๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๗

โครงการ ฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริจังหวัดปัตตานีและจังหวัดนราธิวาส(ชายฝั่งทะเลในเขตอำเภอเมืองและอำเภอตากใบ)

จังหวัด นราธิวาส


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ราษฎรบ้านละเวง อำเภอไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานความช่วยเหลือจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้ทรงพิจารณาช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ เนื่องจากปัจจุบันได้มีปริมาณลดลงเป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๔ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชเสาวนีย์กับนายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ สรุปได้ว่า ให้จัดหาพื้นที่ในการจัดตั้งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งและการอนุบาลสัตว์น้ำเพื่อปล่อยลงสู่ทะเลในบริเวณจังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส โดยเฉพาะในเขตบริเวณที่ทำการประมงชายฝั่งของกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่มีปัญหา พร้อมทั้งจัดทำปะการังเทียมให้เกิดเป็นแหล่งชุมนุมและที่อยู่อาศัยของปลา รวมทั้งการฟื้นฟูระบบนิเวศน์ชายฝั่งโดยการปลูกป่าชายเลน ป่าชุ่มน้ำและหญ้าทะเล

ผลการดำเนินงาน : ปีงบประมาณ ๒๕๔๖ กรมประมงได้ดำเนินการผลิตพันธุ์กุ้งทะเลได้แก่ กุ้งกุลาดำ กุ้งแชบ๊วยและปลากะพงขาว รวมเป็น ๕๑.๐ ล้านตัว ปัจจุบันได้ทำการปล่อยลงสู่ทะเลไปแล้วที่จังหวัดปัตตานี ๑๐.๐ ล้านตัว และจังหวัดนราธิวาส ๒๑.๐ ล้านตัว นอกจากนี้ ยังได้มีแผนการติดตามประเมินผลการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์น้ำทะเล (ซั้ง ตู้รถไฟ ท่อซีเมนต์) ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการจัดตั้งคณะทำงานระดับพื้นที่ ซึ่งการติดตามประเมินผลนี้ยังครอบคลุมถึงด้านสังคม สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรกลุ่มเป้าหมายด้วย สำหรับกิจกรรมการฝึกอบรมเกษตรกร ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการ 

(บน) สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง จังหวัดปัตตานี

(ล่าง) ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่ง จังหวัดนราธิวาส

ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับผลิตพันธุ์สัตว์น้ำ ในปีงบประมาณ ๒๕๔๕ ได้ทำการปรับปรุง

ประสิทธิภาพการผลิตด้วยการเพิ่มกำลังผลิต ในแต่ละแห่งให้ได้มากขึ้น ซึ่งได้มีการปรับปรุงอาคารและขนาดการผลิต เพื่อรองรับการผลิตพันธุ์สัตว์น้ำที่เกิดขึ้น ในปี ๒๕๔๖

ปีงบประมาณ ๒๕๔๖ จังหวัดปัตตานี ได้ทำการจัดซื้อที่ดินจำนวน ๑๓ แปลง สำหรับที่จะจัดตั้งเป็นศูนย์ประสานงาน (Head Quarter) ของโครงการ บริเวณบ้านละเวง จังหวัดปัตตานีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผลจากการดำเนินงานโครงการฯ นี้ ราษฎรจะมีทรัพยากรสัตว์น้ำทะเลเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีรายได้เพิ่มขึ้นความเป็นอยู่ทีดีขึ้น และยังรู้จักวิธีประกอบอาชีพที่ถูกต้องที่จะช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้มีความสมดุลและยั่งยืนและมีความรู้เพิ่มเติมจากการแปรรูปและถนอมผลิตภัณฑ์อาหาร ทั้งยังสามารถส่งเสริมให้เป็นอาชีพเสริมจากการจับสัตว์น้ำได้อีกด้วย

การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้สนับสนุนตู้รถไฟสินค้าเก่าอีกเป็นจำนวน ๑๐๐ ตู้ (ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการฟื้นฟูทรัพยากรชายฝั่งทะเลฯ ครั้งที่ ๑/๒๕๔๖ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๖) เพื่อจัดทำเป็นปะการังเทียมที่จังหวัดปัตตานี ๒๕ ตู้ โดยการวางแบ่งเป็น ๔ จุด คือ ระยะห่างจากฝั่ง ๑.๑ กิโลเมตร น้ำลึก ๘ เมตร ๒ ตู้ ระยะห่างจากฝั่ง ๒.๔ กิโลเมตร น้ำลึก ๑๓ เมตร ๓ ตู้ ระยะห่างจากฝั่ง ๓.๒ กิโลเมตร น้ำลึก ๑๔ เมตร ๑๐ ตู้ และระยะห่างจากฝั่ง ๕ กิโลเมตร น้ำลึก ๑๕ เมตร ๑๐ ตู้ และที่จังหวัดนราธิวาส ๗๕ ตู้ มีระยะห่างจากฝั่งประมาณ ๔.๐ - ๗.๕ กิโลเมตร ในการนี้ กองทัพเรือและกรมขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวีได้ร่วมให้การสนับสนุนการดำเนินงานดังกล่าวด้วย

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม