๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๗

โครงการ การศึกษาความเหมาะสมการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำในลุ่มน้ำโก-ลกและลุ่มน้ำบางนราอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

อำเภอ สุไหงโก-ลก จังหวัด นราธิวาส


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๑ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ ๖ รอบ พระชนมพรรษา อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส ในการนี้ ได้พระราชทานพระราชดำริ สรุปความว่า ให้สำนักงาน กปร. สนับสนุนงบประมาณปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ให้แก่ กรมชลประทาน ในการศึกษาความเหมาะสมในการผันน้ำจากแม่น้ำโก – ลก เข้าสู่คลองมูโนะ เพื่อนำน้ำจืดไปเจือจางและปรับปรุงคุณภาพน้ำในแม่น้ำบางนราให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถนำน้ำไปใช้เพื่อการเกษตรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำบางนราอันเนื่องมาจากพระราชดำริได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นแนวทางการบริหารจัดการน้ำที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชได้พระราชทานพระราชดำริไว้เมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน และวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๖

ผลการดำเนินงาน : ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในการผันน้ำจากแม่น้ำโก - ลก เข้าสู่คลองมูโนะ เพื่อนำน้ำจืดไปเจือจางและปรับปรุงคุณภาพน้ำในแม่น้ำบางนรา ซึ่งในบางฤดูกาลเป็นน้ำเปรี้ยว เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้ โดยทำการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์และประเมินในประเด็นหลักๆ ดังนี้ 

          - ศึกษาวิเคราะห์ทางด้านอุตุนิยมวิทยา อุทกวิทยาและน้ำใต้ดิน

          - ศึกษาสำรวจและศึกษาทางสภาพภูมิประเทศและธรณีวิทยา

          - วิเคราะห์ปริมาณน้ำต้นทุนและความต้องการใช้น้ำ

          - ศึกษาและวิเคราะห์ทางด้านการส่งน้ำและการระบายน้ำ

          - ศึกษาวิเคราะห์ทางด้านชลศาสตร์ของลำน้ำและทางด้านวิศวกรรมชายฝั่ง

          - ศึกษาและวิเคราะห์ทางคุณภาพน้ำ

          - การศึกษาวิเคราะห์ทางด้านสมดุลน้ำ

          - ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านเศรษฐกิจ - สังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่โครงการ

          - ศึกษาทางด้านการเกษตร เช่น ระบบการเพาะปลูก การตลาดและผลผลิตทางการเกษตร

          - สำรวจรูปตัดตามยาวและตามขวางของแม่น้ำบางนรา ปากคลองน้ำแบ่ง ถึงปากแม่น้ำโก - ลก และคลองน้ำแบ่งทุก ๑,๐๐๐ เมตร เพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาแบบจำลองทางชลศาสตร์

          - สำรวจคุณภาพน้ำ (pH และ EC) เพิ่มเติมจากจุดที่มีการสำรวจในปัจจุบัน เพื่อให้พอเพียงต่อการวิเคราะห์โดยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์

          - จัดประชุมสัมมนาประชาชนผู้มีส่วนได้เสียต่อโครงการและการรับฟังความคิดเห็นต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

          - สำรวจสภาพภูมิประเทศ และทดสอบธรณีวิทยาฐานรากบริเวณที่จะทำการปรับปรุงระบบชลประทาน

          ทั้งนี้ ระยะเวลาของการศึกษา มีจำนวน ๒๔๐ วัน

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ