถึงอำเภอปะนาเระ แล้วเลี้ยวขวาไปทางบ้านบางเก่าระยะทางประมาณ ๗ กิโลเมตร ก็จะถึงที่ตั้งหัวงาน รวมระยะทางจากปัตตานีทั้งสิ้น ๕๐ กิโลเมตร 

โครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ (อันเนื่องมาจากพระราชดำริ) มีสภาพโดยทั่วไปเป็นที่ราบลุ่ม และบางส่วนจะเป็นพรุน้ำท่วมขัง มีลักษณะที่ดินลาดเทจากแนวเทือกเขา ทางทิศตะวันตก ไปทางทิศตะวันออกสู่ฝั่งทะเลอ่าวไทยมีคลองธรรมชาติหลายสายที่รับน้ำจากพื้นที่ราบลงสู่ทะเล คลองสายสำคัญมี ๒ สาย คือ คลองน้ำจืด และคลองแฆแฆ ทำหน้าที่เป็นทั้งคลองระบายน้ำในช่วงฤดูฝน และช่วยเก็บน้ำไว้ในลำน้ำช่วงฤดูแล้ง

ผลการดำเนินงาน : สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการส่งเสริมการเกษตรแก่เกษตรกร โดยการส่งเสริมการปลูกพืชไร่ จำนวน ๒๙๕ ไร่ ส่งเสริมการปลูกพืชผักจำนวน ๑๑๗.๒๕ ไร่ ส่งเสริมการปลูกข้าวพันธุ์ดี จำนวน ๘๑.๕ ไร่ ส่งเสริมการปลูกไม้ผล จำนวน ๗๗.๗๕ ไร่ ส่งเสริมการปลูกพืชอาหารสัตว์ จำนวน ๔๐.๙๕ ไร่ ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ตามศักยภาพ จำนวน ๑,๘๓๔ ตัว ส่งเสริมการปรับปรุงดินด้วยอินทรีย์วัตถุ จำนวน ๓๖๗,๔๙๔ กิโลกรัม ขณะนี้ได้ดำเนินการปรับพื้นที่บริเวณฝั่งซ้ายคลองระบายน้ำพรุแฆแฆ จำนวน ๓๐ ไร่ พร้อมทั้งขุดคูรับน้ำหลังแปลงเพื่อเก็บน้ำจืดไว้ใช้ทำการเกษตรแล้ว และจะทยอยปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ตามฤดูกาลต่อไป 

ลักษณะโครงการ

โครงการพัฒนาพื้นที่พรุแฆแฆ (อันเนื่องมาจากพระราชดำริ) ประกอบด้วยลักษณะงาน ๒ ลักษณะ คือ

๑. งานระบายน้ำ

ก. ระบบระบายน้ำและเก็บกักน้ำ ประกอบด้วย

- คลองแฆแฆ ความยาว ๓.๕๐๒ กิโลเมตร พร้อมอาคารประกอบ

- คลองบ้านเคียน ความยาว ๒.๒๐ กิโลเมตร พร้อมอาคารประกอบ

ข. อาคารบังคับน้ำ

- อาคารบังคับน้ำปากคลองระบายน้ำและเก็บกักน้ำพรุแฆแฆตะวันออก ขนาด ๓ - ð ๒.๔๐ x ๒.๐๐ เมตร สามารถระบายน้ำได้ ๒๔ ลุกบาศก์เมตรต่อวินาที

- อาคารบังคับน้ำกลางคลอง (ทรบ.บ้านบางหมู) ขนาด ๓ - ð ๒.๗๕ x ๒.๕๐ เมตร จำนวน ๑ แห่ง และขนาด ๔ - ð ๒.๐๐ X ๒.๐๐ เมตร จำนวน ๑ แห่ง รวมจำนวน ๒ แห่ง สามารถ

ระบายน้ำได้ ๕๘ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

- อาคารบังคับน้ำปลายคลองแฆแฆ (ปตร.แฆแฆ) ขนาดกว้าง ๖.๐๐ เมตร จำนวน ๒ ช่วง สามารถระบายน้ำได้ ๕๘ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ค. สถานีสูบน้ำและท่อผันน้ำจากแม่น้ำสายบุรี

-สถานีสูบน้ำจากแม่น้ำสายบุรีขนาด Æ ๐.๕๐ เมตร จำนวน ๔ เครื่อง (มอเตอร์ไฟฟ้า) สามารถสูบน้ำได้ ๐.๙ ลูกบาศน์เมตรต่อวินาที

-ท่อผันน้ำ เป็นท่อยางชนิดเหนียว (HDPE) ขนาด ๑ - Æ ๑.๒๐ เมตร ยาว ๕.๓๙๙ กิโลเมตร

 ๒. งานระบบส่งน้ำ

-โรงสูบน้ำย่อยจากคลองระบายน้ำและเก็บกักน้ำพรุแฆแฆตะวันอก มีจำนวน ๒๗ แห่ง เครื่องสูบน้ำขนาด Æ ๔.๐๐ นิ้ว (เครื่องยนต์ดีเซล) จำนวน  ๕๘ เครื่อง สามารถสูบน้ำได้ ๐.๓๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีต่อเครื่อง

- คูส่งน้ำจากโรงสูบน้ำย่อย ความยาวรวม ๓๔.๒๓๕ กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ ๕,๕๑๒ ไร่ แยกเป็นในเขตพื้นที่

-อำเภอสายบุรี จำนวน ๒,๖๘๓ ไร่ (ตำบลปะเสยะวอจำนวน ๑,๑๕๕ ไร่และตำบลบางเก่า จำนวน ๑,๕๒๘ ไร่)

- อำเภอปะนาเระ จำนวน ๒,๘๒๙ ไร่ ในเขตตำบลน้ำบ่อ

ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

สามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของราษฏร ในเขตพื้นที่โครงการให้มีศักยภาพในการทำการเพาะปลูกนาข้าว พืชผัก สวนผลไม้ การประมง และเลี้ยงสัตว์ได้ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ ๒ อำเภอ คือ อำเภอปะนาเระ และอำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี จำนวน ๕,๕๑๒ ไร่

สภาพปัญหา และอุปสรรคในการบริหารจัดการน้ำ

๑. ปัญหาทั่วไปในพื้นที่โครงการ

อันเนื่องมาจากเป็นโครงการที่ทำการพัฒนาในพื้นที่ราบลุ่ม ปัญหาการระบายน้ำจึงมีบทบาทสำคัญ และจะต้องควบคุมระดับน้ำใช้การให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อีกทั้งจะต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ (ไฟฟ้า) จากแม่น้ำสายบุรี ส่งมายังคลองแฆแฆ ตะวันออกด้วย จากประเด็นเหล่านี้พอสรุปสภาพปัญหาได้ดังนี้

๑.๑ ขาดระบบระบายน้ำ โดยน้ำที่เหลือจากกิจกรรมการใช้น้ำของไม่สามารถระบายลงสู่คลองระบายน้ำ ประกอบกับช่วงฤดูฝนก็เกิดปัญหาน้ำท่วมขังพื้นที่การเกษตรของเกษตรกร

๑.๒ ขาดระบบทดน้ำกลางคลองพรุแฆแฆตะวันออก เพื่อเก็บกักน้ำและการทำน้ำเป็นช่วง ซึ่งจะต้องสูบน้ำเป็นปริมาณมากตลอดสายคลอง เพื่อยกระดับน้ำใช้การให้อยู่ในระดับที่ต้องการ ซึ่งในบางเวลามีความต้องการใช้น้ำเฉพาช่วงต้นคลองเท่านั้น

๑.๓ ขาดระบบส่งน้ำ เพื่อช่วยในการส่งน้ำกระจายให้แก่พื้นที่ การเกษตรของราษฏรที่ขยายเพิ่มพื้นที่ทำการเกษตรมากขึ้น

๑.๔ ตามแผนของโครงการเดิม ได้วางแผนนำน้ำจากคลองน้ำจืด เข้ามาเติมในระบบคลองพรุแฆแฆตะวันออก แต่ในสภาพปัจจุบันคลองน้ำจืดได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของน้ำทะเล จึงไม่สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ ทำให้ต้องสูบน้ำจากแม่น้าสายบุรีเพียงแห่งเดียว

๑.๕ ราษฏรยังเปิดพื้นที่การเกษตร ตามแนวคลองพรุแฆแฆตะวันออกน้อยเพียงเฉพาะแห่งเท่านั้นทำให้เพื่อเติมลงในคลองพรุแฆแฆตะวันออก ในแต่ละครั้งจะต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมาก เพราะต้องสูบน้ำเติมในคลองพรุแฆแฆตะวันออกตลอดทั้งสาย

๑.๖ สภาพปัจจุบันของคลองพรุแฆแฆตะวันออก มีสภาพตื้นเขินและวัชพืชปกคลุมจำนวนมากเป็นอุปสรรในการระบายน้ำ

๑.๗ สภาพพื้นที่เดิม ลักษณะเป็นพื้นที่พรุ มีน้ำท่วมขัง ทำให้ดินมีสภาพขาดธาตุอาหาร และอุ้มน้ำได้น้อย และมีสภาพเป็นกรด

๑.๘ เนื่องจากราษฏรมีฐานะยากจน มีอาชีพทางด้านทำการประมง และไม่มีอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มพูนรายได้ โดยเฉพาะช่วงว่างจากการประกอบอาชีพอาชีพตามข้อจำกัดของฤดูกาล ทำให้รายได้มีจำกัดไม่เพียงพอ อีกทั้งเกษตรกรมีพื้นที่ทำกินน้อย โดยเฉลี่ย ๕ ไร่ ต่อครัวเรือนและอยู่กระจัดกระจายไม่รวมเป็นผืนเดียวกัน

ข้อเสนอแนะ

๑. พื้นที่การเกษตรเดิมเป็นพื้นที่พรุ จะต้องทำการปรับปรุงสภาพดินก่อนที่จะทำการเพาะปลูก ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ในการส่งเสริมการเกษตร

๒. ราษฏรส่วนใหญ่มีฐานะยากจน มักจะมีปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำ

๓. เกษตรกรมีความคุ้นเคยกับอาชีพดั้งเดิม คือ การทำประมงพื้นบ้าน และมีทักษะด้านการเกษตรน้อย ในช่วงเริ่มต้นทางราชการจะต้องทำแปลงทดลองตัวอย่างก่อน เมื่อราษฏรเห็นผลตอบแทนที่ได้รับ ก็ควรจะส่งเสริมกิจกรรมทางการเกษตรต่อไป เพื่อเป็นทางเลือกของเกษตรกร ในการประกอบอาชีพการเกษตรสำหรับการขยายผล ซึ่งในปัจจุบันก็ได้รับความร่วมมือจากหน่วยราชการต่าง ๆ

   

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาแบบบูรณาการ และโครงการพัฒนาด้านอื่น ๆ