โครงการ ก่อสร้างสะพานจตุรทิศตะวันออก
จังหวัด กรุงเทพมหานคร
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
โครงการจตุรทิศตะวันออก ถือเป็นโครงข่ายที่สำคัญและเป็นโครงข่ายใหญ่มีการก่อสร้างถนนและสะพานเชื่อมโครงการย่อๆ ปลายโครงการเข้าด้วยกัน เพื่ออำนวยความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางระหว่างฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของกรุงเทพมหานคร และบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด รวมไปถึงถนนเชื่อมต่อสายอื่นได้แก่ ถนนราชดำเนินนอก ถนนศรีอยุธยา ถนนสวรรคโลก ถนนอโศก-ดินแดง ถนนสุขุมวิท ถนนเพชรบุรี และถนนพระราม ๙ การก่อสร้างโครงการเริ่มต้นจากทิศตะวันตก ต่อเนื่องกับโครงการพระราชดำริทางคู่ขนานลอยฟ้าถนนบรมราชชนนีและโครงการพระราม 8 ไปยังทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครโดยแบ่งออกเป็น ๔ ช่วงคือ
๑. โครงการจตุรทิศ ตะวันออก ช่วง ก. บริเวณถนนศรีอยุธยา ไปยังถนนาชดำเนินนอกจนถึงถนนสวรรคโลก
๒. โครงการจตุรทิศ ตะวันออก ช่วง ข. จากถนนศรีอยุธยาถึงถนนอโศก-ดินแดง
๓. โครงการจตุรทิศ ตะวันออก ช่วง ค. จากบริเวณบึงมักกะสันถึงถนนเลียบคลองบางกะปิ
๔. โครงการจตุรทิศ ตะวันออก ช่วง ง. จากถนนเลียบคลองบางกะปิถึงถนนพระราม ๙
โครงการในแต่ละช่วงได้ทำการซ่องสร้างถาวรวัตถุและสิ่งสาธารณประโยชน์ต่างๆ ดังนี้
โครงการจตุรทิศ ตะวันออก ช่วง ก.
• ขยายผิวการจราจรและปรับปรุงระบบระบายน้ำจากถนนราชดำเนินนอกถึงสะพานข้ามคลองเปรมประชากร (สะพานศรีอยุธยา) ความยาวประมาณ ๓๗๐ เมตร
• ขยายสะพานข้ามคลองเปรมประชากร (สะพานศรีอยุธยา) ๑ แห่ง
• ปรับปรุงทางแยกบริเวณต่อเนื่อง
• ก่อสร้างถนนยกระดับเหนือคูน้ำ ฝั่งสนามม้า ขนาด ๓ ช่องจราจร จากถนนพระราม ๕ ถึงถนนสวรรคโลก ความยาวประมาณ ๙๐๐ เมตร
• ปรับปรุงถนนศรีอยุธยาเดิม จากถนนพราม ๙ ถึงถนนสวรรคโลก
• ปรับปรุงทางแยกและส่วนต่อเนื่อง
• ติดตั้งและปรับปรุงระบบไฟฟ้าและแสงสว่าง
โครงการจตุรทิศ ตะวันออก ช่วง ข.
• ก่อสร้างสะพานข้ามทางแยกจากถนนศรีอยุธยาข้ามถนนราชปรารภ ขนาด ๔ ช่องจราจร จนถึงบริเวณบึงมักกะสัน
• ก่อสร้างทางยกระดับเหนือบึงมักกะสันใต้ทางด่วนขั้นที่ ๒ ต่อจากสะพานข้ามทางแยกถึงบริเวณก่อนจะถึงถนนอโศก-ดินแดงขนาด ๖ ช่องจราจร ความยาวประมาณ ๑,๖๐๐ เมตร
• สร้างถนนเชื่อมต่อจากสะพานใต้ทางด่วนขั้นที่ ๒ ถึงแยกถนนประชาสงเคราะห์ ขนาด ๔ ช่องจราจร ความยาวประมาณ ๖๕๐ เมตร
• สร้างถนนเชื่อมยังถนนใกล้เคียง เช่น ถนนเชื่อมไปถนนใต้ทางด่วนขั้นที่ ๑ ถนนเชื่อมในอนาคตไปยังถนนนิคมมักกะสัน
• ก่อสร้างที่กลับรถ เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้สัญญาณไฟจราจรที่ทางแยก
โครงการจตุรทิศ ตะวันออก ช่วง ค.
• ก่อสร่างทางยกระดับเหนือบึงมักกะสัน ๓ ช่องจราจรต่อทิศทาง รวมเป็น ๖ ช่องจราจร และสะพานลอยรถยนต์ข้ามถนนอโศก-ดินแดง ๒ ช่องจราจรต่อทิศทาง รวมเป็น ๔ ช่องจราจรระยะทางประมาณ ๑,๕๗๐ เมตร
• ก่อสร้างทางเข้า-ออกถนนอโศก-ดินแดง
• ขยายถนนอโศก-ดินแดง จากถนนพระราม ๙ ถึงถนนเพชรบุรีตัดใหม่และปรับปรุงถนนและทางแยกที่เกี่ยวข้องจนถึงแยก อสมท. ระยะทางประมาณ ๘๐๐ เมตร
• ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างและระบบระบายน้ำตลอดจนส่วนประกอบอื่นๆ
โครงการจตุรทิศ ตะวันออก ช่วง ง.
• ก่อสร้างถนนใต้สะพาน Sector “D” เป็นถนน ๖ ช่องจราจร (๓ ช่องจราจรต่อทิศทาง) พร้อมสะพานข้ามคลองบางกะปิ คลองสามเสน และคลองยมราช
• สร้างสะพานลอยรถยนต์จากถนนใต้ทางด่วนข้ามถนนพระราม ๙ และลงที่ขนานถนนพระราม ๙ ฝั่งเหนือจำนวน ๒ ช่องจราจร ๑ ทิศทาง
• ขยายถนนพระราม ๙ อีก ๒ ช่องจราจร โดยก่อสร้างเป็นทางขนานจากกรมการผังเมืองถึงคลองยมราช
โครงการนี้จะสามารถรองรับปริมาณการจราจรฝั่งตะวันตกและตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ช่วยให้การเดินทางระหว่างสองฝั่งลื่นไหลและยังสนับสนุนให้โครงการจตุรทิศทั้งหมด ได้แก่ โครงการจตุรทิศ เหนือ-ใต้ และตะวันตก-ตะวันออก ซึ่งครอบคลุมเส้นทางสัญจร ๔ ทิศทางทั่วกรุงเทพมหานครเป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์ด้วย
จะเห็นได้ว่าโครงการจตุรทิศได้สะท้อนถึงพระปรีชาสามารถและสายพระเนตรอันยาวไกล ของพระบาทพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชที่ต้องการเห็นการแก้ไจปัญหาจราจรอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ซึ่งผลของโครงการดังกล่าวได้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของพสกนิกรโดยถ้วนหน้าอยู่ในขณะนี้
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านคมนาคม/สื่อสาร