๒๒ ธันวาคม ๒๕๖๗

โครงการ พัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาป่าทับลาน (๒) อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ตำบล ทุ่งโพธิ์ อำเภอ นาดี จังหวัด ปราจีนบุรี


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาป่าทับลาน (๒) อันเนื่องมาจากพระราชดำริตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เดิมเป็นเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้าย ซึ่งได้อาศัยบริเวณเทือกเขาบรรทัด เป็นแหล่งซ่องสุม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้ทรงมีพระราชดำริ ให้ดำเนินการพัฒนาบริเวณที่ราบเชิงเขาบรรทัด เพื่อที่จะแก้ปัญหาและป้องกันมิให้ราษฎรไปฝักใฝ่และเลื่อมใสในลัทธิของฝ่ายตรงข้าม เป็นการชักจูงให้ราษฎร มีการเชื่อมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย

วัตถุประสงค์ : เพื่อจัดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้แก่ราษฎรที่บุกรุกแผ้วถางถือครองที่ดินกันอยู่อย่างกระจัดกระจายให้มารวมกัน โดยถูกต้องตามกฎหมายในรูปหมู่บ้านป่าไม้เพื่อพัฒนาความรู้และส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้ราษฎรได้ดำรงชีพอย่างมีคุณภาพและมั่นคงทางเศรษฐกิจเพื่อพัฒนาจิตใจราษฎรให้มีความยึดมั่นในชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เพื่อดำรงรักษาสภาพป่าในบริเวณที่ยังมีสภาพดีอยู่ไม่ให้ถูกบุกรุกแผ้วถางทำลายและรักษาไว้ซึ่งความสมดุลทางธรรมชาติของป่าต้นน้ำลำธาร รวมทั้งการปลูกเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกบุกรุกทำลายไปแล้วได้กลับคืนสู่สภาพเดิมต่อไป โครงการฯ ตั้งอยู่ที่พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแก่งดินสอ-แก่งใหญ่-เขาสะโตน ท้องที่ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี     

สภาพภูมิประเทศ สภาพพื้นที่เป็นที่ราบสลับเนินเขาเตี้ยๆ และมีภูเขาสูง ซึ่งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลานล้อมรอบ สภาพป่าเป็นป่าดิบแล้ง พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่มี ไม้ตะเคียน ไม้ยาง ไม้มะค่าโมง ไม้ตะแบก ไม้กระบก ฯลฯ สำหรับต้นใม้ท้องถิ่นมีไม้ตระกูลปาล์ม คือ ต้นลาน (corypha umbraculifera ) ขึ้นอยู่ทั่วไป

ลักษณะของโครงการ กิจกรรมอนุรักษ์ ฟื้นฟู วิจัยและพัฒนาป่าไม้

เริ่มดำเนินการ ปี ๒๕๒๗

การดำเนินกิจกรรม/แปลงปลูกป่า ในปี ๒๕๕๓

ในปี ๒๕๕๓ สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้ดำเนินการกิจกรรมตามโครงการ ในลักษณะของการอนุรักษ์ ฟื้นฟู วิจัย ซึ่งได้กำหนดแผนงานเป็นแผนระยะยาว ๗-๑๐ ปี โดยปีนี้เป็นการดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ ๖ ซึ่งจะดูแลพื้นที่ประมาณ ๑๐๐ ไร่ (เนื้อที่โครงการ ๘,๐๐๐ ไร่) ประกอบด้วย

          ๑. บำรุงรักษาสวนเดิมตามแผน ได้แก่

             - ดายวัชพืช จัดเวรยามเฝ้าระวังไฟป่า, ป้องกันการบุกรุกสวนป่า เพาะชำกล้าไม้เพื่อปลูกซ่อม

             - ดูแลและรักษาสวนป่าเดิม

             - จัดเวรยามเฝ้าระวังไฟป่า ป้องกันการบุกรุกสวนป่า เพาะชำกล้าไม้เพื่อปลูกซ่อม

          ๒. แนวกันไฟระยะทาง ๑ กิโลเมตร

             - ดายวัชพืช ทำแนวกันไฟรอบนอก

               ๓. เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เกี่ยวกับการป่าไม้ และสร้างจิตสำนึกร่วมกับชุมชน ให้เล็งเห็นถึงคุณค่าประโยชน์ของทรัพยากรป่าไม้ และรักษาความสมดุลของป่าต้นน้ำลำธาร รวมทั้งเห็นความสำคัญของการปลูกสร้างสวนป่า เพื่อพื้นฟูสภาพป่าให้กลับสู่สภาพเดิม

   

หน่วยงานรับผิดชอบ : สำนักฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม