๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๗

โครงการ ศูนย์การเรียนรู้ตามรอยเท้าพ่อแห่งแผ่นดิน

ตำบล เหมืองใหม่ อำเภอ อัมพวา จังหวัด สมุทรสงคราม


ที่มาของการต่อยอดโครงการ :

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำริให้สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนา ดำเนินการรับโอนที่ดินซึ่งนางสาวจิราพร จาตุรัตน์ และนางสาวดวงพร ยังมีสุข เกษตรกรชุมชนตำบลเหมืองใหม่ ขอพระราชทานน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินเป็นสวนผลไม้จำนวน ๒ แปลง พื้นที่รวม ๔ ไร่ ๑ งาน ๑๗ ตารางวา ในตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ตามรอยพระราชดำริ โดยมูลนิธิชัยพัฒนาได้รับโอนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๘

พระราชดำริ

๑. พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ตามรอยพระราชดำริ ตามข้อเสนอของชุมชนเหมืองใหม่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและชุมชน

๒. ให้ความสำคัญกับแนวทางการพัฒนาด้านการเกษตรแบบพอเพียง โดยให้เกษตรกรได้เห็นประโยชน์ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำและที่ดินอย่างสูงสุด

๓. ขยายผลและเผยแพร่ผลสำเร็จไปสู่ประชาชนในบริเวณใกล้เคียง

การดำเนินงานตามพระราชดำริ

การดำเนินงาน : คณะกรรมการอำนวยการศูนย์เรียนรู้ตามรอยพระราชดำริ ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้ร่วมกับชุมชน หน่วยงาน และสถานศึกษาต่างๆ ดำเนินกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ฯ ด้านต่างๆ ได้แก่ การเตรียมความพร้อม และการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ด้านการพัฒนาภาคการเกษตร ด้านการพัฒนาพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ฯ เป็นต้น  

โดยในปี ๒๕๕๓ ชุมชนกลุ่มเกษตรกรได้ร่วมกันดูแล และพัฒนาด้านการเกษตรภายในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานราชการ ได้แก่ สถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสงคราม จัดกิจกรรมอบรม และให้ความรู้ด้านการพัฒนาการเกษตร โดยเฉพาะด้านการพัฒนาดิน การพัฒนาอาชีพนอกภาคการเกษตร การจัดสร้างโรงผลิตปุ๋ยชีวภาพ และการดำเนินกิจกรรมการสาธิตการผลิตปุ๋ยชีวภาพ เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับกลุ่มเกษตรกร และสร้างความร่วมมือในการพัฒนาด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ ศูนย์เรียนรู้ฯ ได้ดำเนินการจดจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน ชื่อ “วิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้ตามรอยพระราชดำริ (ศูนย์เรียนรู้ตามรอยเท้าพ่อแห่งแผ่นดิน) ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม” เพื่อบริหารจัดการ และดำเนินกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อให้เป็นการดำเนินงานของชุมชนอย่างแท้จริง

การดำเนินงานในระยะต่อไป : วิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้ฯ จะดำเนินการส่งเสริม และพัฒนาตามกรอบแผนงานการดำเนินการด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในปี ๒๕๕๔ มูลนิธิชัยพัฒนาจะได้ให้การสนับสนุนงบประมาณการดำเนินงาน ทั้งในส่วนของงบดำเนินการ และงบลงทุนในลักษณะเงินสนับสนุน และในระยะต่อไปวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้ฯ จะได้บริหารจัดการ และดำเนินงาน รวมทั้งมีรายได้ เพื่อใช้ในการดำเนินกิจกรรมของวิสาหกิจชุมชนศูนย์เรียนรู้ฯ ต่อไป โดยมูลนิธิชัยพัฒนาจะมีบทบาทให้การสนับสนุนด้านวิชาการ การตลาด หรือการดำเนินงานด้านอื่นๆ รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด ต่อไป  

ทั้งนี้ ในปี ๒๕๕๔ มีการดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ฯ ได้แก่ กิจกรรมพืชไร่ เช่น การปลูกมะละกอ ข้าวโพดหวาน และกล้วยหอม กิจกรรมไม้ผลและพืชผัก การเลี้ยงปลากินพืชในร่องน้ำ กิจกรรมไม้ดอกไม้ประดับ โรงเรือนเพาะเห็ด และการจัดกิจกรรมอบรมด้านการเกษตรต่างๆ รวมทั้งการจัดสร้างอาคารสำนักงาน ห้องเก็บอุปกรณ์การเกษตร ห้องน้ำ และทางเดินเท้าคอนกรีต

ความก้าวหน้า : คณะกรรมการอำนวยการศูนย์เรียนรู้ตามรอยพระราชดำริ ตำบลเหมืองใหม่ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ได้ร่วมกับชุมชน หน่วยงาน และสถานศึกษาต่างๆ ดำเนินกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้ฯ ด้านต่างๆ สรุปผลการดำเนินงาน ดังนี้  

๑. ด้านการเตรียมความพร้อม และการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน มีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่

การพัฒนาสร้างความรู้ผู้นำชุมชน และการพัฒนาผู้นำชุมชนในการจัดทำแผนแม่บทชุมชน ฝึกอบรมผู้นำท้องถิ่น ประชาชนในท้องถิ่นให้รู้จักการรวมกลุ่ม การพึ่งพาตนเอง และการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน และเป็นหลักในการดำรงชีพ โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และคลังสมอง วปอ. เป็นต้น

ร่วมกับโรงเรียนอัมพวัน และกระทรวงศึกษาธิการจัดอบรมการเสริมสร้างความรู้ เผยแพร่ และปฏิบัติหนุนเสริมความรู้ในชุมชนครู และนักเรียน

โครงการเด็กไทยอาสาช่วยเหลือสังคม ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ทำกิจกรรมในพื้นที่ ๓ ครั้ง โดยให้เด็กเข้าร่วมกิจกรรมที่ส่งเสริมให้รู้จักคิด รู้จักทำ แก้ปัญหา และประเมินผล เพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กและเยาวชน เป็นพลังในการพัฒนาท้องถิ่น

จัดตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์วันละบาท เพื่อเป็นสวัสดิการของประชาชนในท้องถิ่น และสร้างจิตสำนึกในการดำรงชีพแบบพอเพียง มีสมาชิก ณ เดือนตุลาคม ๒๕๕๑ จำนวน ๕๘๙ ราย

๒. ด้านการพัฒนาภาคการเกษตร

จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ และฝึกอบรมการปฏิบัติวิชาการเกษตรด้านการดูแลความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ การกำจัดศัตรูพืช การดูแลพืชผล และการรวบรวมพันธ์พืช โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรจาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ และการปฏิบัติ เรื่องสมุนไพร และการเพิ่มมูลค่าจากพืชเกษตรเป็นอาหารและยา โดยผู้แทนจากการแพทย์แผนไทย

๓. ด้านการพัฒนาพื้นที่

ได้ร่วมกับผู้นำชุมชน ประชาชนในพื้นที่ หน่วยงาน และภาคเอกชน ในการพัฒนาพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ โดยการตัดหญ้า และร่วมกันปลูกต้นไม้ที่อยู่ในแผนการปลูกของศูนย์ฯ และไม้ร่มเงาปกคลุมหญ้าที่สามารถถอนออกได้เมื่อหมดความจำเป็น โดยทำการพัฒนาประมาณ ๒-๓ เดือนต่อครั้ง โดยพันธุ์ไม้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในพื้นที่ กรมวิชาการเกษตร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น จัดสร้างอาคาร และห้องน้ำชั่วคราวในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อประโยชน์ในการทำกิจกรรมของเด็กและเยาวชน รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ของศูนย์เรียนรู้ฯ ในระยะต่อไป 

ประเภทโครงการ : โครงการพัฒนาด้านการเกษตร