โครงการ อัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์เทศบาลตำบลอัมพวา
ตำบล อัมพวา อำเภอ อัมพวา จังหวัด สมุทรสงคราม
ที่มาของการต่อยอดโครงการ :
นางสาว ประยงค์ นาคะวะรังค์ ข้าราชการบำนาญโรงพยาบาลทรวงอก กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน ๕ แปลง พื้นที่รวม ๒๑ ไร่ ๑๒ ตารางวา
ในตำบลอัมพวา อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยมูลนิธิชัยพัฒนาได้รับโอนเป็นกรรมสิทธ์ เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๕ จนกระทั่งวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๑ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดโครงการอัมพวาชัยพัฒนานุรักษ์ อย่างเป็นทางการและต่อมาในปี ๒๕๕๔ นางวณี ด้วงคุ้ม และนางประทิน ด้วงคุ้มได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินสวนผลไม้ให้กับมูลนิธิชัยพัฒนา เนื้อที ๒ ไร่ ๑ งาน ๕๒ ตารางวา และ ๒ ไร่ ๓ งาน ๗๒ ตารางวา ตามลำดับ
การใช้ประโยชน์พื้นที่โครงการ แบ่งการใช้ประโยชน์พื้นที่ และมีการจัดกิจกรรมเชื่อมโยงการใช้ประโยชน์พื้นที่ต่างๆ ภายในโครงการ และแหล่ง ท่องเที่ยวอื่นๆ ของอัมพวา เป็น ๓ ส่วน ประกอบด้วย
๑) พื้นที่สวนชัยพัฒนานุรักษ์
จัดพื้นที่สวนผลไม้ดั้งเดิม เป็นสวนเกษตรแบบผสมผสานไม่ใช้สารเคมี มีการปลูกพันธุ์พืชท้องถิ่น เช่น ลิ้นจี่พันธุ์ค่อม มะพร้าวพันธุ์ต่างๆ ผสมผสานกับพืชอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น กล้วย ตะไคร้ มะปราง ฯลฯ โดยให้เป็นแหล่งเรียนรู้ถึงภูมิปัญญาและวิถีชีวิตท้องถิ่นอัมพวาในด้านการเกษตร ส่งเสริมให้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเกษตรระหว่างเกษตรกรชาวสวน นักวิชาการ และผู้สนใจ
๒) ลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์ และลานสวนชัยพัฒนานุรักษ์
เป็นลานอเนกประสงค์สำหรับการจัดกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ชุมชน และคนในท้องถิ่นเช่าพื้นที่เพื่อจำหน่ายหรือจัดแสดงสินค้าที่เป็นของท้องถิ่น เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ และการมีส่วนร่วมของชุมชน
๓) ร้านค้าชุมชนของโครงการฯ
เป็นร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์ภัทรพัฒน์ของมูลนิธิชัยพัฒนา โดยมีวัตถุประสงค์เป็นแกนกลางในการส่งเสริมการตลาด และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เชื่อมโยงหน่วยงานองค์กรต่างๆ รวมถึงผู้บริโภคให้เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริม และพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างโอกาส และสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยมีเป้าหมายให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถต่อยอดพัฒนาสินค้า/ผลิตภัณฑ์ และพัฒนาธุรกิจของชุมชนด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืนในระยะต่อไป
๔) ร้านชานชาลา
เป็นร้านจำหน่ายเครื่องดื่ม และอาหารว่าง โดยร้านชานชาลาจะเป็นพื้นที่เปิดเชื่อมโยงกิจกรรมริมคลองอัมพวา ลานวัฒนธรรมนาคะวะรังค์ และพื้นที่สวน รวมทั้งจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของมูลนิธิชัยพัฒนา และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ร้านชานชาลามีบทบาทในการส่งเสริมกิจกรรมค้าขายริมคลองอัมพวา โดยเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวซื้ออาหารจากเรือ และพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามารับประทานในร้าน เป็นหน้าบ้านที่อบอุ่น
๕) ห้องนิทรรศการชัยพัฒนานุรักษ์
เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวทางวัฒนธรรมชุมชนต่างๆ หมุนเวียนให้สอดคล้องกับการจัดงานเทศกาล และกิจกรรมภายในพื้นที่โครงการฯ เปิดโอกาสให้ชุมชน และผู้สนใจเข้าร่วมจัดนิทรรศการ โดยให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ ความภาคภูมิใจแก่ชุมชน ส่งเสริม เผยแพร่และประชาสัมพันธ์ ความรู้ภูมิปัญญา ของชุมชน และท้องถิ่น
ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านการส่งเสริมอาชีพ