๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๗

โครงการ ฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเลอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

จังหวัด กระบี่


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๓๗ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับพื้นที่ป่าทุ่งทะเล ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ ๔,๗๐๐ ไร่ ตามที่จังหวัดกระบี่น้อมเกล้าฯ ถวาย และได้มีพระราชเสาวนีย์ให้ดำเนินการจัดตั้งเป็นโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้สัตว์ป่าและสัตว์น้ำ ตลอดจนรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศน์ของป่าทุ่งทะเล โดยให้สำนักงาน กปร. เป็นแกนกลางในการจัดทำแผนพัฒนาและได้ดำเนินการจัดทำแผนแม่บทโครงการฯ ระยะ ๓ ปี (๒๕๔๒ - ๒๕๔๔) และได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และได้ทรงเห็นชอบ และในวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๓ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จฯ เยี่ยมโครงการฯ และมีพระราชดำริเพิ่มเติมให้จัดสร้างศูนย์ศิลปาชีพ เพื่อสร้างงานให้กับราษฎร จัดตั้งหน่วยเพาะเลี้ยงปูทะเล และเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์สัตว์ป่าชนิดต่าง ๆ

เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๓๗ จังหวัดกระบี่ ได้นำเรียนราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อนำความกราบบังคมทูลนำป่าทุ่งทะเลขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวายแด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อให้เป็นสถานที่ฝึกศิลปาชีพและหรือสงวนไว้ให้ประชาชนใช้ร่วมกัน และเมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน ๒๕๓๗ สำนักราชเลขาธิการได้แจ้งว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงรับพื้นที่ดังกล่าวไว้ และทรงดำเนินการเป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และทรงมีพระราชดำริเพิ่มเติมเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๑ ให้อนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน ให้มีการศึกษา วิจัย ทดลอง และขยายพันธุ์สัตว์น้ำทะเลที่คาดว่าจะเป็นสัตว์น้ำทะเลเศรษฐกิจที่ดีในอนาคตได้จะได้นำไปส่งเสริมเป็นอาชีพของราษฎร ตลอดจนรักษาไว้ซึ่งระบบนิเวศน์ของป่าทุ่งทะเล และให้จ้างประชาชนที่อาศัยทำกินอยู่เดิมในพื้นที่มาเป็นคนงานหรือลูกจ้างด้วย

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชดำริ ให้ช่วยเหลือราษฎรบ้านร่าหมาด หมู่ที่ ๒ บ้านปากคลอง หมู่ที่ ๓ บ้านขุนสมุทร หมู่ที่ ๑๐ และหมู่บ้านใกล้เคียงในตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ช่วยกันอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนและก่อให้เกิดโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าทุ่งทะเลฯ ตลอดจนเป็นผู้ผลักดันส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงปลาเก๋า และหอยแมลงภู่ในกระชังเป็นอาชีพ แต่เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ได้เกิดธรณีพิบัติภัยสึนามิขึ้น ทำให้อาชีพเลี้ยงปลาในกระชังของราษฎรดังกล่าวถูกทำลายไป (หนังสือสำนักราชเลขาธิการที่ รล ๐๐๑๐.๑/๑๒๗๘๗ ลงวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๐)

ผลการดำเนินงาน :

ปี ๒๕๕๑

กรมประมง ดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงปลาเก๋าและปลากะพงขาวให้แก่ราษฎร ๓ กลุ่ม จำนวน ๖๘ กระชัง ซึ่งเป็นราษฎรกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าทุ่งทะเลฯ และได้รับผลกระทบจากธรณีพิบัติภัยสึนามิ โดยแบ่งเป็น

- กลุ่มเลี้ยงปลาเก๋าในกระชังบ้านร่าหมาด ๒๐ กระชัง ราษฎร ๑๓ คน

- กลุ่มเลี้ยงปลาเก๋าและปลากะพงขาวในกระชังบ้านปากคลอง ๓๐ กระชัง ราษฎร ๒๐ คน

- กลุ่มเลี้ยงปลาเก๋าในกระชังบ้านขุนสมุทร ๓๘ กระชัง ราษฎร ๑๑ คน

ทั้งนี้ จะทำให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าราษฎรจะได้ผลผลิตจากการเลี้ยงปลาประมาณ ๕,๕๐๐ กิโลกรัม/ปี ส่งผลให้ราษฎร ๓ หมู่บ้าน ประชากร ๑๖๖ คน ๔๔ ครัวเรือน ตำบลเกาะกลาง อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่การเลี้ยงปลาเชิงพาณิชย์ได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากธรณีพิบัติภัยสึนามิได้อีกด้วย


พื้นที่เลี้ยงปลาเก๋า และปลากะพงขาวในกระชังของราษฎร

ปี ๒๕๔๕

หลังจากที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชดำริหน่วยงานต่าง ๆ ได้ร่วมกันจัดทำแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเลฯ (๒๕๔๒-๒๕๔๔) ขึ้น เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานในการพัฒนาและยกระดับชุมชน คุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น และจังหวัดกระบี่ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสนับสนุนโครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเลฯ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ เป็นประธานกรรมการ ที่ผ่านมาได้มีผลการดำเนินงาน ดังนี้

๑. ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ได้ก่อสร้างถนนลาดยาง กว้าง ๖ เมตร เป็นระยะทาง ๑๑.๕๐๐ กิโลเมตร สะพาน คสล. กว้าง ๘ เมตร ยาว ๕๖.๒๐ เมตร ๑ แห่ง และก่อสร้างถนนภายในโครงการ กว้าง ๕ เมตร ยาว ๒๕ กิโลเมตร และได้ขุดสระเก็บน้ำภายในบริเวณโครงการ ๒ แห่ง ขนาดความจุ ๑๖,๕๐๐ ลูกบาศก์เมตร และขนาดความจุ ๓๕,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร พร้อมทั้งได้ทำการก่อสร้างระบบส่งน้ำและอาคารประกอบโดยก่อสร้างระบบส่งน้ำ ยาว ๙๖๐ เมตร อาคารจ่ายน้ำ ๒ แห่ง หอถังน้ำและโรงสูบน้ำ อย่างละ ๑ แห่ง ได้เดินสายไฟจากบ้านลิกี หมู่ที่ ๕ ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ในเขตพื้นที่โครงการฯ หมู่ที่ ๓ และศาลาทรงงาน รวมทั้งปักเสาเดินสายไฟจากบ้านขุนสมุทร หมู่ที่ ๑๐ ข้ามคลองร่าหมาดไปยังสำนักงานเขตห้ามล่าสัตว์ป่าและสถานีเพาะเลี้ยงปูทะเล การก่อสร้างห้องน้ำ ๑ หลัง ประกอบด้วย ห้องน้ำ ๖ ห้อง ห้องสุขา ๘ ห้อง เพื่อเป็นสถานบริการขั้นพื้นฐาน และเป็นการลดปัญหาด้านมลพิษและสภาพแวดล้อม

๒. ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

- งานฟื้นฟูสภาพป่าและสัตว์ป่า ได้ทำการดูแลรักษาและป้องกันไฟป่าและพัฒนาพื้นที่ชายหาด ๗,๐๓๗ ไร่ ปลูกและฟื้นฟูป่าชายเลน ๕๖๐ ไร่ โดยจ้างแรงงานจากราษฎรในพื้นที่จัดทำแนวกันไฟบริเวณพื้นที่ล่อแหลม ๑๐ กิโลเมตร เพาะชำกล้าไม้สนับสนุนป่าชุมชน จำนวน ๖๘,๐๐๐ กล้า

- งานป้องกันรักษาป่า โดยจัดทำแนวเขตป่าบก ขุดลอกคูแนวเขตพื้นที่ป่าชายเลน ๕.๕ กิโลเมตร จัดทำแนวเขตกันไฟป่าบก ๒.๕ กิโลเมตร ปลูกต้นสนทะเล จำนวน ๒,๐๐๐ ต้น บริเวณทางเข้าพื้นที่โครงการฯ ๗ กิโลเมตร

พร้อมกันนี้ได้มีการอบรมและปลูกฝังจิตสำนึกของราษฎร รวมทั้งเยาวชนให้มีความรู้เรื่องป่า เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และ

๓. ด้านการพัฒนาการเกษตรและอาชีพ

จัดตั้งกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงปลากะรัง ๑ กลุ่ม โดยคัดเลือกสมาชิกนำร่อง ๖ ราย แจกอุปกรณ์การเลี้ยงปลา อบรมและแจกพันธุ์ปลากะรัง ขนาด ๒ – ๓ นิ้ว ๔๐๐ ตัว/ราย และจัดเจ้าหน้าที่ประจำโครงการให้คำแนะนำดูแลตลอดระยะเวลา ปัจจุบัน ได้มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้น มีผลผลิตดี มีอัตราการรอดตายของปลามีค่าระหว่างร้อยละ ๗๐ – ๘๐ สำหรับปัญหาอุปสรรคเป็นไปตามฤดูกาลและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ติดตามดูแล และให้คำแนะนำ พร้อมทั้งได้ดำเนินการก่อสร้างโรงเพาะฟัก โรงอนุบาล โรงแพลงก์ตอน บ่อฆ่าเชื้อ ท่อส่งน้ำ โรงสูบน้ำ โรงเป่าลม บ่อดินอนุบาลและบ่อพักน้ำ เพื่อเพิ่มผลผลิตปูทะเลเพื่อปล่อยลงสู่ธรรมชาติ ในการนี้ ได้มีการจัดตั้งกลุ่มสตรีเพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ได้ดำเนินการปรับปรุงแหล่งน้ำจืดสำหรับเลี้ยงสัตว์ ขนาด ๔๐x๔๐ เมตร ลึก ๓.๐ เมตร และจัดทำรั้วลวดหนามล้อมแปลงหญ้าพื้นที่โดยรอบขนาด ๔๐๐x๘๐๐ เมตร และรั้วแปลงย่อยขนาด ๑๑๖x๓๐๐ เมตร ๖ แปลง เพื่อใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ นอกจากนี้ได้ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ปีก เช่น เป็ดเทศ เป็ดไข่ โดยจัดตั้งกลุ่ม พร้อมทั้งสนับสนุนพันธุ์เป็ดเทศและจัดอบรม รวมไปถึงสนับสนุนเวชภัณฑ์และวัคซีนป้องกันโรค สำหรับด้านเกษตรกรรม ได้ส่งเสริมการปลูกผักปลอดภัยจากสารพิษ การปลูกมะพร้าวอ่อน เป็นต้น รวมทั้งได้จัดตั้งกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร จัดกิจกรรมส่งเสริมหัตถกรรมจากเตยปาหนัน และแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรต่าง ๆ

ทั้งนี้ คุณภาพชีวิตของประชาชนจะดีขึ้น ได้รับความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีทรัพยากรเพิ่มขึ้น มีทางเลือกในการประกอบอาชีพ และมีความรู้ในการประกอบอาชีพจนสามารถพึ่งตนเองได้ เป็นการสร้างรายได้ให้กับตนเอง ครอบครัวรวมไปถึงชุมชน


ปี ๒๕๔๔

กรมประมง ดำเนินการก่อสร้างโรงเพาะพัก โรงอนุบาล โรงเพาะแพลงก์ตอน บ่อฆ่าเชื้อ หอส่งน้ำ โรงสูบน้ำ โรงเป่าลม บ่อดินอนุบาลและบ่อพักน้ำ เพื่อเพิ่มผลผลิตพันธุ์ปูในธรรมชาติ สำหรับกิจกรรมของกรมป่าไม้ได้ดำเนินการก่อสร้างห้องน้ำ ๑ หลัง ประกอบด้วยห้องน้ำ ๖ ห้อง ห้องสุขา ๘ ห้อง เพื่อเป็นสถานบริการขั้นพื้นฐาน ลดปัญหาด้านมลพิษและสภาพแวดล้อม อีกกิจกรรมหนึ่ง คือ การจัดพื้นที่ขังสัตว์เลี้ยงชั่วคราว โดยดำเนินการปรับปรุงแหล่งน้ำจืดเลี้ยงสัตว์ ขนาดกว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๔๐ เมตร ลึก ๓.๐ เมตร และจัดทำรั้วลวดหนามล้อมแปลงหญ้าพื้นที่โดยรอบ กว้าง ๔๐๐ เมตร ยาว ๘๐๐ เมตร พร้อมทั้งจัดทำรั้วล้อมแปลงย่อยขนาดกว้าง ๑๑๖ เมตร ยาว ๓๐๐ เมตร ๖ แปลง

ทั้งนี้ จะทำให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพประมง ส่งผลให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น ในส่วนของสิ่งแวดล้อม สภาพแวดล้อมของโครงการจะมีความสวยงามและเป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้น


บ่อน้ำที่จะดำเนินการปรับปรุงสำหรับใช้เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ขังสัตว์เลี้ยงชั่วคราว

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม