โครงการ สำรวจและรวบรวมพันธุ์ไม้ดอกไม้ป่าภาคใต้
ตำบล โละจูด อำเภอ แว้ง จังหวัด นราธิวาส
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานพระราชดำริ จำนวน ๔ ครั้ง ดังนี้
๑. วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๗ พระราชทานระราชดำริแก่ นายบุญชนะ กลั่นคำสอน ป่าไม้เขตปัตตานี ความว่า “น่าจะมีการรวบรวมพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับป่า ภาคใต้ มาปลูกรวบรวมไว้ในที่สูงของพื้นที่สวนป่าพระนามาภิไธย พื้นที่ส่วนที่ ๒ (ฮาลา-บาลา)”
๒. วันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๕๔๒ พระราชทานพระราชดำริแก่ ดร.ชวลิต นิยมธรรม ผู้เชี่ยวชาญพฤกษศาสตร์ กรมป่าไม้ ณ งานของดีเมืองนรา จังหวัดนราธิวาส ความว่า “น่าจะขยายพันธุ์ไม้แดงประดับผาโดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ”
๓. วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ พระราชทานพระราชดำริแก่ ดร.ชวลิต นิยมธรรม ผู้เชี่ยวชาญพฤกษศาสตร์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ณ ศูนย์การเรียนรู้ (TK PARK) จังหวัดยะลา ความว่า “น่าจะขยายพันธุ์หม้อข้าวหม้อแกงลิง)
๔. วันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๕๔ พระราชทานพระราชดำริแก่ นายสุนทร โต๊ะคำ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านละโอ ตำบลศรีสาคร จังหวัดนราธิวาส ความว่า “ป่าไม้ช่วยเข้ามาดูแลศูนย์การเรียนรู้อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ เพื่อให้นักเรียนและประชาชนบริเวณใกล้เคียงได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของป่า” “ป่าไม้ในพื้นที่น่าเป็นห่วง เกรงว่าต่อไปป่าไม้จะหมด”
ผลการดำเนินงาน : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ดำเนินการสำรวจและรวบรวมกล้าไม้ในพื้นที่ป่าฮาลา-บาลา รวมทั้งนอกสถานที่ป่าฮาลา-บาลา ตลอดทั้งเก็บข้อมูลพันธุ์ไม้ที่ได้รวบรวมได้ ในรูปแบบไฟล์ข้อมูลและไฟล์ภาพ และดำเนินการเพาะขยายพันธุ์กล้าไม้ที่ได้สำรวจและรวบรวมไปแล้ว ๖,๐๐๐ ต้น
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวทำให้เกิดการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและเกิดแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางพันธุกรรมพืชในพื้นที่ อีกทั้ง สามารถมีพันธุ์ไม้ดอกไม้ป่า เพื่อนำมาสนับสนุนพันธุ์ไม้ป่าหายากปลูกในโครงการฟาร์มตัวอย่างในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รวมทั้ง โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ จำนวน ๕ โรง และช่วยส่งเสริมความรู้ให้กับประชานในพื้นที่เกี่ยวกับไม้ดอกไม้ป่าได้อีกด้วย
การลงพื้นที่เพื่อสำรวจและรวบรวมกล้าไม้ในพื้นที่ป่าฮาลา-บาลา รวมทั้งนอกสถานที่ป่าฮาลา-บาลา
การดำเนินการเพาะขยายพันธุ์กล้าไม้ที่ได้สำรวจและรวบรวม ๖,๐๐๐ ต้น
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม