๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๗

โครงการ ก่อสร้างโรงสีพิกุลทองแห่งใหม่

ตำบล เกาะสะท้อน อำเภอ ตากใบ จังหวัด นราธิวาส


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของโรงสีข้าวพิกุลทอง ในการนี้ ได้มีพระราชดำริโดยสรุป ดังนี้

๑) ให้ปรับปรุงโรงสีข้าวพิกุลทอง ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และให้พิจารณาถึงจำนวนประชากรที่มาใช้ประโยชน์ อย่างน้อยควรมีขนาดเท่ากับโรงสีข้าวที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช และควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ ส่วนเครื่องเก่าให้อนุรักษ์ไว้และปรับปรุงอาคารให้สวยเป็นพิพิธภัณฑ์ โดยให้สำนักงาน กปร. เร่งรัด ดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

๒) ให้ยุวเกษตรกรและกรรมการโรงสีข้าว ได้ศึกษาเรื่องการบริหารจัดการโรงสีข้าว ตั้งแต่ต้น รวมทั้งการศึกษาด้านบัญชี และหลักสูตรอื่น ๆ ให้ครบวงจร

ผลการดำเนินงาน : สำนักงาน กปร. ร่วมกับจังหวัดนราธิวาส กรมส่งเสริมสหกรณ์ องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะสะท้อน ราษฎรในพื้นที่ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินงาน ดังนี้ 

๑. ก่อสร้างโรงสีข้าวพิกุลทองแห่งใหม่ และการก่อสร้างลานอเนกประสงค์

๑.๑ ก่อสร้างโรงสีข้าวพิกุลทองแห่งใหม่และการก่อสร้างลานอเนกประสงค์ภายในพื้นที่เดิม

ดำเนินการก่อสร้างอาคารโรงสีข้าวแห่งใหม่ ขนาด 10x15 เมตร พร้อมปรับปรุงระบบไฟฟ้า

๑.๒ การก่อสร้างลานอเนกประสงค์ด้านนอกรั้วของโรงสีเดิม

ก่อสร้างลานอเนกประสงค์บริเวณตลาดนัดชุมชนที่อยู่ด้านนอกรั้วของโรงสีเดิม ขนาด ๑,๔๔๐ ตารางเมตร (๔๐ x ๓๖ เมตร) พร้อมทั้งก่อสร้างรั้วคอนกรีตล้อมรอบ พื้นที่ดังกล่าว สำหรับใช้เป็นตลาดนัดชุมชน ลานตากข้าว ลานกีฬา

๒. การปรับปรุงและจัดสร้างพิพิธภัณฑ์โรงสีข้าวพิกุลทอง

จังหวัดนราธิวาส ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำพิพิธภัณฑ์โรงสีข้าวพิกุลทองขึ้น เพื่อดำเนินงานให้เป็นไปตามแนวพระราชดำริและสอดคล้องกับสภาพภูมิสังคมของพื้นที่ ซึ่งจากการทำงานร่วมกับปราชญ์ชาวบ้าน เกษตรกรที่ทำนาในพื้นที่อำเภอตากใบ และส่วนราชการต่างๆ ทำให้ทราบถึงวิถีชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่ คณะกรรมการฯ โดย นางวรรณา นาวิกมูล อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณะ จึงได้จัดทำโครงร่างพิพิธภัณฑ์โรงสีข้าวพิกุลทอง ให้มีลักษณะเป็น “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” โดยจะดำเนินการจัดสร้างในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กปร. ดังนี้

๑) ในเรื่องของอาคารโรงสีพิกุลทองหลังเดิม ยังคงรูปแบบตัวอาคารดังเดิมไว้ โดยจัดตั้ง “เครื่องสีข้าวพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช” เป็น “พิพิธภัณฑ์ชิ้นเอก” ที่ยังสามารถสีข้าวได้ตามความต้องการของราษฎรไว้ภายในอาคาร นอกจากนี้ จะมีการปรับปรุงอาคารเดิมบางส่วน โดยเปิดอาคารด้านข้างเชื่อมต่อกับอาคารที่จะต่อเติมสำหรับเป็นที่จัดแสดงนิทรรศการ โดยการก่อสร้างอาคารจะมีรูปแบบเดียวกับอาคารเดิมเพื่อให้สอดรับกัน

๒) การนำเสนอในพิพิธภัณฑ์ นอกจากเครื่องสีข้าวพระราชทานแล้ว จะประกอบด้วย นิทรรศการ ๔ ส่วน คือ

- พระมหากษัตริย์กับการเกษตร โดยจะเน้นความสำคัญในเรื่อง “ข้าว” เนื่องจากทรงห่วงใยเกษตรกร และคนไทยบริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ การพระราชทานโรงสีพิกุลทอง เกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นต้น

- ข้าวและเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำนา เช่น เครื่องกะเทาะเปลือกข้าวในสมัยก่อน ปัจจุบันได้วิวัฒนาการมาเป็นเครื่องสีข้าว เป็นต้น

- วัฒนธรรมข้าวและวิถีชีวิตของชาวนาจังหวัดนราธิวาส แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างข้าวกับมนุษย์ที่เป็นคนปลูกและคนกิน ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างชาวนาที่นับถือศาสนาพุทธและที่นับถือศาสนาอิสลาม ผ่านทางวิถีชีวิต ความเชื่อ และขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งในส่วนที่เป็นพิธีกรรมและความบันเทิง

- ในส่วนสุดท้ายจะเป็นการเชื่อมโยงพิพิธภัณฑ์ให้มีชีวิตสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยจะเช่าที่นาจำนวน ๔ ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่นาร้าง จัดทำเป็น “ศูนย์เรียนรู้ในการทำนา” โดยส่งเสริมให้นักเรียนโรงเรียนบ้านปูยู เรียนวิชาการทำนาจากปราชญ์ชาวบ้าน และได้ลงมือทำนาด้วยตนเอง เมื่อทำการเก็บเกี่ยวข้าวได้ ก็จะนำมาสีข้าวที่โรงสีพิกุลทอง ผลผลิตข้าวที่ได้จะนำไปจัดทำโครงการอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียนบ้านปูยู ต่อไป

๓) ในส่วนของการปรับภูมิทัศน์ จะมีการนำพันธุ์ไม้พื้นเมืองมาปลูก ซึ่งจากการสอบถามราษฎรในพื้นที่พบว่าที่ควรนำมาปลูกมี ๑๓ ชนิด ได้แก่ ตำเสา หว้า ตาลโตนด ทัง ประดู่ พิกุล ขี้เหล็ก ฯลฯ เพื่อเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ไม้เดิมไว้

นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากราษฎรที่มีอุปกรณ์โบราณที่ใช้ในการทำนา เมื่อทราบว่าจะมีการทำพิพิธภัณฑ์ ก็พร้อมที่จะน้อมเกล้าฯ ถวายสิ่งของเพื่อนำมาแสดงหรือยินดีให้ถ่ายรูปเพื่อนำมาแสดงจำนวนหลายรายการ

 

โรงสีข้าวพิกุลทองเดิมที่จะจัดทำเป็น “พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต” 

 

 เครื่องสีข้าวพระราชทาน “พิพิธภัณฑ์ชิ้นเอก” ของโครงการ

๓. การเพิ่มองค์ความรู้และการบริหารจัดการโรงสีข้าวแก่ผู้นำสหกรณ์ ผู้นำชุมชน และเยาวชนในพื้นที่ โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ดังนี้

๓.๑ การบริหารจัดการโรงสีจะดำเนินการในรูปสหกรณ์อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีชุมชนเป็นคณะกรรมการ ด้วยการกำกับดูแลของสำนักงานสหกรณ์จังหวัดนราธิวาส ซึ่งในระยะแรกจะนำคณะกรรมการไปศึกษาเรียนรู้การบริหารจัดการโรงสีที่โรงสีข้าวปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวนประมาณ ๔๕ คน (แบบครบวงจร) จำนวน ๒ รุ่นๆ ละ ๗ วัน เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษาจากประสบการณ์ตรงด้านเครือข่ายธุรกิจโรงสี 

๓.๒ จัดอบรมสร้างความรู้แก่เยาวชน ผู้นำชุมชน และราษฎรทั่วไปในเขตตำบลเกาะสะท้อนและตำบลพร่อน รวม ๗ ชุมชน จำนวนประมาณ ๗๐๐ ครัวเรือน เพื่อให้มีองค์ความรู้ด้านการจัดทำบัญชี การวิเคราะห์ต้นทุนและแผนธุรกิจ

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านการส่งเสริมอาชีพ