โครงการ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านบ่อชะอม หมู่ที่ ๑๑
อำเภอ แก่งหางแมว จังหวัด จันทบุรี
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
๑. ประวัติความเป็นมา
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านบ่อชะอมเป็นโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยประชาชนในหมู่บ้านได้ร่วมกันบริจาคเงินและที่ดิน ร่วมกันก่อสร้างอาคารเรียนชั่วคราว ขนาด ๒ ห้องเรียนและร่วมกันบริจาคทรัพย์ เพื่อจ้างครูมาช่วยสอนเด็กนักเรียน ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นต้นมา
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ คณะกรรมการหมู่บ้านและประชาชนบ้านบ่อชะอมได้ทำหนังสือถึงกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๑๑ เพื่อขอรับการสนับสนุนข้าราชการตำรวจกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๑๑ มาทำหน้าที่ครู กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๑๑ ได้พิจารณาถึงเหตุผลและความจำเป็น จึงได้จัดส่งข้าราชการตำรวจ จำนวน ๕ นาย มาเพื่อทำหน้าที่สอนเด็กนักเรียน และได้รับการจัดตั้งเป็นโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๓๔
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จ ฯ ทรงเยี่ยมโรงเรียน และติดตามผลการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ จำนวน ๓ ครั้ง ดังนี้
ครั้งที่ ๑ วันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๘
ครั้งที่ ๒ วันที่ ๒๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ ( ครั้งที่ ๓๐๒ )
ครั้งที่ ๓ วันที่ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ( ครั้งที่ ๔๔๒ )
๒. ปรัชญาของโรงเรียน
“ สร้างภูมิปัญญา พัฒนาคุณภาพชีวิต สัมฤทธิผลความมั่นคง ”
๓. วิสัยทัศน์ของโรงเรียน
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านบ่อชะอมมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถทางด้านวิชาการควบคู่กับวิชาชีพที่เน้นการปฏิบัติจริง และเรียนรู้โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเสริมสร้างผู้เรียนให้มีคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสำนึกในความเป็นไทย รักท้องถิ่น ชุมชนมีส่วนร่วมในการ
จัดการศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๔
๔. ระบบการศึกษา
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านบ่อชะอมสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๑๑ จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๕๕๒ เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นเด็กปฐมวัยถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ แบ่งเป็น ๒ ภาคเรียน
ภาคเรียนที่ ๑ เปิดวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ถึงวันที่ ๑๐ ตุลาคม
ภาคเรียนที่ ๒ เปิดวันที่ ๑ พฤศจิกายน ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม
๕. ระบบการบริหารและดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ
ปัจจุบันมี ร.ต.ท. เสรี อ่อนแพง เป็นครูใหญ่ บริหารงานภายใต้คณะกรรมการสถานศึกษา รวมทั้งได้มีการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริฯ จำนวน 8 โครงการ ประกอบด้วย
๕.๑ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน
๕.๒ โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน
๕.๓ โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กฯ
๕.๔ โครงการส่งเสริมสุขภาพการศึกษา
๕.๕ โครงการนักเรียนในพระราชานุเคราะห์
๕.๖ โครงการฝึกอาชีพ
๕.๗ โครงการส่งเสริมสหกรณ์
๕.๘ โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๖. จำนวนครูและจำนวนนักเรียน
เมื่อเริ่มก่อตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านบ่อชะอมมีนักเรียน ๖๐ คน มีครูตำรวจตระเวนชายแดน ๕ คน
ปัจจุบันมีโรงเรียนมีนักเรียน จำนวน ๘๒ คน เป็นชาย ๔๒ คน และ หญิง ๔๐ คน
มีครูตำรวจตระเวนชายแดน ๘ คน ครูผู้ดูแลเด็กเล็กก่อนวัยเรียน จำนวน ๒ คน และครูอัตราจ้าง ๒ คน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณเป็นค่าตอบแทนรายเดือนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี ตารางแสดงจำนวนนักเรียน ปีการศึกษา ๒๕๕๓
บ้านบ่อชะอม หมูที่ ๑๑ ตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี
ประวัติความเป็นมา
เมื่อปี ๒๕๑๒ ราษฎรจากพื้นที่อื่นอพยพเข้ามาและรวมตัวกันสร้างหมู่บ้านขึ้น ซึ่งในสมัยนั้นมีบ่อน้ำที่มีต้นชะอมขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ใกล้ๆ
และเริ่มเรียกชื่อหมู่บ้านว่า “ บ้านบ่อชะอม ”
สภาพภูมิประเทศ
เป็นพื้นที่ราบเชิงเขาเป็นส่วนใหญ่ เหมาะกับการเพาะปลูกพืชไร่และพืชสวน
จำนวนประชากร
บ้านบ่อชะอม จำนวน ๑๖๑ หลังคาเรือน แยกเป็นประชากรชาย จำนวน ๓๕๗ คน ประชากรหญิง ๓๖๖ คน รวมทั้งหมด ๗๒๓ คน
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านบ่อไฟไหม้
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านเนินจำปา
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านเขาฆ้อง
- ทิศตะวันตก ติดกับ อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง
การประกอบอาชีพ
- มีอาชีพทำสวนยางพารา ทำไร่มันสำปะหลัง สวนผลไม้ และรับจ้างทั่วไป
- รายได้เฉลี่ย ๓๐,๐๐๐ – ๓๕,๐๐๐ บาท ต่อปี ต่อครอบครัว
ศาสนา
- ราษฎรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ
- ภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ภาษาไทย และภาษาท้องถิ่น ( อิสาน, ระยอง )
แหล่งน้ำอุปโภค บริโภค
- น้ำอุปโภคจะใช้น้ำประปาของหมู่บ้าน น้ำบริโภคใช้น้ำฝน
ด้านสาธารณสุข
- บ้านบ่อชะอม มีสถานีอนามัยบ้านเนินจำปา ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ ๓ ตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว
จังหวัดจันทบุรี ห่างจากโรงเรียน ๕ กิโลเมตร ให้บริการดูแลและรักษาสุขภาพอนามัยให้กับประชาชนและ
เด็กนักเรียนในพื้นที่ จำนวน ๕ หมู่บ้าน
การคมนาคม
- บ้านบ่อชะอม ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดจันทบุรี ประมาณ ๗๐ กิโลเมตร โดยถนนลาดยาง
- ห่างจาก กก.ตชด. ๑๑ ประมาณ ๙๕ กิโลเมตร โดยถนนลาดยาง
- ห่างจากอำเภอแก่งหางแมว ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร โดยถนนลาดยาง
สาธารณูปโภค – สาธารณสมบัติ
- มีระบบโทรศัพท์พื้นฐาน
- มีระบบประปา และระบบไฟฟ้า
- ร.ร.ตชด.จำนวน ๑ แห่ง
- วัดและสำนักสงฆ์ จำนวน ๒ แห่ง
- ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน จำนวน ๑ แห่ง
การเมืองการปกครอง
- มีการปกครองโดยระบอบประชาธิปไตย
- ประชาชนมีความสามัคคีและช่วยเหลือกันในระบบเครือญาติ
- มีขนบธรรมเนียมประเพณี
- มีการจัดประชุมหมู่บ้านอาทิตย์สุดท้ายของทุกเดือน
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสวัสดิการสังคม/การศึกษา