๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

โครงการ แก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (คลองสนามชัย - คลองมหาชัย)

ตำบล มหาชัย อำเภอ เมืองสมุทรสาคร จังหวัด สมุทรสาคร


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

ในปี พ.ศ.๒๕๓๘ ได้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในบริเวณพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาเป็นบริเวณกว้าง สร้างความเดือดร้อนกับประชาชน และเกิดผลเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีความห่วงใยชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนและได้ทรงติดตามสถานการณ์ พิจารณาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๘ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานพระราชดำริโครงการแก้มลิง ซึ่งเป็นโครงการระบายน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทพระบรมมหาราชวัง เนื่องจากในช่วงฤดูฝนน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณมาก ประกอบกับมีฝนตกในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลติดต่อกันหลายวัน พร้อมทั้งน้ำทะเลหนุนสูง จึงทำให้เกิด น้ำล้นตลิ่งไหลเข้าสู่พื้นที่ฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งโดยปกติแม่น้ำเจ้าพระยาสามารถรับน้ำได้ประมาณ ๓,๐๐๐ ลบ.ม./วินาที โดยไม่ล้นตลิ่ง แต่ในปี พ.ศ.๒๕๓๘ ช่วงฤดูน้ำหลากมีปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาถึง ๕,๕๐๐ ลบ.ม./วินาที น้ำจึงล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ ทั้งสองฝั่งแม่น้ำเป็นอาณาบริเวณกว้างขวาง ซึ่งต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๙ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานพระราชดำริให้พิจารณาโครงการแก้มลิงที่สมควรดำเนินการให้เหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ และพื้นที่ในเขตจังหวัดสมุทรสาครและกรุงเทพมหานคร

โดย “แก้มลิง” ทำหน้าที่รวบรวมน้ำ รับน้ำและดึงน้ำท่วมขังพื้นที่ทางตอนบนมาเก็บไว้ พร้อมกับระบายน้ำออกสู่อ่าวไทยตามจังหวะการขึ้น-ลงของระดับน้ำทะเล โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก และการสูบน้ำที่เหมาะสมสอดคล้องกับโครงการแก้มลิงตามแนวพระราชดำริที่พระราชทานไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๘ โดยอาศัยคลองสรรพสามิต คลองสหกรณ์ และ พื้นที่บริเวณใกล้คลองดังกล่าวนั้น จากการศึกษาข้อมูลพบว่าสภาพพื้นที่โดยทั่วไปไม่เอื้ออำนวยในการทำโครงการ อีกทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง จึงควรพิจารณาศึกษาโครงการแก้มลิง “คลองมหาชัย–คลองสนามชัย” และคลองต่างๆ ที่เชื่อมโยงแทน เนื่องจากคลองมหาชัย– คลองสนามชัย นี้ เป็นแหล่งรับน้ำใกล้บริเวณน้ำท่วมขังในเขตจังหวัดสมุทรสาคร นครปฐม และกรุงเทพฯ ที่ระบายน้ำ ลงมา ลักษณะโครงการที่สำคัญ ประกอบด้วย การก่อสร้างประตูระบายน้ำปิดกั้นคลองต่างๆ พร้อมด้วยสถานีสูบน้ำตามความจำเป็น ซึ่งคาดว่าจะเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนไม่มากนัก และจะได้ประโยชน์คุ้มค่า

การดำเนินงานโครงการแก้มลิง “คลองมหาชัย - คลองสนามชัย” : โครงการแก้มลิงคลองสนามชัย-คลองมหาชัยครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด ๗๖.๔๒ ตร.กม. ใช้คลองต่างๆ เป็นแก้มลิงในการกักเก็บน้ำมีความจุประมาณ ๖ ล้าน ลบ.ม. มีสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำ จำนวน ๒๕ แห่ง อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร จำนวน ๑๒ แห่ง กรมชลประทาน จำนวน ๑๐ แห่ง และกรมโยธาธิการและผังเมือง จำนวน ๓ แห่ง ทั้งนี้ โครงการแก้มลิงดังกล่าวมีคณะกรรมการ ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ และประชาชนในพื้นที่ เป็นกรรมการซึ่งเป็นการบริหารรูปแบบใหม่ ของสำนักการระบายน้ำ ที่ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนต่างๆ การประเมินสถานการณ์น้ำ ตลอดจนการแจ้งเตือนภัย ซึ่งประโยชน์ทั้งหมดจะเกิดแก่ประชาชนโดยรวม และสำนักการระบายน้ำจะขยายผลเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับโครงการต่างๆ ในอนาคต 

วัตถุประสงค์ของโครงการ : เพื่อลดภาระการระบายน้ำผ่านทางแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูน้ำหลากลงสู่ทะเลเนื่องจากปัญหาน้ำทะเลหนุนทำให้ปริมาณน้ำหลากไหลออกทะเลไม่ทันโดยส่วนหนึ่งให้ระบายน้ำผ่านไปทางพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างผ่านคลองต่างๆ ลงไปทางคลองมหาชัย–สนามชัย และแม่น้ำท่าจีนแล้วออกสู่ทะเลทางด้านจังหวัดสมุทรสาคร โดยการก่อสร้างประตูระบายน้ำ (ปตร.) ปิดกั้นคลองมหาชัย–คลองสนามชัย และคลองสายต่างๆพร้อมสถานีสูบน้ำตามความจำเป็น ซึ่งความจุของคลอง หนอง บึง ในพื้นที่จะทำหน้าที่เป็น “แก้มลิง” รวบรวมรับและดึงน้ำท่วมขังจากพื้นที่ตอนบนมาเก็บไว้ และระบายออกสู่ทะเลทางปากคลองมหาชัย คลองพระราม คลองขุนราชพินิจใจ และคลองสายต่างๆ โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก/สูบน้ำ ตามจังหวะการขึ้น–ลง ของน้ำทะเล 

เป้าหมายโครงการ : 

๑. เร่งระบายน้ำลงสู่พื้นที่แก้มลิงโดยเร็วที่สุด โดยแบ่งปริมาณน้ำให้ระบายไปตามคลองระบายน้ำ และ แหล่งเก็บ ชะลอน้ำตามประสิทธิภาพที่มีอยู่เดิม และสมดุลกับปริมาณน้ำหลาก

๒. ปรับปรุงคลองระบายน้ำ ให้สามารถระบายน้ำได้ตามที่ได้ศึกษากำหนดแนวทางไว้

๓. พิจารณาเพิ่มคลองระบายน้ำ เพื่อชักน้ำลงสู่แก้มลิงให้ได้เร็วและมากขึ้น

๔. ก่อสร้างอาคารบังคับน้ำต่างๆ ตามความจำเป็น

๕. ดำเนินการโครงการ โดยประสานงานกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสามารถดำเนินการก่อสร้างระบบระบายน้ำได้อย่างถูกต้อง และสอดคล้องไปในแนวทางเดียวกัน พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น น้ำท่วมและน้ำเสีย

องค์ประกอบของโครงการ :  โครงการแก้มลิงในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา (คลองมหาชัย-คลองสนามชัย) ทำหน้าที่รับน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านพื้นที่บางส่วนของจังหวัดกรุงเทพมหานคร และสมุทรสาครตอนบนไปลงคลองมหาชัย–สนามชัย และแม่น้ำท่าจีน เพื่อระบายออกสู่ทะเลด้านจังหวัดสมุทรสาคร เนื่องจากระบบการป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ยังไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะคันกั้นน้ำขนานกับชายทะเลและ คลองต่างๆ ที่มีทางน้ำไหลเชื่อมต่อกับชายทะเลก็ยังไม่มีระบบควบคุมเพียงพอ ดังนั้น เมื่อน้ำทะเลมีระดับสูงขึ้นจึงหนุนไม่ให้น้ำจืดไหลออกทะเล หรือไหลออกทะเลได้ช้ามากก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมรุนแรงและท่วมขังนานวัน 

องค์ประกอบโครงการแก้มลิง “คลองมหาชัย–คลองสนามชัย” ประกอบด้วย

คลองที่ใช้เป็นแก้มลิง อยู่บริเวณคลองมหาชัย

ประตูระบายน้ำ ปิดกั้น หัวคลอง–ท้ายคลอง ที่ใช้เป็นแก้มลิงและลำน้ำสาขา เพื่อป้องกันมิให้น้ำทะเลไหลเข้ามาในบริเวณแก้มลิง

สถานีสูบน้ำ เพื่อสูบน้ำออกจากแก้มลิงผ่านคลองระบายน้ำออกสู่ทะเล

คลองที่รับน้ำลงสู่แก้มลิง

คลองที่ระบายน้ำออกจากแก้มลิง เพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเลในช่วงเวลาที่น้ำทะเลลง

การบริหารจัดการ : โครงการชลประทานสมุทรสาคร ได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำโครงการแก้มลิงคลองมหาชัย-สนามชัย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับเกษตรกลุ่มผู้ใช้ใน ดังนี้ 

๑. ช่วงน้ำหลาก จะมีการปิดประตูระบายน้ำทั้ง ๑๐ แห่ง ในระบบแก้มลิงของกรมชลประทานในเขตจังหวัดสมุทรสาครทั้งหมด โดยมีการบริหารจัดการน้ำ ที่ประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองมหาชัยเป็นหลัก เมื่อระดับน้ำทะเลลดลง จะเปิดประตูระบายน้ำเพื่อระบายน้ำในคลองมหาชัยออกสู่ทะเล โดยระบบแรงโน้มถ่วงของโลก (Gravity Flow) ตามธรรมชาติ เมื่อระดับน้ำทะเล สูงกว่าระดับน้ำในลำคลองให้ทำการปิดประตูระบายน้ำ และใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าขนาดกำลังสูบเครื่องละ ๓ ลบ.ม./วินาที จำนวน ๑๒ เครื่อง รวมทั้งสิ้น ๓๖ ลบ.ม./วินาที สูบน้ำออกจากคลองมหาชัย เป็นการพร่องน้ำภายในระบบแก้มลิง เพื่อจะได้ทำให้น้ำตอนบนค่อยๆ ไหลมาเติมตลอดเวลา ส่งผลให้ปริมาณน้ำท่วมพื้นที่ลดน้อยลง

๒. ช่วงน้ำปกติ จะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ โดยการเปิดประตูระบายน้ำทั้ง ๑๐ แห่ง เพื่อรับน้ำคุณภาพดีจากทะเลเข้ามาหมุนเวียนในระบบแก้มลิง ส่วนประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองมหาชัย จะมีหน้าที่บริหารจัดการน้ำเป็นหลัก ส่วนใหญ่จะเปิดประตูระบายน้ำตลอด ยกเว้นกรณีเมื่อน้ำทะเลหนุนสูงจะทำการปิดประตูระบายน้ำลง เมื่อน้ำทะเลไหลลงจะเปิดประตูระบายน้ำ เพื่อระบายน้ำในคลองมหาชัยออกสู่ทะเล เป็นการหมุนเวียนน้ำ ให้มีคุณภาพดีขึ้น เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ให้สามารถประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน

ประโยชน์ที่ได้รับ :

๑. ลดปริมาณการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านกรุงเทพมหานครออกสู่ทะเล

๒. เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำบริเวณพื้นที่ฝั่งตะวันตกตอนล่างของแม่น้ำเจ้าพระยา

๓. ใช้เป็นแนวป้องกันน้ำทะเลหนุนเข้าพื้นที่ชั้นใน

๔. ช่วยลดระยะเวลาการเกิดน้ำท่วมขัง ลดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม

๕. การบริหารจัดการน้ำเข้า-ออกช่วยเพิ่มการหมุนเวียนน้ำในระบบคลองช่วงฤดูแล้ง

   

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านแหล่งน้ำ