๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

โครงการ พัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาฯ (ขยายผลทฤษฎีใหม่)

ตำบล เขาดินพัฒนา อำเภอ เฉลิมพระเกียรติ จังหวัด สระบุรี


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๓๒ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริเรื่องการพัฒนาแบบใหม่ โดยมีพระราชกระแส

 “ให้มูลนิธิชัยพัฒนาจัดซื้อที่ดินวัดมงคล (ชื่อเดิมขณะนั้น) ตำบลห้วยบง อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี จำนวน ๑๖-๒-๒๓ ตารางวา บริเวณริมถนนพหลโยธิน กม.๑๑๖-๑๑๗ เพื่อจัดตั้งศูนย์บริการพัฒนาตามแนวพระราชดำริเป็นต้นแบบ เพื่อสาธิตการพัฒนาด้านการเกษตรและเพื่อประสานความร่วมมือระหว่างราษฎรกับรัฐ เผยแพร่อาชีพและจริยธรรมแก่ประชาชน และหากประสบความสำเร็จ ก็จะใช้เป็นแนวทางในที่อื่นต่อไป”

วันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๓๖ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำรัสความตอนหนึ่งว่า

 “...บริเวณพื้นที่ใหม่นี้ ให้ปลูกข้าวเป็นหลัก ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผลแซมบ้าง เพื่อให้ชาวบ้านมีข้าวกินก่อนไม่ต้องซื้อ ประชาชนมีพื้นที่ประมาณ ๑๕ ไร่ ลองทำให้เหมือนของเขาพื้นที่แห้งแล้งขาดน้ำ แต่ละแปลงให้มีน้ำของเขา แล้วก็สูบน้ำมาใช้ พื้นที่ของชาวบ้าน ถ้าทำคล้ายๆ โครงการ เขาจะอยู่ได้ ไม่ต้องให้เป็นศูนย์ศึกษา อยากเป็นแปลงทดลองว่าจะทำอย่างนี้ ชาวบ้านทำได้ไหม ราชการจะช่วยอะไรบ้างเช่น ขุดสระให้ในพื้นที่ ๓,๐๐๐ ไร่ ทำได้ ๒๐๐ บ่อ แต่ต้องดูพื้นที่ที่เหมาะสมด้วย ตอนแรกปลูกก็ปลูกข้าวก่อน ทีหลังก็ปลูกไม้ผล ตกลงเราก็สนับสนุนได้..ตกลงเอาแปลงที่ ๓ เพื่อพิสูจน์ว่าราษฎรทำได้ไหมให้วัด โรงเรียน ราชการ และมูลนิธิร่วมกันโครงการฯนี้ เป็นโครงการที่สามารถผนึกกำลังต้องไม่ลงทุนมากนักทำเหมือนชาวบ้านทำยอมให้เสียไปบ้าง ถ้าลงทุนทำมากไปหลวงจะทำได้ แต่ชาวบ้านทำไม่ได้..”

ผลการดำเนินงาน : การดำเนินงานทฤษฎีใหม่ ประกอบด้วย ๒ ส่วน คือ 

๑)โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการโดยศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตลพบุรี กรมวิชาการเกษตร และมูลนิธิชัยพัฒนา ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของวัดมงคลชัยพัฒนาเนื้อที่ ๑๕.๕ ไร่ ซึ่งเป็นแปลงสาธิตการเกษตรแนวทฤษฎีใหม่เพื่อเป็นตัวอย่างในการดำเนินการเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ถือเป็นพื้นที่ต้นแบบทฤษฎีใหม่แห่งแรก

โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณวัดมงคลชัยพัฒนาฯ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.สระบุรี

๒)โครงการขยายผลทฤษฎีใหม่รอบวัดมงคลชัยพัฒนาตามแนวพระราชดำริ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี เริ่มดำเนินการปี พ.ศ.๒๕๔๐ โดยนำแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ มาขยายผลสู่ประชาชนบริเวณพื้นที่รอบวัดมงคลชัยพัฒนา คิดเป็นพื้นที่ประมาณ ๒,๕๐๐ ไร่ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ สามารถบริหารจัดการที่ดินและน้ำในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน ๑๐๒ ราย มีคณะอนุกรรมการขยายผลทฤษฎีใหม่วัดมงคลชัยพัฒนาตามแนวพระราชดำริจังหวัดสระบุรี ร่วมกันดำเนินโครงการในรูปแบบบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุผลประโยชน์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ และในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ

   

โดยเริ่มต้นดำเนินงานขยายผลสู่ประชาชนตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นต้นมามีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน ๑๐๒ ครัวเรือน โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานอนุกรรมการขยายผลทฤษฎีใหม่วัดมงคลชัยพัฒนาตามแนวพระราชดำริ มีส่วนราชการระดับจังหวัดที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะอนุกรรมการฯ และนายอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ มีการกำกับดูแลโดยผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมกันดำเนินงานตลอดจนติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องโดยกำหนดให้มีการประชุมเกษตรกรทุก ๓ นับตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๕๑ เป็นต้นมา  

โครงการขยายผลทฤษฎีใหม่รอบวัดมงคลชัยพัฒนา ได้ขยายผลเข้าสู่พื้นที่ของเกษตรกรบริเวณด้านท้ายอ่างเก็บน้ำห้วยหินขาว และมีเป้าหมายช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกโดยการขุดสระเก็บน้ำประจำไร่นา พร้อมทั้งวางระบบท่อส่งน้ำให้ในเขตตำบลเขาดินพัฒนา ตำบลผึ้งรวง และตำบลห้วยบงบางส่วน ซึ่งได้จัด เป็นแปลงกรรมสิทธิ์ จำนวน ๒๐๖ แปลง รวมพื้นที่ ๒,๕๐๐ ไร่ แบ่งเป็น

พื้นที่ฝั่งขวา ๑๔๕     แปลง จำนวน ๑,๘๕๐  ไร่

พื้นที่ฝั่งซ้าย ๖๑     แปลง จำนวน ๖๕๐  ไร่

โดยเกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการแบ่งออกเป็น 3 รุ่น จำนวนทั้งสิ้น ๑๐๔ ราย ซึ่งได้รับการสนับสนุนสระเก็บน้ำแล้ว ประกอบด้วย

เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการในรุ่นที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๔๐) จำนวน ๒๒ ราย ขุดสระเก็บน้ำจำนวน ๒๒ แห่ง พร้อมวางท่อส่งน้ำเข้าสระเก็บน้ำ พื้นที่เพาะปลูก ๒๓๖ ไร่

เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการในรุ่นที่ ๒ (พ.ศ.๒๕๔๒) จำนวน ๓๔ ราย ขุดสระเก็บน้ำจำนวน ๓๔ แห่ง พร้อมวางท่อส่งน้ำเข้าสระเก็บน้ำ พื้นที่เพาะปลูก ๕๔๕ ไร่

เกษตรกรผู้เข้าร่วมโครงการในรุ่นที่ ๓ (พ.ศ.๒๕๔๒) จำนวน ๔๘ ราย ขุดสระเก็บน้ำจำนวน ๔๘ แห่ง ยังไม่มีระบบท่อส่งน้ำ พื้นที่เพาะปลูก ๖๘๗ ไร่

งานขุดสระเก็บน้ำประไร่นาตามแนวทฤษฎีใหม่จำนวน ๒๐๖ แห่ง ขณะนี้ดำเนินการขุดสระเก็บน้ำเสร็จเรียบร้อยแล้ว จำนวน ๑๐๔ แห่ง (ฝั่งขวาจำนวน ๘๖ แห่ง และฝั่งซ้ายจำนวน ๑๘ แห่ง) ส่วนสระเก็บน้ำที่เหลืออีก ๑๐๒ แห่ง ตามจำนวนแปลงกรรมสิทธิ์ที่ดิน(ฝั่งขวา จำนวน ๕๙ แห่ง และฝั่งซ้าย จำนวน ๔๓ แห่ง ยังไม่ได้ทำการขุด)

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาแบบบูรณาการ และโครงการพัฒนาด้านอื่น ๆ