๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๗

โครงการ อ่างเก็บน้ำท่ากระบากอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ตำบล ท่าแยก อำเภอ เมืองสระแก้ว จังหวัด สระแก้ว


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

พระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทาน เมื่อวันที่ ๒๔  กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อธิบดีกรมชลประทาน นายสุหะ ถนอมสิงห์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ ๙ และ นายเล็ก จินดาสงวน เข้าเฝ้าที่พระตำหนักภูพิงราชนิเวศน์ ได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานในเขตลุ่มน้ำปราจีนบุรี ดังต่อไปนี้

๑. การพิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และ ฝายทดน้ำทางบริเวณต้นน้ำลำคลองยายเมือง คลองน้ำเขียว คลองท่ากะบาก คลองช่องกล่ำ ซึ่งเป็นสาขาของห้วยพระปรงในเขตอำเภอสระแก้ว และ อำเภอวัฒนานคร จังหวัดปราจีนบุรีโดยเร่งด่วน เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และจัดหาน้ำให้กับพื้นที่เชิงเขาซึ่งเป็นป่าสงวนที่เสื่อมโทรมแล้วเพื่อจัดสรรที่ทำกินให้ราษฎรในรูปแบบสหกรณ์ต่อไป

๒. การพิจารณาสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก และฝายทดน้ำทางบริเวณต้นน้ำห้วยยางในเขตอำเภอวัฒนานคร อำเภอตาพระยา และอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี โดยเร่งด่วนเพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภค ตลอดปีด้วย

ที่ตั้งและลักษณะภูมิประเทศ :

  • อ่างเก็บน้ำท่ากะบาก ตั้งอยู่หมู่ที่ ๗ บ้านท่ากะบาก ตำบลท่าแยก อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว
  • ลักษณะทั่วไปของภูมิประเทศในบริเวณตัวอ่างเก็บน้ำท่ากะบาก พื้นที่ทั่วไปถูกบุกเบิกทำพืชไร่แต่พื้นที่เหนือบริเวณตัวอ่างขึ้นไปยังอยู่ในลักษณะป่าโดยทั่วไป โดยเฉพาะบริเวณห้วยยังมีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่นพอสมควร ในฤดูแล้งยังพอมีน้ำไหลอยู่ตลอดทั้งปี

วัตถุประสงค์ :  เพื่อเป็นการสนองพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่จะจัดหาน้ำให้กับหมู่บ้านป่าไม้ท่ากะบากซึ่งเป็นหมู่บ้านที่เกิดขึ้นใหม่ เมื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเสร็จจะช่วยส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกประมาณ ๔,๐๐๐ ไร่ โดยสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้ประมาณ ๗.๓๐  ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากราษฎรในเขตพื้นที่ขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการอุปโภค – บริโภค และการกสิกรรมเป็นอย่างมาก 

ลักษณะโครงการ :

          ทำนบดิน

                 ทำเลที่สร้างทำนบดิน แผนที่ระวาง ๕๔๓๖ I พิกัด ๔๘ PTA ๐๔๙๔๕๙

                 พื้นที่รับน้ำฝน ๒๒.๒๒     ตร.กม.

                 ปริมาณฝนตกเฉลี่ยทั้งปี ๑,๔๖๐.๐๐ มม.

                 ปริมาณน้ำทั้งปีที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำ ๙.๖๐ ล้าน ลบ.ม.

                 ทำนบดิน สูง ๑๗.๕๐ ม.

                 ทำนบดิน ยาว ๑,๗๒๐.๐๐ ม. (6.00)

                 ระดับสันทำนบ +๘๐.๕๐ ม. (รสม.)

                 ระดับน้ำสูงสุด +๗๙.๐๐ ม. (รสม.)

                 ระดับน้ำเก็บกัก (เสริม Spillway ๐.๕๐ ม.) +๗๘.๕๐ ม. (รสม.)

                 ความจุอ่างเก็บน้ำ ๗.๓๐ ล้าน ลบ.ม.

                 ความจุที่พักตะกอน ๐.๒๕ ล้าน ลบ.ม.

                 ความจุอ่างเก็บน้ำสำรองใช้งาน ๗.๐๕ ล้าน ลบ.ม.

                 พื้นที่ผิวน้ำที่ระดับน้ำสูงสุด (ประมาณ ๑,๐๑๕  ไร่) ๑.๖๒๕ ตร.กม.

          ระบบส่งน้ำและอาคารประกอบ

                 - ทางระบายน้ำล้น กว้าง ๑๓.๐๐  ม. ระดับสันอาคาร +๗๙.๐๐ Qmax ๑๐.๙๗๐  ลบ.ม./วินาที

                 - คลองส่งน้ำฝั่งขวา ยาว ๑๐.๒๐  กม. พื้นที่ส่งน้ำฝั่งขวา ๒,๔๐๐ ไร่

                 - คลองส่งน้ำฝั่งซ้าย ยาว ๗.๔๐  กม. พื้นที่ส่งน้ำฝั่งซ้าย ๑,๖๐๐  ไร่

          ค่าลงทุน

                งานทำนบดินและอาคารประกอบ ๒๙.๙๒๖ ล้านบาท

                งานระบบส่งน้ำและอาคารประกอบ ๑๘.๘๙๕ ล้านบาท

                รวมค่าลงทุน ๔๘.๘๒๑ ล้านบาท

ผลประโยชน์ที่ได้รับ : เมื่อก่อสร้างอ่างเก็บน้ำท่ากะบาก พร้อมทั้งระบบส่งน้ำเสร็จสมบูรณ์แล้ว ผลประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้คือ 

สามารถส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกบริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำได้ทั้งในฤดูแล้ง ประมาณ ๔,๐๐๐ ไร่

ทำให้เกิดแหล่งแพร่ – เพาะขยายพันธ์ปลาน้ำจืดในบริเวณอ่างเก็บน้ำ ทำให้มีอาชีพและรายได้พิเศษเพิ่มขึ้น

บรรเทาและป้องกันอุทกภัย ซึ่งเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของราษฎรอาจจะเกิดขึ้นในปีน้ำมากผิดปกติ

เป็นการประกันการเพาะปลูกของราษฎรให้ได้ผลสม่ำเสมอตลอดปี และทำให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นเพราะมีงานทำเกือบตลอดปี ทั้งนี้เนื่องจากมีน้ำชลประทานสำหรับทำการกสิกรรม

เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในเขตอำเภอสระแก้ว อำเภอวัฒนานคร และบริเวณใกล้เคียงทั่วไป

เป็นการปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่จะดึงประชาชนในเขตผู้ก่อการร้าย ซึ่งคอยยุแหย่ชักจูงให้ราษฎรหลงผิดมากลับคืนมาเป็นฝ่ายรัฐบาล ผลประโยชน์อันนี้ไม่สามารถจะประเมินค่าได้


ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ