โครงการ อ่างเก็บน้ำห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบล แก่งดินสอ อำเภอ นาดี จังหวัด ปราจีนบุรี
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
พระราชดำริ เมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๒๑ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ได้มีพระราชดำรัสกับอธิบดีกรมชลประทานให้พิจารณาวางโครงการชลประทานประเภทอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำห้วยพระปรงและลุ่มน้ำห้วยโสมง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำปราจีนบุรี พร้อมทั้งได้พระราชทานข้อมูลที่ทรงวางโครงการไว้ ให้อธิบดีกรมชลประทานใช้ประกอบการพิจารณาเพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรใช้ทำการเพาะปลูกได้ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดปี นอกจากนี้ ยังมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการห้วยโสมงในอีกหลายโอกาส
สภาพปัญหาและเหตุผลความจำเป็น :
๑) ปัญหาการเกิดอุทกภัยในพื้นที่
พื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีประสบปัญหาการเกิดอุทกภัยสร้างความเสียหายให้กับประชาชนในพื้นที่ มาโดยตลอด โดยในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี พบว่ามีพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ซึ่งเกิดจากปริมาณน้ำนองในลุ่มน้ำปราจีนบุรีและลุ่มน้ำสาขา (รวมลุ่มน้ำห้วยโสมง) ในเขตพื้นที่อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี รวมกว่า ๑๑๗ หมู่บ้าน นอกจากนั้นในปีพ.ศ. ๒๕๔๙ มีพื้นที่ประสบภัยใน ๒ อำเภอดังกล่าวรวมกว่า ๒๐๗ หมู่บ้าน สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่การเกษตรกว่า ๔๙,๓๑๖ ไร่ พื้นที่ทำการประมง/เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ๒๘๙ ไร่ และถนน ๓๖๐ สาย ซึ่งปัญหาการเกิดอุทกภัยยังคงสร้างความเสียหายให้แก่ราษฎรในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
๒) ปัญหาการเกิดภัยแล้งในพื้นที่
ในปัจจุบันพบว่า พื้นที่การเกษตรบริเวณด้านท้ายน้ำห้วยโสมง ในเขตพื้นที่อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี ส่วนใหญ่จะทำการเกษตรได้ในช่วงฤดูฝนเท่านั้น ส่วนช่วงฤดูแล้งหรือช่วงฝนทิ้งช่วงจะไม่สามารถทำการเกษตรได้เนื่องจากการขาดแคลนน้ำ ยกเว้นในพื้นที่ลุ่มต่ำริมห้วยโสมงและลำน้ำสาขาที่พอจะมีปริมาณน้ำไหลบ้าง จะมีการเพาะปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคในครัวเรือน รวมทั้งปริมาณน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคของแหล่งชุมชนต่างๆ จะขาดแคลนในช่วงฤดูแล้งเช่นกัน (เดือนธันวาคม-เดือนเมษายน) เนื่องจากไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำต้นทุนขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ จังหวัดปราจีนบุรีมีพื้นที่ที่ได้รับประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยแล้ง ๕๘๒ หมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ ๖๔ ตำบล โดยอยู่ในเขตอำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรีกว่า ๑๙๐ หมู่บ้าน ดังนั้นหากไม่มีการพัฒนาโครงการห้วยโสมงจะทำให้ปัญหาการขาดแคลนน้ำยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากปริมาณความต้องการน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การเกษตร และอื่นๆ เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๒ อนุมัติให้กรมชลประทานเริ่มดำเนินการโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี ระยะเวลาดำเนินการโครงการทั้งสิ้น ๙ ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๓-๒๕๖๑) วงเงินโครงการทั้งสิ้น ๘,๓๐๐ ล้านบาท
ผลประโยชน์ของโครงการ :
๑. เป็นแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนจำนวน ๑๑๑,๓๐๐ ไร่ และฤดูแล้งจำนวน ๔๕,๐๐๐ ไร่ ในเขตอำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
๒. ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีและลุ่มน้ำสาขาในเขตพื้นที่ อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
๓. เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรและการประปา
๔. ช่วยรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็มและน้ำเน่าเสียในแม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำบางปะกง
๕. อ่างเก็บน้ำจะเป็นแนวกันชนหรือแนวป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดา รวมทั้งช่วยเพิ่มระดับความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าไม้ ทำให้โอกาสการเกิดไฟไหม้ป่าลดลง หรือหากเกิดไฟป่าก็จะมีแหล่งน้ำต้นทุนที่จะสามารถนำน้ำมาใช้ดับไฟป่าได้
ผลการดำเนินงาน :
๑) เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๒ คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีระยะเวลาดำเนินการ ๙ ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๓-๒๕๖๑) งบประมาณ ๘,๓๐๐ ล้านบาท
๒) เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๒ นายกรัฐมนตรี (ประธาน กปร.) อนุมัติงบประมาณประจำปี ๒๕๕๓ จำนวน ๗๗.๗๗ ล้านบาท ให้แก่กรมชลประทาน เพื่อดำเนินการเตรียมงานเบื้องต้นและงานประชาสัมพันธ์ของโครงการ
๓) เมื่อวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๕๓ นายกรัฐมนตรี ประธาน กปร. ลงนามคำสั่งคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่ ๑/๒๕๕๓ แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารและคณะอนุกรรมการโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี ประกอบด้วย
(๑) คณะกรรมการบริหารโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
(๒) คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์
(๓) คณะอนุกรรมการจัดหาที่ดินและจัดแปลงอพยพ
(๔) คณะอนุกรรมการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม
๔) เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๓ นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี และนายสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี พร้อมกับเลขาธิการ กปร. ติดตามการดำเนินงานโครงการ
๕) เมื่อวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๓ กรมชลประทาน ทำสัญญาว่าจ้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ
๖) ในปี ๒๕๕๔ นายกรัฐมนตรี (ประธาน กปร.) อนุมัติงบประมาณ ให้แก่ สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดปราจีนบุรี กองทัพภาคที่ ๑ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมปราจีนบุรี กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมประชาสัมพันธ์ และกรมชลประทาน จำนวน ๑๓,๔๑๖,๑๐๐ บาท
๗) เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ได้จัดประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี
๘) เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๕๔ ได้มีการจ่ายค่าชดเชยรวมจำนวน ๓๙๙ ล้านบาท
๙) เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๔ กรมชลประทานได้ลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้าง ผู้รับจ้างกิจการร่วมค้า วีซีอีซี ประกอบด้วย บริษัทวิจิตรภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และบริษัท ซีวิลเอนจีเนียริ่ง จำกัด และเข้าทำงานประมาณเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๔ ปัจจุบันอยู่ขั้นตอน สำนักงบประมาณพิจารณาความเหมาะสมของราคา
การดำเนินงานโครงการ :
๑. การศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อม แล้วเสร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๓๘ และมีการแก้ไขเพิ่มเติม แล้วเสร็จ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๖ และต่อมาได้ทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่มรดกโลกเพิ่มเติม แล้วเสร็จเมื่อเดือน พฤศจิกายน ๒๕๕๐
๒. การออกแบบรายละเอียดโครงการ แล้วเสร็จ เดือนสิงหาคม ๒๕๔๔
๓. การจัดหาที่ดิน (เขื่อนหัวงานและอ่างเก็บน้ำ)
- พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานและปางสีดา ๑,๖๔๕ ไร่ อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทั้งสองบางส่วนเพื่อก่อสร้างโครงการ
- พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ๔,๕๒๗ ไร่ คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเพื่อเสนออธิบดีกรมป่าไม้มีมติเห็นชอบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ เพื่อก่อสร้างโครงการ เมื่อ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๘ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรมป่าไม้
- พื้นที่เขต สปก. ๑๐,๙๑๙ ไร่ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) อนุญาตในหลักการให้กรมชลประทานใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างโครงการแล้วเมื่อ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
๔. แผนงานก่อสร้างโครงการ
- งานเตรียมงานเบื้องต้น ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับงบประมาณจากสำนักงาน กปร. จำนวน ๗๗.๗๗๔ ล้านบาท
- งานเขื่อนหัวงานฯ ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๔ - ๒๕๕๘
- งานระบบส่งน้ำและระบายน้ำ ดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๕ - ๒๕๖๑
๕. เพื่อให้การดำเนินงานโครงการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพสูงสุด กรมชลประทานได้เสนอขออนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารและคณะอนุกรรมการ โครงการห้วยโสมงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดปราจีนบุรี และคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ได้ลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการดังกล่าวแล้ว
ระยะเวลาดำเนินการ ปี ๒๕๕๓ – ๒๕๖๑
หน่วยงานรับผิดชอบ โครงการชลประทานปราจีนบุรี กรมชลประทาน
ผลประโยชน์ของโครงการ :
๑) เป็นแหล่งน้ำต้นทุนและเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝนจำนวน ๑๑๑,๓๐๐ ไร่ และฤดูแล้งจำนวน ๔๕,๐๐๐ ไร่ ในเขตอำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
๒) ช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีและลุ่มน้ำสาขา ในเขตพื้นที่อำเภอนาดี และอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี
๓) เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของราษฎรและการประปา
๔) ช่วยรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็มและน้ำเน่าเสียในแม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำ
๕) อ่างเก็บน้ำจะเป็นแนวกันชนหรือแนวป้องกันการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลานและอุทยานแห่งชาติปางสีดา รวมทั้งช่วยเพิ่มระดับความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าไม้ ทำให้โอกาสการเกิดไฟไหม้ป่าลดลง หรือหากเกิดไฟป่าก็จะมีแหล่งน้ำต้นทุนที่จะสามารถนำน้ำมาใช้ดับไฟป่าได้
แผนที่แสดงพื้นที่การเกษตรชลประทาน จำนวน ๑๑๑,๓๐๐ ไร่
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ