โครงการ อ่างเก็บน้ำบ้านทับลานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
ตำบล บุพราหมณ์ อำเภอ นาดี จังหวัด ปราจีนบุรี
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
เนื่องด้วยคณะกรรมการโครงการพัฒนาที่ราบเชิงเขาจังหวัดปราจีนบุรี ตามพระราชดำริได้ร่วมประชุมกันและมีความเห็นว่าราษฎรบ้านทับลานซึ่งมีอยู่ประมาณ ๒๖๐ ครอบครัว ยังขาดแคลนน้ำที่จะใช้อุปโภค – บริโภค และเพื่อทำการเกษตรกรรมโดยราษฎรส่วนใหญ่ได้อาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติและมีลักษณะไม่รวมกันเป็นหมู่บ้านดังนั้นในปีงบประมาณ ๒๕๒๕ กรมป่าไม้จึงได้รวบรวมราษฎรซึ่งกระจัดกระจายกันอยู่ตามที่ต่าง ๆ จัดตั้งเป็นหมู่บ้านป่าไม้ทับลานขึ้น
เพื่อสนองนโยบายดังกล่าวข้างต้นเกี่ยวกับการจัดหาแหล่งน้ำให้ราษฎรหมู่บ้านป่าไม้ทับลานได้อุปโภค – บริโภค และเพื่อทำการเกษตรกรรม กรมชลประทานจึงวางแผนงานก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำบ้านทับลาน อ.นาดี จ.ปราจีนบุรีขึ้น โดยในปีงบประมาณ ๒๕๒๖ จะดำเนินการก่อสร้างทำนบดินหัวงานและอาคารประกอบให้แล้วเสร็จและสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ประมาณ ๒.๗๒๕ ล้าน ม.๓ และในปีงบประมาณ ๒๕๒๗ จะดำเนินการก่อสร้างระบบการส่งน้ำต่อไป ซึ่งสามารถช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกได้ประมาณ ๖๐๐ ไร่
พระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช มีพระราชดำริ เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๑
ผลการดำเนินงาน : กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทับลาน ความยาวเขื่อน ๘๕๐ เมตร ความสูงเขื่อน ๑๑.๕๐๐ เมตร สันเขื่อนกว้าง ๖ เมตร ความจุเก็บกักน้ำ ๒,๕๐๐ ลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับน้ำ ๓๓,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร แล้วเสร็จเมื่อปี ๒๕๒๖
ทำเลที่สร้างทำนบดิน พิกัด 47 PRR 152-719 แผนที่ระวาง 5337 II
พื้นที่รับน้ำฝน ๓๓ กม.๒
ปริมาณฝนตกเฉลี่ยทั้งปี ๑,๖๑๐ มม.
ปริมาณน้ำทั้งปีที่ไหลลงอ่าง ๑๓.๒๘ ล้าน ม.๓
ทำนบดินสูง ๑๑.๕ ม.
ทำนบดินยาว ๘๕๐ ม.
หลังคันกว้าง ๖.๐๐ ม.
ระดับสันทำนบ ๘๓.๖๐๐ ม. (รทก.)
ระดับน้ำสูงสุด ๘๒.๕๐๐ ม. (รทก.)
ระดับน้ำเก็บกัก ๘๒.๐๐๐ ม. (รทก.)
ความจุอ่างเก็บน้ำ ๒.๗๒๕ ล้าน ม.๓
ความจุที่พักตะกอน ๐.๓๐ ล้าน ม.๓
ความจุอ่างเก็บน้ำสำรองใช้งาน ๒.๒๐ ล้าน ม.๓
พื้นที่ผิวน้ำที่ระดับน้ำสูงสุด (ประมาณ ๕๖๒.๒๐ ไร่) ๐.๙๐ กม.๒
ประโยชน์ที่ได้รับ :
๑. เพิ่มพื้นที่การเกษตรจำนวน ๖๐๐ ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าว ๒๔๐ ไร่ ผลผลิต ๖๐๐ กก./ไร่ ปลูกพืชสวน ๓๐๐ ไร่ ปลูกพืชไร่ ๕๐ ไร่ ปลูกพืชผักสวนครัว ๑๐ ไร่ และช่วยพัฒนาด้านการปศุสัตว์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
๒. สามารถส่งน้ำช่วยเหลือด้านการอุปโภคบริโภค จำนวน ๘๐๐ ครัวเรือน ๘๑๕ คน
๓. ช่วยให้ราษฎรในเขตพื้นที่ชลประทานได้มีน้ำเพื่อการอุปโภค – บริโภคและทำการเพาะปลูกได้ตลอดปีทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้งประมาณ ๓,๐๐๐ ไร่ โดยสามารถเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งเป็นน้ำต้นทุนได้ประมาณ ๒.๗๒๕ ล้าน ม.๓
ที่มา : สำนักประสานงานโครงการพื้นที่ ๑
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ