โครงการ สาธิตการทำนาในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา
อำเภอ บางปลาม้า จังหวัด สุพรรณบุรี
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
นายบุญชาญ เตชัสอนันต์ ได้ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดิน จำนวน ๑ แปลง มีเนื้อที่ ๑๖ ไร่ ๑ งาน ๓๕ ตารางวา ตั้งอยู่ที่ตำบลสาลี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี โดยสำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาได้รับโอนที่ดินดังกล่าว เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๗
พระราชดำริ : สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราโชบายในการพัฒนาที่ดินโดยพิจารณาจากสภาพภูมิสังคม และการประกอบอาชีพของราษฎรเป็นสำคัญ สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา จึงสนองพระราโชบายโดยนำโครงการสาธิตการทำนาแบบชีววิธี มาทดลองใช้ในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนาที่มีเกษตรกรเช่าที่ดินทำนาอยู่
หน่วยงานรับผิดชอบ :
๑. สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา
๒.สำนักงานเกษตรจังหวัดสุพรรณบุรี
๓.สำนักพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร
๔.กรมส่งเสริมการเกษตร
๕.ศูนย์บริหารศัตรูพืชจังหวัดสุพรรณบุรี
การดำเนินงาน : ดำเนินโครงการส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้ในการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี สัปดาห์ละ ๑ วัน ติดต่อกัน ๑๖ ครั้ง ต่อ ๑ ฤดูปลูก ควบคู่กับการจัดทำแปลงเรียนรู้ จำนวน 2 แปลง ได้แก่ แปลงที่ใช้ระบบชีววิธี และแปลงที่ใช้สารเคมีในการควบคุมศัตรูพืช เพื่อให้เกษตรกรได้เปรียบเทียบผลผลิตข้าว และเข้าใจในหลักการการผลิตข้าวปลอดภัยต่อสารพิษ โดยใช้วิธีควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีเป็นหลัก
ผลการดำเนินงาน : สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินโครงการแปลงสาธิตการทำนาในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา ในพื้นที่ตำบลสามี อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นแปลงนาที่ให้ราษฎรเช่าทำนา โดยแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือแปลงสำหรับการสาธิต และแปลงของเกษตรกร
สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร ดำเนินงานโครงการสาธิตการทำนาแบบปลอดภัยจากสารพิษ ในที่ดินของมูลนิธิชัยพัฒนา ในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี มีราษฎรสนใจเข้าเป็นสมาชิก จำนวน ๑๙ ราย ดำเนินการปลูกข้าวพันธุ์ชัยนาท ๘๐ ในพื้นที่แปลงสาธิต จำนวน ๒๐.๒ ไร่ แบ่งเป็น แปลงของมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวน ๑๖ ไร่ และแปลงเรียนรู้ของเกษตรกร จำนวน ๔.๒ ไร่พบว่า เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการฯ ที่เข้ารับการฝึกอบรม มีความเข้าใจในเนื้อหาการอบรมเกี่ยวกับการทำเกษตรแบบปลอดสารพิษ และสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านพันธุ์ข้าว การขยายพันธุ์ข้าว รวมทั้งการลดการใช้สารเคมี เพื่อลดอันตรายต่อสุขภาพ และเพื่อลดต้นทุนในการผลิต พร้อมทั้งได้รับความรู้จากการอบรมที่มีประโยชน์ และสามารถนำมาใช้ในการทำงานได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีใหม่ เช่น การปลูกข้าวด้วยวิธีโยนกล้า เพื่อลดปัญหาวัชพืชข้าว
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านการเกษตร