๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๗

โครงการ อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัดอันเนื่องมากจากพระราชดำริ

จังหวัด จันทบุรี


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงมีพระราชเสาวนีย์ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณาจัดทำโครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฎร โดยเฉพาะราษฎรในชุมชนที่อพยพจากป่าและชุมชนที่อยู่อาศัยอยู่ติดแนวเขตป่าอนุรักษ์ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีอาชีพที่เหมาะสมยั่งยืน อันจะทำให้ราษฎรไม่หวนกลับไปบุกรุกป่าอีก

เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๓๗ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าในพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด (ภาคตะวันออก)อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่บ้านเทพประทาน ตำบลตะเกรา จังหวัดฉะเชิงเทรา และมีพระราชเสาวนีย์ให้พิจารณาก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเขาละลาก ตำบลคลองตะเกรา กิ่งอำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อให้ราษฎรได้มีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร

เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชเสาวนีย์ให้ทหารช่วยดูแลเรื่องป่าไม้และน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด และป่าเขาใหญ่ ให้ทหารและกรมป่าไม้ รวมทั้งส่วนราชการอื่นๆ ปลูกฝังแนวคิดให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ อยู่ร่วมกับป่าอย่างพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยไม่รบกวนป่า ตลอดจนพัฒนาอาชีพให้กับประชาชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

สถานที่ดำเนินการ : พื้นที่ป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด (ภาคตะวันออก) ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดสระแก้ว จังหวัดจันทบุรี จังหวัดระยอง และ จังหวัดชลบุรี 

วัตถุประสงค์ของโครงการ :

๑. เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่โครงการป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด (ภาคตะวันออก)

๒. เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าให้มีความยั่งยืน

๓. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่โครงการป่ารอยต่อ ๕ จังหวัด (ภาคตะวันออก)

ประโยชน์ของโครงการ :

๑. ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการอนุรักษ์และพื้นฟู ป่าไม้และระบบนิเวศน์ที่มีสภาพเสื่อมโทรมจะกลับคืนสู่ความอุดมสมบูรณ์ โดยชุมชนมีส่วนร่วมในลักษณะป่าพึ่งคน คนพึ่งป่า

๒. ราษฎรที่อาศัยทำกินในพื้นที่รอบโครงการมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

๓. ราษฎรเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า

๔. การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรสัตว์ป่า และความหลากหลายทางพันธุกรรมที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

บริเวณพื้นที่โครงการที่ดำเนินการขุดลอกคลองแพรกกะหมู จังหวัดสระแก้ว 

บริเวณพื้นที่โครงการที่ดำเนินการขุดลอกคลองเขาพริก ๒ จังหวัดฉะเชิงเทรา 

กล้าไม้หายากและสมุนไพร

บริเวณพื้นที่โครงการที่ดำเนินการปลูกป่า โดยการปักหลัก stake หมายแนวปลูก

สภาพแนวกันไฟภายในโครงการ

 ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านการส่งเสริมอาชีพ