โครงการ ฝายห้วยคำภู
ตำบล แก่งดินสอ อำเภอ นาดี จังหวัด ปราจีนบุรี
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
โครงการฝายห้วยคำภู (บ้านวังอ้ายป่อง) เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาส เมื่อ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๙ ให้นายสุหะ ถนอมสิงห์ อธิบดีการชลประทาน พันเอก นิพนธ์ ภารัญนิตย์ ผู้บังคับการกรมทหาราบที่ ๒๑ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๒๑ รักษาพระองค์ ผู้อำนวยการโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ และพันเอกสนั่น มะเริงสิทธิ์ ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ ๑๒๒ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรับพระราชทานพระราชดำริ และพระราชทานวินิจฉัยเกี่ยวกับงานชลประทาน และด้านต่างๆ โดยอธิบดีกรมชลประทาน ได้กราบบังคมทูลว่า คณะกรรมการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา ซึ่งปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน จะสร้างโครงการจัดหมู่บ้านใหม่ ๓ โครงการ รวมทั้งแหล่งน้ำเพื่อใช้กับหมู่บ้านทั้ง ๓ แห่งที่สร้างขึ้นใหม่ด้วยเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ คือ หมู่บ้านคลองเกลือ หมู่บ้านคลองหมากนัด และหมู่บ้านวังอ้ายป่อง ซึ่งกรมชลประทานได้ดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำให้แล้ว ๒ หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านคลองเกลือ และหมู่บ้านคลองหมากนัด สำหรับหมู่บ้านวังอ้ายป่องนี้ กรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาขั้นรายละเอียด สำรวจ ออกแบบ และวางแผนก่อสร้าง โดยของบ กปร. สนับสนุนในปีงบประมาณ ๒๕๓๕
พระราชดำริ : พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช มีพระราชดำริเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๙
ผลการดำเนินงาน : กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างฝายห้วยคำภู ความยาวสันฝาย ๓๙.๔๐ เมตร ความสูงสันฝาย ๑.๕๐ เมตร พื้นที่รับน้ำ ๑๒๐ ตารางกิโลเมตร แล้วเสร็จเมื่อปี ๒๕๓๕
รายละเอียดโครงการ : ดำเนินการก่อสร้างฝาย ขนาดกว้าง ๓๕.๐๐ เมตร สูง ๒.๕๐ เมตร พร้อมก่อสร้างระบบส่งน้ำ เป็นท่อขนาด ๒ - Ø ๐.๓๐ เมตร ยาว ๖๘๐ เมตร และคลองส่งน้ำรวม ๕ สาย เพื่อให้ราษฎรหมู่บ้านวังอ้ายป่อง มีน้ำใช้ในการเพาะปลูก การอุปโภค-บริโภค และเพื่อการเลี้ยงสัตว์อย่างพอเพียงตลอดปี
๑. ที่ตั้งหัวงาน ตามแผนที่ ๑: ๕๐๐๐๐ พิกัด 48 PSA 803619 ระวาง 5437 II
๒. พื้นที่รับน้ำฝนเหนือฝาย ๑๒๐ ตร.กม.
๓. ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีในบริเวณพื้นที่รับน้ำฝนเหนือฝาย ๑,๕๒๓ มม.
๔. ปริมาณน้ำผ่านฝาย ๕๙ ม๓ / วินาที
๕. ฝาย สูง ๒.๕๐ ม. กว้าง ๓๕.๐๐ ม.
๖. ระดับ สันฝาย +๔๖.๐๐๐ ม. รทก.
๗. ระดับธรณีท่อส่งน้ำ +๔๕.๐๐๐ ม.รทก.
๘. ระบบส่งน้ำ โดยท่อส่งน้ำขนาด ๒-Ø ๐.๓๐ ม. ยาว ๖๘๐ ม. และคลองส่งน้ำ ๕ สาย รวมความยาว ๗,๕๐๐ ม.
๙. ส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูก ประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่
ประโยชน์ที่ได้รับ :
๑. เพิ่มพื้นที่การเกษตรจำนวน ๑,๔๐๐ ไร่ พัฒนาด้านปศุสัตว์ และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
๒. สามารถส่งน้ำช่วยเหลือเพื่อการอุปโภคบริโภค จำนวน ๑๖๕ ครัวเรือน
ที่มา : สำนักประสานงานโครงการพื้นที่ ๑
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ